backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน และความเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก

พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน และความเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก

ช่วงท้ายของไตรมาสที่ 1 หรือเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ตัวอ่อนจะเปลี่ยนเป็นทารกอย่างสมบูรณ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน จะชัดเจนมากขึ้น อวัยวะสำคัญทั้งภายในและภายนอกพัฒนาอย่างครบถ้วน อีกทั้งความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตรยังลดลง จึงทำให้คุณแม่หลายคนรู้สึกสบายใจได้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของทารกในครรภ์เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนจะยังเล็กมากจึงยังไม่เป็นที่สังเกตมากนัก และคุณแม่ยังอาจมีอาการแพ้ท้องที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วงแรก แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

[embed-health-tool-due-date]

พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน

การนับอายุครรภ์ทางการแพทย์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์จึงเท่ากับสัปดาห์ที่ 9-13 ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนกลายเป็นทารกในครรภ์อย่างสมบูรณ์ ทารกจะมีสายสะดือที่เชื่อมตัวทารกและรกเข้ากับผนังมดลูกของคุณแม่ สายสะดือจะทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดของคุณแม่ไปหล่อเลี้ยงทารก และช่วยถ่ายของเสียออกจากตัวทารกด้วย

ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ทารกจะมีขนาดตัวประมาณ 2.1-4 เซนติเมตร หางที่พัฒนาขึ้นในสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์หรือช่วงที่ยังเป็นตัวอ่อนจะหลุดออกไป

ในช่วงสัปดาห์ที่ 11-12 ทารกในครรภ์จะมีความยาวตั้งแต่ส่วนหัวจรดก้น ประมาณ 6-7.5 เซนติเมตร นิ้วมือและนิ้วเท้าแต่ละนิ้วเริ่มแยกออกจากกัน ไม่เป็นพังผืดติดกันอีกต่อไป รูปทรงศีรษะและใบหน้าชัดเจนขึ้น กระดูกลำตัวเริ่มแข็งตัวเห็นเป็นรูปร่างของมนุษย์ ผิวหนังและเล็บและเริ่มเจริญเติบโตขึ้น เปลือกตาหลอมเข้าด้วยกัน ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินปัสสาวะเริ่มทำงาน ทารกจะเริ่มเคลื่อนไหวไปมาในครรภ์ตามธรรมชาติ ทั้งยังสามารถกำมือ อ้าปาก และหุบปากได้แล้ว

เมื่อถึงช่วงปลายเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 7.6-10 เซนติเมตรและมีน้ำหนักประมาณ 28 กรัม อวัยวะส่วนใหญ่ เช่น แขน มือ เท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า พัฒนาเรียบร้อยแล้ว มีการสร้างหูชั้นนอกและต่อมเหงื่อในระยะต้น และเริ่มมีฟันขึ้นใต้เหงือก ตับเริ่มผลิตน้ำดี ไตเริ่มสร้างปัสสาวะ รวมไปถึงอวัยวะสืบพันธุ์ก็พัฒนาขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้จากการอัลตราซาวด์เนื่องจากพัฒนาการยังไม่ชัดเจนมากพอ

ทารกในครรภ์อายุ 3 เดือนเต็มถือว่ามีพัฒนาการสำคัญและมีอวัยวะที่ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งน้อยกว่าในระยะเริ่มต้นการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ คุณแม่มักจะยังไม่รู้สึกว่ามีทารกในครรภ์ และหน้าท้องจะยังไม่ขยายตัวจนเป็นที่สังเกต เนื่องจากทารกยังมีขนาดตัวเล็กมาก

ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรก

คุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรกอาจพบความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ ดังนี้

ความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย

  • หน้าอกคัดตึง อาจบวมและขยายใหญ่ขึ้น รู้สึกคัน และหัวนมมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์
  • คลื่นไส้ เนื่องจากระดับฮอร์โมน Beta HCG เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสูงที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ แล้วจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนคงที่ที่ 20 สัปดาห์ อาการคลื่นไส้จึงมักมีมากในช่วง 2 เดือน และค่อย ๆ ลดลงหลังอายุครรภ์ 3 เดือน
  • ปวดปัสสาวะบ่อย ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อกำจัดของเหลวส่วนเกินผ่านการปัสสาวะ ส่งผลให้ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และตำแหน่งของมดลูกที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมดลูกโตขึ้นจึงเริ่มกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ท้องผูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ลำไส้ทำงานได้น้อยลง และอาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ช้าลงจนส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก และมีลมในกระเพาะอาหารและลำไส้มากกว่าปกติ
  • กรดไหลย้อน ฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจกระตุ้นให้หูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารคลายตัว ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร จนมีอาการแสบร้อนกลางอก
  • อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อยากพักผ่อนมากกว่าปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น
  • มีตกขาว เนื่องจากร่างกายผลิตตกขาวออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณช่องคลอดซึ่งอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป บางคนอาจอยากอาหารมากกว่าปกติ อยากกินอาหารแปลก ๆ ส่วนบางคนก็เบื่ออาหาร ไม่ชอบอาหารที่เคยชอบมาตลอด

ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์

ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวนและมีอารมณ์ซับซ้อนกว่าปกติ เช่น ตื่นเต้นดีใจ กระวนกระวายใจ วิตกกังวล เครียด โมโห บางครั้งอารมณ์ต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน

คุณแม่ตั้งครรภ์และคนใกล้ชิดควรดูแลสุขภาพกายใจให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์

วิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ระยะแรก

วิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำได้ดังนี้

  • ไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง เพื่อให้คุณแม่และทารกในครรภ์ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยทั่วไป คุณหมอจะตรวจร่างกายคุณแม่เป็นระยะตลอดการตั้งครรภ์ และอาจนัดหมายเพิ่มเติมหากพบความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  • ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย เช่น 5-6 มื้อต่อวัน และลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลงด้วย การรับประทานอาหารมื้อเล็กหลาย ๆ มื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด ผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น ส้ม ส้มโอ เกรปฟรุต มะนาว เลมอน อาจช่วยลดปัญหาทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน และอาจลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น ขนมปังโฮลวีท ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำและของเหลวอื่น ๆ ให้เยอะขึ้น อาจช่วยในการขับถ่ายและป้องกันการท้องผูกได้
  • นอนหลับในช่วงกลางคืนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง และอาจหาเวลางีบหลับในช่วงกลางวันด้วย เพื่อให้ร่างกายได้ใช้เวลาขณะนอนหลับในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและช่วยลดอาการอ่อนเพลีย คุณแม่อาจฝึกนอนตะแคงเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากเป็นท่านอนที่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ ที่ท้องโตจนนอนหงายไม่สะดวก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The First Trimester: Your Baby’s Growth and Development in Early Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/1to3-months. Accessed October 12, 2022

What happens in the third month of pregnancy?. https://www.plannedparenthood.org/learn/pregnancy/pregnancy-month-by-month/what-happens-third-month-pregnancy. Accessed October 12, 2022

Baby Development Month By Month. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/week-by-week/baby-development-month-by-month/. Accessed October 12, 2022

Fetal Development: Stages of Growth. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/7247-fetal-development-stages-of-growth. Accessed October 12, 2022

Fetal development: The 1st trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/prenatal-care/art-20045302. Accessed October 12, 2022

1st trimester pregnancy: What to expect. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20047208. Accessed October 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อายุครรภ์ 3 เดือน คุณแม่และทารกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

อายุครรภ์2เดือน พัฒนาการของทารก และการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา