การ ตรวจสุขภาพไตรมาส 2 ของแม่ตั้งครรภ์ คุณหมอจะทำการนัดทุก 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนครั้ง เพื่อตรวจดูสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์โดยรวม รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ นอกจากนั้น คุณแม่ยังจะได้เห็นพัฒนาการของลูกในครรภ์และตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ
[embed-health-tool-due-date]
ตรวจสุขภาพไตรมาส 2 มีอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพในไตรมาสที่ 2 จะทำให้สามารถทราบถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์และจะเป็นการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ โดย การตรวจสุขภาพครรภ์ในไตรมาสที่ 2 อาจมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การสอบถามประวัติเพิ่มเติม เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือไม่ มีปัญหาการนอนหลับหรือเปล่า รวมไปถึงสภาพจิตใจ และอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์
- การตรวจปัสสาวะ ตรวจหาโปรตีน เพื่อดูความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ และตรวจดูว่ามีน้ำตาลรั่วมาในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจเพื่อประเมินการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้
- การตรวจกลูโคส โดยปกติจะทำการตรวจในสัปดาห์ที่ 24-28 การทดสอบนี้จะเป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นการทดสอบตามปกติสำหรับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่เกิดขณะตั้งครรภ์
- การเจาะเลือด สำหรับการตรวจ Maternal serum alpha-fetoprotein (MSAFP) และการตรวจระดับฮอร์โมน Estriol และ hCG สามารถตรวจพบได้ในน้ำคร่ำและเลือดของคุณแม่ เป็นการทดสอบหาความผิดปกติของดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติของภาวะหลอดประสาทไม่ปิด จะตรวจในรายที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น
- การชั่งน้ำหนัก การตั้งครรภ์เป็นช่วงที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มน้ำหนักที่เหมาะสมอาจช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะต้องขึ้นอยู่กับน้ำหนักของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ด้วย
- การเจาะน้ำคร่ำ การทดสอบนี้มักจะทำระหว่างสัปดาห์ที่ 16-20 เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมลูกน้อยในครรภ์ เพื่อหาความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมหรือความผิดปกติของโครโมโซมอื่น ๆ ซึ่งจะทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ เนื่องจากการเจาะน้ำคร่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตรได้เล็กน้อย หรือประมาณร้อยละ 0.5
- การตรวจอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นความถี่สูงเพื่อแสดงภาพให้เห็นรูปร่างและตำแหน่งของทารกในครรภ์ ส่วนมากมักทำการตรวจในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 18-20 เพื่อประเมินอวัยวะส่วนต่าง ๆ และปัญหาเกี่ยวกับทารกในครรภ์ ซึ่งอาจรู้เพศของลูกได้ รวมถึงติดตามพัฒนาการของลูกในครรภ์ต่อเนื่อง โดยคุณหมอยังอาจทราบถึงภาวะแทรกซ้อน เช่น รกเกาะต่ำ การเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ช้า และความผิดปกติอื่น ๆ
- อัตราการเต้นของหัวใจลูกในครรภ์ ฟังเสียงการเต้นของหัวใจว่า ช้า เบา ถี่มากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพลูกในครรภ์ได้
คุณหมออาจมีการตรวจสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ หากพบว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ
ควร ตรวจสุขภาพไตรมาสที่ 2 เมื่อไร
การตรวจสุขภาพในไตรมาสที่ 2 จะขึ้นอยู่กับคุณหมอที่คุณแม่ฝากครรภ์ว่าจะทำการนัดหมายในแต่ละครั้งเมื่อใด โดย การตรวจสุขภาพในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์จะเริ่มนับที่สัปดาห์ที่ 13-28 ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณหมออาจจะทำการนัดถี่ขึ้นกว่าไตรมาสแรก
หากถึงเวลานัดแล้วคุณแม่ไม่สะดวก สามารถบอกหรือปรึกษากับคุณหมอที่ฝากครรภ์ เพื่อประโยชน์ของตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ รวมถึงการตัดสินใจตรวจสุขภาพบางอย่างที่อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น