backup og meta

แพ้ท้องหนักมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีรักษาอาการแพ้ท้อง

แพ้ท้องหนักมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีรักษาอาการแพ้ท้อง

แพ้ท้องหนักมาก เป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวันติดต่อกัน ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเสียสมดุลแร่ธาตุ จนอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงง อ่อนล้า หรือหมดสติ ดังนั้น หากมีอาการแพ้ท้องหนักมากจึงควรเข้าพบคุณหมอและรับการรักษา เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในท้อง

[embed-health-tool-due-date]

แพ้ท้องหนักมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่เกิดขึ้นในคนท้อง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรกของการตั้งท้อง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้า และอ่อนเพลีย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 หรือประมาณช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งท้อง แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดการตั้งท้องได้

โดยปกติอาการแพ้ท้องมักจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน และอาจมีอาการอาเจียนเกิดขึ้น 1-2 ครั้ง/วัน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้องหนักมาก อาการคลื่นไส้อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงใน 1 วัน และอาจอาเจียนบ่อยกว่าปกติ จนส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย

อาการแพ้ท้องหนักมาก

การแพ้ท้องหนักมากอาจทำให้คนท้องมีอาการ ดังนี้

  • อาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง/วัน
  • ร่างกายขาดน้ำและเสียสมดุลเกลือแร่อย่างรุนแรง ซึ่งอาจสังเกตได้จากปริมาณปัสสาวะที่น้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้ม ผิวแห้ง ปากแห้ง
  • น้ำหนักลดลง
  • อ่อนเพลีย หน้ามืดเวียนหัว มึนงง หรือหมดสติ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับของเหลวทางหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและรับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ รวมทั้งแก้ไขภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำที่มักจะพบร่วมกัน

  • อาการคลื่นไส้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • อาเจียนเป็นสีน้ำตาลหรือมีเลือดปน
  • รู้สึกเหนื่อย มึนงง สับสน หรือวิงเวียนศีรษะมาก
  • เป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ปัสสาวะน้อยมากหรือไม่มีเลย

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ท้องหนักมาก

ผู้ที่มีปัจจัยต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงในเกิดอาการแพ้ท้องหนักมาก

  • เคยมีประวัติแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือคนในครอบครัวมีประวัติแพ้ท้องอย่างรุนแรง
  • มีประวัติสุขภาพบางประการ เช่น เมารถ ไมเกรน น้ำหนักเกิน โรคของเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease หรือ GTD) ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในมดลูก
  • กำลังตั้งท้องลูกแฝด

วิธีรักษาอาการ แพ้ท้องหนักมาก

การรักษาอาการแพ้ท้องหนักมากอาจขึ้นอยู่ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

  • การรักษาด้วยยาช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้ ตั้งแต่ยาในรูปแบบรับประทาน เช่น พราซิล (Plasil) ดอมเพอริโดน (Domperidone) ดอกซีลามีน (Doxylamine) หรือหากไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถรับประทานยาได้ก็มีการปรับเป็นยาในรูปแบบการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำได้
  • วิตามินเสริมบางชนิด ช่วยลดอาการคลื่นไส้จากการตั้งครรภ์ได้ เช่น ไพริดอกซีน (Pyridoxine) หรือวิตามินบี 6 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยรับประมาณครั้งละ 10-25 มิลลิกรัม อย่างน้อย 3 ครั้ง/วัน หากใช้เกินกว่านี้อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายชั่วคราวได้
  • การให้ของเหลวเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อช่วยรักษาปริมาณของเหลวในร่างกาย ใช้สำหรับคนท้องที่มีอาการแพ้ท้องหนักมากจนไม่สามารถดื่มของเหลวทางปากได้
  • การให้อาหารทางสายยาง ใช้รักษาผู้ที่มีอาการอาเจียนรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้

การป้องกันอาการแพ้ท้องหนักมาก

อาจไม่มีวิธีป้องกันอาการแพ้ท้องหนักมากได้อย่างสมบูรณ์ แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องหนักมากได้

  • การรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อยครั้งตลอดทั้งวัน อาจช่วยป้องกันอาการกรดไหลย้อนและอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ผู้ที่ต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กระหว่างตั้งท้อง ควรรอให้อาการคลื่นไส้ดีขึ้นก่อนจึงค่อยรับประทาน หรือรับประทานพร้อมกับการรับประทานอาหาร อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ที่เป็นผลข้างเคียงจากอาหารเสริมธาตุเหล็กได้
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมาย พูดคุยเกี่ยวกับอาการแพ้ท้องหนักมากเพื่อรับคำแนะนำและรับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ดังกล่าวข้างต้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Morning Sickness (Nausea and Vomiting of Pregnancy). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16566-morning-sickness-nausea-and-vomiting-of-pregnancy#:~:text=It%20occurs%20in%20about%2070,sickness%20occurs%20throughout%20their%20pregnancy. Accessed November 9, 2022

Hyperemesis Gravidarum (Severe Nausea & Vomiting During Pregnancy). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12232-hyperemesis-gravidarum-severe-nausea–vomiting-during-pregnancy. Accessed November 9, 2022

Severe vomiting during pregnancy (hyperemesis gravidarum). https://www.pregnancybirthbaby.org.au/severe-vomiting-during-pregnancy-hyperemesis-gravidarum. Accessed November 9, 2022

Severe Morning Sickness (Hyperemesis Gravidarum). https://kidshealth.org/en/parents/hyperemesis-gravidarum.html#:~:text=Severe%20morning%20sickness%20is%20when,her%20baby’s%20ability%20to%20thrive. Accessed November 9, 2022

Vomiting and morning sickness. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vomiting-and-morning-sickness/. Accessed November 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตกขาวคนท้องระยะแรก เป็นอย่างไร

อาการของคนท้อง ในแต่ละไตรมาสเป็นอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา