backup og meta

ท้อง 7 เดือน สุขภาพคุณแม่และพัฒนาการทารกในครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    ท้อง 7 เดือน สุขภาพคุณแม่และพัฒนาการทารกในครรภ์

    สำหรับคุณแม่ที่ ท้อง 7 เดือน หรือ 30 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงที่มีความสำคัญมากทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ร่างกายของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามการเจริญเติบโตของทารก เช่น มดลูกขยาย ท้องโต อีกทั้งทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านการรับรู้ และการได้ยินจากสิ่งภายนอกที่มากขึ้น

    ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่เมื่อท้อง 7 เดือน

    เมื่อคุณแม่ตั้งท้องได้ 7 เดือน อาจรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกน้อย เนื่องจากมดลูกจะเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนบนสุดของมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวหน่าวประมาณ 28 เซนติเมตร และเพราะน้ำหนักตัวของทารกที่เริ่มมากขึ้นอยู่ที่ประมาณ 900-1,100 กรัม และการที่น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนเกิดเลือดคั่งในขา ส่งผลให้เกิดเส้นเลือดขอดบริเวณต้นขาหรือน่อง รวมถึงอาการด้านอื่น ๆ ดังนี้ 

    • หายใจไม่สะดวก เนื่องจากขนาดมดลูกที่โตขึ้น ดันกะบังลมให้สูงขึ้น ทำให้ปอดขยายได้ลดลง
    • อาการคันตามตัว เนื่องจากผิวหนังมีการขยายตัวมากขึ้น
    • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
    • มีอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดขา
    • มือเท้าบวม
    • รอยแตกลายตามผิวหนัง มีผิวคล้ำเป็นบางจุด
    • อาหารไม่ย่อย
    • การติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในช่องคลอด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
    • อารมณ์แปรปรวน

    ท้อง 7 เดือน กับ พัฒนาการของทารกในครรภ์

    ทารกในครรภ์ที่มีอายุ 7 เดือน หรือ 30 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย คือการสร้างเส้นผม มีเซลล์เม็ดเลือดแดงก่อตัวภายในกระดูกไขสันหลัง น้ำหนักเพิ่มประมาณ 900-1,100 กรัม และอาจมีการสร้างชั้นไขมัน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ทารกหลังคลอดนอกจากนี้ ทารกในครรภ์อาจมีดวงตาที่พัฒนาพร้อมจะโฟกัสมองสิ่งต่าง ๆ หลังจากการคลอด อีกทั้งทารกช่วง 30 สัปดาห์ อาจมีการพัฒนาการด้านการรับรู้ สามารถหันเปลี่ยนทิศทางตามสิ่งที่ได้ยิน และมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกด้วยการดิ้น

    ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังระหว่างตั้งครรภ์

    ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้ 

  • รกเกาะต่ำ

  • รกเกาะต่ำ คือภาวะที่รกปกคลุมปากมดลูกบางส่วน หรือทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก หรือจำเป็นต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด

    • ภาวะครรภ์เป็นพิษ

    ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สตรีตั้งครรภ์ควรสังเกตจากอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ตามัว และจุกแน่นลิ้นปี่

    • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยที่มีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม หรือเรียกว่าภาวะมาโครโซเมีย (Macrosomia) ซึ่งส่งผลให้ระหว่างคลอดอาจมีการติดขัดทำให้คลอดทางธรรมชาติได้ยาก คุณหมอจึงอาจจำเป็นต้องผ่าคลอดแทน

    ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัดหมาย หรือก่อนการนัดหมายในทันทีหากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา