ลูกสามารถซึมซับภาษา รูปแบบของคำ และจังหวะในการพูดได้จากการฟังคุณแม่พูดตั้งแต่อยู่ในท้อง การ เปิดเพลงให้ลูกในท้องฟัง จึงอาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองที่ดีให้กับลูกน้อยได้ ทั้งในด้านความจำ อารมณ์ความรู้สึก และสติปัญญา คุณแม่ควรเปิดเพลงให้ลูกในท้องฟังเป็นประจำ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกน้อยแล้ว ยังทำให้คุณแม่อารมณ์ดีและลดความวิตกกังวลได้ด้วย ซึ่งดีต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ทั้งขณะท้องและหลังคลอด
[embed-health-tool-due-date]
ลูกในท้อง ได้ยินเสียงเพลงจริงไหม
ลูกในท้องจะมีพัฒนาการด้านการฟังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 16-18 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และเมื่ออายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ หูของลูกจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน หรือหันศีรษะไปตามเสียงที่มารบกวน เช่น เสียงหมาเห่า เสียงเครื่องตัดหญ้า เสียงที่มีความถี่ต่ำ
เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 27-40 หรือในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ลูกในท้องจะจดจำเสียงของคุณแม่ที่สะท้อนผ่านร่างกายของคุณแม่ให้ลูกได้ยินอยู่เสมอได้แล้ว รวมถึงเสียงการทำงานของระบบในร่างกายคุณแม่ด้วย เช่น เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจ เสียงท้องร้องของคุณแม่ ซึ่งหมายความว่าในไตรมาสที่ 3 ลูกในท้องก็สามารถได้ยินเสียงเพลงที่คุณแม่เปิดให้ฟังได้แล้วเช่นกัน
เปิดเพลงให้ลูกในท้องฟัง เลือกเพลงสไตล์ไหนดี
คุณแม่ที่ต้องการเปิดเพลงหรือดนตรีขับกล่อมลูกในท้อง อาจเลือกเปิดเสียงดนตรีบรรเลงเพลงสากลหรือเพลงคลาสิคที่ได้รับความนิยมและสามารถค้นหาได้ง่าย หรือเปิดเพลงกล่อมเด็ก เพลงที่มีทำนองปลอบประโลมใจ เพลงช้า ๆ ฟังสบาย เพลงที่คุณแม่ชื่นชอบ หรือคุณแม่จะร้องเพลงโปรดของตัวเองให้ลูกฟังก็ได้ การร้องเพลงหรือเปิดเพลงให้ลูกในท้องฟังเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบการได้ยินและทักษะการฟังให้กับลูก ช่วยกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหวหรือดิ้น ทั้งยังช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายด้วย
เทคนิคการ เปิดเพลงให้ลูกในท้องฟัง อย่างปลอดภัย
คุณแม่ควรร้องเพลงหรือเปิดเพลงให้ลูกให้ท้องฟัง ในระดับเสียงที่ไม่ดังเกินไปหรือไม่เกิน 65 เดซิเบล และหากต้องการฟังเพลงเป็นเวลานาน ให้เปิดเพลงในระดับเสียงไม่เกิน 50 เดซิเบล ซึ่งใกล้เคียงกับเสียงสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการใช้หูฟังวางแนบหน้าท้องให้ลูกฟังเพลง เนื่องจากเสียงจะดังมากขึ้นเมื่อเดินทางผ่านน้ำคร่ำไปยังลูกในท้อง อาจทำให้ลูกได้ยินเสียงที่ดังและชัดเจนเกินไป และส่งผลเสียต่อหูที่ยังบอบบางของลูกได้
นอกจากนี้ คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง เช่น คอนเสิร์ต ผับบาร์ ร้านเหล้า ไซต์ก่อสร้าง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เพราะเสียงที่ดังเกินไปอาจกระทบต่อการได้ยินของลูก อาจทำให้ลูกตกใจหรือเครียดได้
วิธีดูแลตัวเองเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกในท้อง
การดูแลตัวเองเพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมของลูกในท้อง อาจทำได้ดังนี้
- ไม่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกิน 115 เดซิเบล
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงคลื่นความถี่ต่ำ เช่น เสียงยานพาหนะแล่นไปมา เสียงเครื่องบินขึ้นลง เสียงเครื่องจักรทำงาน เพราะเป็นเสียงที่ดังก้องหรือทำให้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน สามารถเดินทางไปยังมดลูกได้ง่ายกว่าเสียงประเภทอื่น อาจกระทบต่อพัฒนาการของลูกได้
- อยู่ให้ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง ไม่ควรพิงหรือให้ร่างกายสัมผัสกับแหล่งกำเนิดเสียงหรือวัตถุที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ลำโพง เพราะเสียงที่ลูกได้รับจะชัดเจนมากกว่าปกติ
- ควรอยู่ห่างจากเสียงรบกวนให้มากที่สุด เพราะอาจส่งผลให้ทั้งคุณแม่และลูกในท้องเครียด ทั้งยังอาจส่งผลเสียต่อหูและการได้ยินด้วย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่มือสอง การบริโภคแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด เพราะสามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกในท้องได้โดยตรง และอาจนำไปสู่การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ภาวะทารกพิการแต่กำเนิด หรือลูกมีปัญหาการเรียนรู้และพฤติกรรมในภายหลังได้