backup og meta

น้ำหนักทารกในครรภ์ พัฒนาการ และการดูแลอย่างถูกวิธี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

    น้ำหนักทารกในครรภ์ พัฒนาการ และการดูแลอย่างถูกวิธี

    น้ำหนักทารกในครรภ์ มักเปลี่ยนไปตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในแต่ละช่วง น้ำหนักของทารกสามารถบ่งบอกสุขภาพของทารกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือไม่ หากทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพหลังคลอด เช่น ระบบการหายใจผิดปกติ ระดับออกซิเจนต่ำ คุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับน้ำหนักทารกในครรภ์ เพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย

    น้ำหนักทารกในครรภ์ แต่ละไตรมาส

    น้ำหนักทารกในครรภ์ แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้

    ทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 1 

    ช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเป็นการตั้งครรภ์ช่วง 1-3 เดือน (1-12 สัปดาห์) อาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัด แต่ภายในครรภ์ของคุณแม่นั้นตัวอ่อนอาจมีกำลังเข้าสู่กระบวนการฝังตัวและพัฒนาเป็นทารก ตามแต่ละช่วงสัปดาห์ ดังนี้

    • ช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1-10 สัปดาห์ เป็นกระบวนการปฏิสนธิและเริ่มสร้างตัวอ่อนรวมถึงระบบการทำงานของทารก เช่น ลำตัว คอ ศีรษะ ดวงตา จมูก ปาก มือ แขน ขา กระดูกสันหลัง ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ
    • ทารกสัปดาห์ที่ 11 ทารกอาจมีความยาวลำตัวประมาณ 2 นิ้ว (50 มิลลิเมตร) และหนักประมาณ 8 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 12 ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการมากขึ้น โดยอาจเริ่มมีการสร้างลำไส้ ความยาวลำตัวของทารกอาจจะยาวถึง 2.4 นิ้ว (61 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนัก 14 กรัม เริ่มมีการสร้างมวลกระดูก นิ้วมือ นิ้วเท้า รวมถึงเล็บและผิวหนัง ในช่วงสัปดาห์นี้ทารกเริ่มเคลื่อนไหว และสามารถแยกเพศชายหญิงได้

    ทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2

    การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 อยู่ในช่วง 4-6 เดือน (13-27 สัปดาห์) คุณหมออาจเช็กสุขภาพของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างละเอียด เนื่องจากทารกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น การสร้างอวัยวะ เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ซึ่งคุณหมออาจเช็กจากน้ำหนักทารกในครรภ์เป็นเกณฑ์การตรวจร่วมด้วย

    • ทารกสัปดาห์ที่ 13 : ทารกอาจมีโครงกระดูกแข็งตัวขึ้น แต่น้ำหนักยังอาจคงที่หรือไม่ต่างจากช่วงสัปดาห์ที่ 12
    • ทารกสัปดาห์ที่ 14 : เพศของทารกอาจปรากฏขึ้น อีกทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายของทารกอาจมีการก่อตัวในม้าม สัปดาห์นี้ลำตัวของทารกอาจยาวถึง 3.4 นิ้ว (87 มิลลิเมตร) และหนักประมาณ 45 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 13 : ทารกอาจมีโครงกระดูกแข็งตัวขึ้น แต่น้ำหนักยังอาจคงที่หรือไม่ต่างจากช่วงสัปดาห์ที่ 12
    • ทารกสัปดาห์ที่ 14 : เพศของทารกอาจปรากฏขึ้น อีกทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายของทารกอาจมีการก่อตัวในม้าม สัปดาห์นี้ลำตัวของทารกอาจยาวถึง 3.4 นิ้ว (87 มิลลิเมตร) และหนักประมาณ 45 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 15 : ทารกอาจมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และพัฒนากระดูกในร่างกายให้แข็งแรงต่อไป ทารกในสัปดาห์นี้น้ำหนักอาจไม่ต่างจากช่วงสัปดาห์ที่ 14
    • ทารกสัปดาห์ที่ 16 : ศีรษะทารกอาจตั้งตรงได้ และมีผิวหนังที่หนาขึ้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวของแขนขา โดยลำตัวของทารกอาจยาว 4 นิ้วครึ่ง (120 มิลลิเมตร) และน้ำหนักเกือบ 150 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 17 : น้ำหนักทารกอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ทารกอาจเริ่มเคลื่อนไหว พลิกตัวมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รับรู้ถึงการดิ้นของลูก
    • ทารกสัปดาห์ที่ 18 : ทารกอาจเริ่มได้ยินเสียง ระบบย่อยอาหารของทารกก็อาจเริ่มทำงาน ความยาวของลำตัวทารกอาจยาว 5 นิ้วครึ่ง (140 มิลลิเมตร) และอาจหนักถึง 200 กรัม ถ้าทารกเป็นเพศหญิงจะเริ่มมีการสร้างมดลูกและช่องคลอดในช่วงเวลานี้
    • ทารกสัปดาห์ที่ 19 : ไขหุ้มทารกอาจเริ่มปกคลุมทารกทั่วทั้งร่างกาย เพื่อช่วยปกป้องผิวที่บอบบาง ส่วนน้ำหนักตัวทารกยังอาจยังคงที่หรือไม่ต่างจากช่วง 18 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการดูแลทารกในครรภ์
    • ทารกสัปดาห์ที่ 20 : ทารกในสัปดาห์อาจมีน้ำหนักประมาณ 320 กรัม และมีลำตัวยาว 6 นิ้ว (160 มิลลิเมตร) อีกทั้งยังอาจเคลื่อนไหวเร็วหรือแรงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นประจำ ถ้าทารกเป็นเพศชาย ลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนจากช่องท้องลงไปที่ถุงอัณฑะ
    • ทารกสัปดาห์ที่ 21 : ทารกอาจมีการสร้างขนอ่อนที่ยึดกับไขหุ้มทารกไว้บนผิวหนัง และยังอาจสามารถดูดนิ้วโป้งมือตัวเองได้ ส่วนน้ำหนักตัวอาจใกล้เคียงกับช่วงสัปดาห์ที่ 20
    • ทารกสัปดาห์ที่ 22 : ทารกอาจเริ่มมีพัฒนาการด้านการมองเห็น และมีไขมันสีน้ำตาลก่อตัวเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายทารก ทารกสัปดาห์ที่ 22 มีลำตัวยาว 7.4 นิ้ว (190 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักถึง 460 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 23 : ทารกสัปดาห์ที่ 23 อาจมีน้ำหนักเทียบเท่ากับช่วงสัปดาห์ที่ 22 แต่มีการเคลื่อนไหวของดวงตาไปมาขณะที่ดวงตายังไม่เปิด และอาจเริ่มสะอึกได้ ทำให้เกิดอาการกระตุกที่คุณแม่สามารถสัมผัสได้
    • ทารกสัปดาห์ที่ 24 : ผิวของทารกอาจมีลักษณะย่น โปร่งแสง ทำให้มองเห็นเส้นเลือด และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 630 กรัม และลำตัวยาวกว่า 8 นิ้ว (210 มิลลิเมตร) เริ่มมีการสร้างสารลดแรงตึงผิวภายในถุงลมปอด
    • ทารกสัปดาห์ที่ 25 : ช่วงสัปดาห์นี้ทารกอาจสามารถตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคยด้วยการเคลื่อนไหว เช่น เสียงของคุณแม่คุณพ่อ
    • ทารกสัปดาห์ที่ 26 : ปอดของทารกเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิว ที่เป็นสารช่วยให้ควบคุมถุงลมในปอดให้พองตัวและไม่ให้ถุงลมยุบติดกัน ทารกสัปดาห์นี้อาจมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นโดยลำตัวจะยาวถึง 9 นิ้ว (230 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักเกือบ 820 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 27 : สัปดาห์ที่ 27 เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ก่อนเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ระบบประสาทของทารกจะพัฒนาตามลำดับขั้นอย่างเต็มที่ และอาจมีผิวหนังที่เรียบเนียนขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ 24 จากไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้น

    ทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3

    เป็นการตั้งครรภ์ช่วงสุดท้ายในเดือนที่ 7-9 (28-40 สัปดาห์) ก่อนถึงวันกำหนดคลอด ซึ่งจะเห็นถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกอย่างชัดเจน ดังนี้

    • ทารกสัปดาห์ที่ 28 : ทารกจะมีเริ่มมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นและรับรสได้ ตามมาด้วยพัฒนาการของการมองเห็น เปลือกตาทารกอาจเปิดได้บางส่วน มีขนตา พร้อมระบบประสาทที่คอยช่วยควบคุมการหายใจเป็นจังหวะและควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ อีกทั้งทารกในครรภ์อาจเจริญเติบโตขยายใหญ่ขึ้นโดยมีลำตัวประมาณ 10 นิ้ว (250 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักเกือบ 1,000 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 29 : ทารกในครรภ์อาจเริ่มเตะท้องคุณแม่ เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ทารกช่วงสัปดาห์นี้อาจมีน้ำหนักไม่ต่างจากสัปดาห์ที่ 28
    • ทารกสัปดาห์ที่ 30 : ทารกสัปดาห์นี้อาจมีลำตัวยาว 10.6 นิ้ว (270 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักเกือบ 1,300 กรัม อีกทั้งดวงตาของทารกอาจเปิดกว้างขึ้น และมีการสร้างเส้นผมบนหนังศีรษะ
    • ทารกสัปดาห์ที่ 31 : ทารกในช่วงสัปดาห์นี้อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพัฒนาการที่สำคัญของทารกในครรภ์ส่วนใหญ่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ช่วงสัปดาห์นี้จึงเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่กระบวนการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ตัวเอง
    • ทารกสัปดาห์ที่ 32 : เส้นผมของทารกที่ขึ้นเต็มรวมถึงขนอ่อนที่ปกคลุมผิวอาจเริ่มหลุดร่วงในช่วงสัปดาห์นี้ แต่ทารกยังคงเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยทารกอาจมีลำตัวยาวถึง 11 นิ้ว (280 มิลลิเมตร) และหนักกว่า 1,700 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 33 : ม่านตาของทารกอาจสามารถเปลี่ยนขนาดเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น แสง กระดูกจะแข็งแรงขึ้น แต่กระโหลกศีรษะยังคงนิ่มและเปราะบางอยู่
    • ทารกสัปดาห์ที่ 34 : ทารกอาจมีลำตัวยาวอย่างรวดเร็วเร็วประมาณ 11 นิ้ว (300 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักมากกว่า 2,100 กรัม อีกทั้งเล็บของทารกพัฒนาถึงปลายนิ้วอย่างสมบูรณ์
    • ทารกสัปดาห์ที่ 35 : แขนขาของทารกอ้วนและแน่นขึ้น พร้อมมีผิวที่เรียบเนียน
    • ทารกสัปดาห์ที่ 36 : ทารกอาจรู้สึกอึดอัดจนเกิดการดิ้นหรือเตะท้องของคุณแม่อย่างรุนแรง
    • ทารกสัปดาห์ที่ 37 : ทารกอาจเริ่มกลับศีรษะลงไปยังกระดูกเชิงกราน เพื่อเตรียมตัวออกจากท้องของคุณแม่
    • ทารกสัปดาห์ที่ 38 : ทารกอาจมีการเจริญเติบโตมากกว่าเดิมได้ถึงแม้ใกล้คลอด ซึ่งช่วงสัปดาห์นี้ทารกอาจมีน้ำหนักตัวถึง 2,900 กรัม
    • ทารกสัปดาห์ที่ 39 : ก่อนสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดร่างกายคุณแม่จะเติมไขมันทั่วทั้งร่างกายของทารก เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ทารกหลังจากออกมาจากท้อง
    • ทารกสัปดาห์ที่ 40 : สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ทารกอาจมีการเจริญเติบโตโดยมีน้ำหนัก ถึง 3,400 กรัม และมีลำตัวยาว 14 นิ้ว (360 มิลลิเมตร) น้ำหนักของทารกอาจแตกต่างกันไปตามการดูแล รวมถึงพันธุกรรม

    ทารกในครรภ์น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อันตรายไหม

    ขึ้นอยู่กับว่าน้ำหนักของทารกเทียบกับอายุครรภ์แล้วอยู่ในเกณฑ์อันตรายหรือไม่ การที่ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สามารถเกิดจากได้หลายสาเหตุ ได้แก่

    1. ทารกขนาดเล็กตามธรรมชาติ (constitutionally small) เนื่องจากคุณแม่ตัวเล็ก หรือปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ไม่ได้มีปัญหาเนื่องจากการเติบโตผิดปกติ ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของทารก
    2. ทารกเป็นโรค เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด (Trisomy 18) การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (CMV) 
    3. ทารกขาดอาหาร หรือเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (fetal growth restriction; FGR) เน้นถึงภาวะทุพโภชนาการเป็นหลัก ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของรกไม่ดี (placental insufficiency) โดยมิได้คำนึงถึงเพียงขนาดของทารกเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากโรคทางหลอดเลือดในมารดา เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ความดันสูงจากการตั้งครรภ์ โรคทางคอลลาเจน โรคหลอดเลือดจากเบาหวาน ภาวะโลหิตจางรุนแรง โรคไตบางชนิด หรือแม้กระทั่งการใช้ยาและสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์

    สาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตกับทารกในครรภ์ และอาจทำให้ทารกมีสุขภาพไม่แข็งแรงหลังคลอด เช่น ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำกว่าปกติ ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ดังนั้น คุณแม่จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ตามวันที่คุณหมอกำหนดสม่ำเสมอ

    การดูแลทารกในครรภ์

    การดูแลทารกในครรภ์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต และพัฒนาการให้แก่ทารก มีดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักใบเขียว ผลไม้ ขนมปังธัญพืช นมไขมันต่ำ ควรรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันโอเมก้า 6 เช่น เนื้อปลา อะโวคาโด น้ำมันรำข้าว ให้มากขึ้น เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้จะช่วยบำรุงสมองและประสาทของตาของทารก ทั้งยังมีสาร DHA และ ARA ที่ช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการเรียนรู้
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอในระดับปานกลาง เช่น แอโรบิก โยคะ เพื่อป้องกันน้ำหนักส่วนเกิน ลดปัญหาอาการปวดหลัง และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก และมีการกระแทกเยอะ
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรเลือกท่านอนตะแคงและงอเข่า เพราะเป็นการป้องกันเส้นเลือดขอด อาการบวมที่ขาจากน้ำหนักของทารกที่กดทับหลอดเลือด
    • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และสูบบุหรี่
    • เข้าพบคุณหมอทุกครั้งตามกำหนด เพื่อเช็กสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา