backup og meta

อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร และวิธีบรรเทาอาการที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/07/2022

    อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร และวิธีบรรเทาอาการที่ควรรู้

    อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสใดของการตั้งครรภ์ อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย อาการนี้อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพ การเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่วนใหญ่อาการคัดเต้านมอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ แล้วหายไปเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 3 จากนั้นอาจจะมีอาการคัดเต้าอีกครั้งในช่วงหลังคลอดบุตร

    คนท้องเริ่มคัดเต้าเมื่อไหร่

    อาการคัดเต้านมเป็นสัญญาณเตือนแรกที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ มักเห็นการเปลี่ยนแปลงของเต้านมได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4-6 ของไตรมาสแรก โดยที่อาการคัดเต้านี้จะหายไปหลังตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน และอาจคัดเต้าอีกครั้งช่วงหลังคลอด 2-5 วัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) โปรแลคติน (Prolactin) ในร่างกายเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่เต้านม ทำให้สามารถผลิตน้ำนมได้ จนเต้านมขยายใหญ่ ซึ่งภายในเต้านมจะเก็บน้ำนมไว้ปริมาณมากเพื่อเตรียมให้ทารกหลังคลอดได้กินอย่างเพียงพอ

    อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร

    อาการคัดเต้าคนท้อง ที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

    • เต้านมขยายและคัดตึง ช่วงสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ หน้าอกจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนตลอดช่วงการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งท้องแรก และเนื่องจากฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเต้านมขยายใหญ่ขึ้นจึงมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น ทำให้เต้านมอาจมีอาการบวมและไวต่อสัมผัสจึงรู้สึกคัดตึงได้ หรืออาจจะมีอาการคันบริเวณเต้านมจากการที่เนื้อเต้านมขยายทำให้ผิวหนังยืดออกอย่างรวดเร็ว
    • มีก้อนในหน้าอก คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีก้อนเนื้อในเต้านม ซึ่งเป็นถุงน้ำนมที่เต็มไปด้วยน้ำนม แต่บางคนมีลักษณะเป็นก้อนแข็งซึ่งอาจเสี่ยงเป็นเนื้องอกที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมได้ในระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีความกังวลอาจเข้ารับคำปรึกษาหรือตรวจอย่างละเอียดจากคุณหมอได้
    • หัวนมเปลี่ยนสี หลังจากช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ รลานหัวนมและหัวนมของคุณแม่อาจมีสีที่คล้ำขึ้น ขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง
    • ตุ่มมอนต์โกเมอรี (Montgomery gland) เป็นต่อมไขมันที่อาจขึ้นบริเวณลานหัวนม ซึ่งเป็นต่อมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่จะถูกกระตุ้นให้เห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ ทำหน้าที่หลั่งน้ำมันออกมาเพื่อช่วยเคลือบชั้นผิวหนังและลดการเสียดสีบริเวณหัวนมและลานนม ป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรค
    • น้ำนมไหล ปกติแล้วเต้านมคุณแม่ตั้งครรภ์จะเต็มไปด้วยน้ำนมเหลือง (Colostrum) และน้ำนมอาจไหลออกจากเต้าในช่วง 2-3 เดือนของการตั้งครรภ์หรือก่อนถึงกำหนดคลอด อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจไม่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น

    วิธีบรรเทาอาการคัดเต้า เจ็บหน้าอกในคนท้อง

    วิธีบรรเทาอาการคัดเต้า เจ็บหน้าอก สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่

    • สวมใส่เสื้อชั้นในที่สบาย ไม่กดทับหน้าอก หรือสปอร์ตบราแบบไร้โครงเสริม เนื่องจากขนาดหน้าอกที่บวมขึ้นทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ ควรเลือกสวมเสื้อชั้นในให้เหมาะสม โดยการเลือกเสื้อชั้นในที่โอบอุ้มเต้านมและความกระชับ ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป
    • ประคบเย็นบริเวณเต้านมครั้งละ 15 นาที ทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อบรรเทาอาการอักเสบคัดตึง เพราะจะช่วยให้หลอดเลือดนั้นหดตัวลงและชะลอการไหลเวียนของเลือดที่มากเกินไปที่ทำให้รู้สึกปวด อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด หรือเจลเก็บความเย็นมาประคบบริเวณหน้าอกไว้จนอาการดีขึ้น
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นควรไปปรึกษาคุณหมอ

    สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่มีอาการคัดเต้านม อาจบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกด้วยการให้ทารกกินนมจากเต้า เพราะปกติแล้วทารกแรกเกิดมักจะกินนมแม่ 8-12 ครั้งต่อวัน ใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งก่อนให้นมควรนวดนม หรือใช้น้ำอุ่นประคบนมจะช่วยให้น้ำนมจะไหลได้ดีขึ้น โดยใช้เวลาในการประคบประมาณ 5 -10 นาที เพื่อให้น้ำนมออกจากเต้าสะดวกโดยไม่ต้องเค้น หรือปั๊มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เก็บเอาไว้เพื่อไม่ให้เต้านมมีน้ำนมมากเกินไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา