backup og meta

อายุครรภ์ 3 เดือน คุณแม่และทารกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    อายุครรภ์ 3 เดือน คุณแม่และทารกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

    อายุครรภ์ 3 เดือน คือช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกก่อนเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่และทารกในครรภ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทารกในครรภ์เริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง หน้าท้องคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น อาการเหนื่อยล้า หน้าอกขยาย ดังนั้น คุณแม่จึงควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเองและทารกในครรภ์เป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก รวมถึงกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการทารกได้อย่างสมบูรณ์

    พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 3 เดือน

    พัฒนาการที่สำคัญสำหรับทารกในครรภ์ที่มี อายุครรภ์ 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ คืออวัยวะต่าง ๆ เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เช่น เช่น แขน ขา เล็บ ปาก เปลือกตา หูชั้นนอก ฟันเริ่มก่อตัว อวัยวะเพศของทารกเริ่มพัฒนา แต่ยังไม่สามารถบ่งบอกเพศได้จากการอัลตราซาวน์ นิ้วมือและนิ้วเท้าของทารกแยกออกจากกัน แตกต่างจากเดือนที่ 2 ที่นิ้วมือและนิ้วเท้ายังคงติดกันเป็นพังผืดอยู่ เริ่มมีการทำงานของระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบปัสสาวะ และตับ

    ลำตัวของทารกในครรภ์อาจยาวประมาณ 2-4 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 14-28 กรัม ขึ้นอยู่กับการดูแลและการเลือกรับประทานอาหารของคุณแม่ร่วมด้วยว่าจะส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตได้ไวเพียงใด

    การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่อายุครรภ์ 3 เดือน

    คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 3 เดือน อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

    • เต้านมคัด เต้านมขยาย ช่วงการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนม ส่งผลให้น้ำนมสะสมในเต้านม จนรู้สึกคัดเต้า เต้านมขยายใหญ่ขึ้น บางคนอาจมีอาการเจ็บเต้า รู้สึกไม่สบายตัว
    • แพ้ท้อง หลังจากตั้งครรภ์ได้ 1-2 เดือน คุณแม่ส่วนใหญ่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนทุกช่วงเวลา เนื่องจากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG) เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ ความชอบในการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป ต่อมรับรสชาติเปลี่ยน มีความไวต่อกลิ่นที่อาจส่งผลให้รู้สึกเหม็นสิ่งรอบตัวและอาหาร
    • เหนื่อยล้า ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น อาเจียน ที่อาจทำให้คุณแม่อ่อนแรง เหนื่อยล้าได้ง่าย
    • ปัสสาวะบ่อย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ อาจทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น และทำให้ปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้ มดลูกที่เริ่มขยายตัวจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อาจกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อย
    • ท้องผูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นสูง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อของลำไส้ที่ช่วยเคลื่อนย้ายอาหารไปยังระบบทางเดินอาหารทำงานน้อยลง ก่อให้เกิดอาการท้องผูก และเสียดท้อง

    การดูแลตัวเองในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือน

    วิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ได้แก่

    ตรวจสุขภาพ

    คุณแม่ควรรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำตามนัดหมาย โดยส่วนใหญ่อาจเข้าพบคุณหมอทุก 4 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ และตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 36 จากนั้นอาจลดลงเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้งจนกว่าจะคลอดบุตร เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

    คุณแม่ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ ขนมปังโฮลเกรน ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรได้รับสารอาหารเพิ่มเติม ดังนี้

    • แคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน จากอาหาร เช่น เต้าหู้ ผักใบเขียว อัลมอนด์ ถั่ว นมถั่วเหลือง นมพาสเจอร์ไรส์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้เพียงพอสำหรับการตั้งครรภ์
    • ธาตุเหล็ก 30 มิลลิกรัม/วัน เช่น เนื้อแดง แซลมอน ไข่ ถั่ว ผลไม้แห้ง ผักใบเขียว ซีเรียลอาหารเช้า เพื่อสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่มีส่วนช่วยนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต
    • กรดโฟลิก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าสตรีตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกประมาณ 0.4 มิลลิกรัม/วัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงระบบประสาทของทารกบกพร่อง ที่นำไปสู่การพัฒนาสมองและไขสันหลังไม่สมบูรณ์

    นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป นมไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ปลาที่อาจปนเปื้อนสารปรอท เช่น ปลาแมคเคอเรล ทูน่าในรูปแบบกระป๋อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน สูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและระบบทางเดินหายใจที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำหนักแรกเกิดต่ำ การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด

    ดื่มน้ำให้มาก

    คุณแม่ควรดื่มน้ำเปล่าให้ วันละประมาณ 8-10 แก้ว ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อช่วยลดปัญหาร่างกายขาดน้ำ ท้องผูก

    ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น แอโรบิก โยคะ พิลาทิส (Pilates) เดิน อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ป้องกันน้ำหนักเกิน  ลดปัญหาปวดหลัง และช่วยให้ฟื้นตัวได้ไวหลังคลอด

    พักผ่อนให้เพียงพอ

    การตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้ากว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้ายเพื่อลดการกดทับหลอดเลือดใหญ่จากน้ำหนักตัวของทารก  แต่หากคุณแม่สะดวกท่านอนหงาย ควรนำหมอนมารองบริเวณใต้ท้อง หลัง และขา เพื่อลดแรงกดบนหลัง ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น

    ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

    หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการป่วย ควรเข้ารับการตรวจและการรักษาจากคุณหมอโดยตรง นอกจากนี้ ก่อนจะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และวิตามินบำรุงใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอให้ชัดเจนก่อนรับประทานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา