ซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอาการที่สามารถพบได้ในผู้หญิงหลายคน จากรายงานของสูตินรีแพทยสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Congress of Obstetricians and Gynecologists หรือ ACOG) เปิดเผยว่าผู้หญิงร้อยละ 14 ถึง 23 มีอาการซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ เซื่องซึม นอนน้อยหรือนอนมาก มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตสัญญาณและอาการของซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ และเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาในทันที
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอย่างไร
อาการซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นในผู้หญิง 1 ใน 4 ในบางช่วงเวลาของชีวิต ดังนั้น หากเกิดอาการ ซึมเศร้าตอนท้อง จึงถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ หลายคนเข้าใจผิดว่า อาการที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เป็นเพียงความไม่สมดุลของฮอร์โมน จึงไม่มีการตรวจวินิจฉัยอาการซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์
ศัพท์ทางการแพทย์ของอาการนี้ คือ ภาวะซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ (Antepartum Depression) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์
สัญญาณและอาการของภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
หากคุณแม่มีอาการต่อไปนี้นานกว่า 2 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณว่ามีภาวะซึมเศร้าก่อนการคลอด
- การยึดติดกับความทุกข์
- สมาธิลดลง
- ปัญหาการนอน อาจมากหรือน้อยเกินไป
- ความสนใจในกิจกรรมที่ชอบน้อยลง
- มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือสิ้นหวัง
- วิตกกังวล
- รู้สึกผิดหรือไร้ค่า
- พฤติกรรมการรับประทานเปลี่ยนไป
สาเหตุของอาการ ซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าระว่างการตั้งครรภ์ มีดังนี้
- ประวัติการเป็นโรคซึมเศร้าของคนในครอบครัว
- ประวัติการแท้ง
- ประวัติการใช้ความรุนแรง
- ปัญหาด้านความสัมพันธ์
- การรักษาภาวะมีบุตรยาก
- ความเครียดในชีวิต
- ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้น
การรักษาภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
วิธีการรักษาอาการซึมเศร้าของคุณแม่ตั้งครรภ์มีหลายวิธี เช่น
- การเข้าสังคมเพื่อรับการสนับสนุนด้านจิตใจ
- การบำบัดทางจิตส่วนตัว
- การใช้ยา
- การบำบัดด้วยแสง
หลายคนอาจรู้สึกกังวลกับการรักษาโดยการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ แต่คุณหมอจะเป็นผู้รับผิดชอบผลที่เกิดจากการใช้ยารวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและให้คำแนะนำที่ดีที่สุด
หากอยู่ในระหว่างการใช้ยาสำหรับอาการทางจิตอื่น ๆ ก่อนการตั้งครรภ์ ควรใช้อย่างต่อเนื่องหากคุณหมอไม่ได้สั่งให้หยุดยา การหยุดใช้ยาเองโดยทันที อาจมีความเสี่ยงทั้งต่อคุณแม่และทารก ปัญหาหลักคือ อาการจะแย่ลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่มากขึ้นสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น น้ำหนักเพิ่มน้อย ความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นแฟ้นกับทารกในครรภ์
ผลข้างเคียงของการใช้ยาต้านซึมเศร้า
การใช้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อรักษาอาการอาจมีผลข้างเคียง ดังนี้
- คลอดก่อนกำหนด
- ภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูงในทารก (Pulmonary hypertension)
ข้อควรระวัง คือ การรับประทานยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจทำให้เกิดปัญหาการคลอดได้ ปัญหานี้ประกอบด้วย การหายใจถี่สั้น ปัญหาการให้นม อาการผวาสั่นกระตุกและหงุดหงิด หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ