อาการท้องแข็งใกล้คลอด มักพบในช่วงไตรมาสที่ 3 (เดือนที่ 8-9) ของการตั้งครรภ์ เกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดและคลายตัว ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการบีบรัดตัวขณะตั้งครรภ์ตามปกติ และการบีบรัดตัวเมื่อถึงระยะคลอดซึ่งจะมาพร้อมอาการที่เฉพาะเจาะจง เช่น มีมูกเลือดออกจากช่องคลอด มีอาการปวดท้องที่ค่อย ๆ ถี่และเจ็บขึ้น คุณแม่ควรเรียนรู้ความแตกต่างของอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องคลอด รวมถึงวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดอาการไม่สบายตัวจากการบีบรัดของมดลูกขณะตั้งครรภ์ได้
[embed-health-tool-due-date]
อาการท้องแข็งใกล้คลอด เป็นอย่างไร
อาการท้องแข็งใกล้คลอด พบได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 หรือช่วงเดือนที่ 8-9 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากมดลูกหดตัวและบีบตัวเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด ส่งผลให้หน้าท้องแข็งตึง รู้สึกคับแน่นและอึดอัด เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกว่าท้องแข็งกว่าปกติ อาการท้องแข็งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเกิดขึ้นประมาณ 30 วินาที/ครั้ง โดยอาการท้องแข็ง อาจแบ่งออกได้ดังนี้
- อาการท้องแข็งที่เป็นการเจ็บท้องเตือน
เป็นอาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกบีบรัดตัวเมื่อมีสิ่งกระตุ้นบางประการ เช่น ทารกดิ้น คุณแม่ทำงานหรือขยับร่างกายมากเกินไป คุณแม่อาจเริ่มมีอาการมดลูกบีบรัดตัวตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 12-16 ของการตั้งครรภ์ และอาจมีอาการต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 มดลูกจะบีบรัดตัวรุนแรงจนเกิดเป็นอาการท้องแข็งที่ชัดเจนขึ้น โดยปกติจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อาจมีอาการทุก ๆ 15-20 นาที โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สม่ำเสมอและไม่ถี่ขึ้น อาการนี้จะเกิดขึ้นไม่นานและจะหายไปเอง และไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น มูกเลือดไหลออกจากช่องคลอดร่วมด้วย อาการเจ็บท้องเตือนอาจจะทุเลาได้จากการเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่มีการยืนหรือเดินนาน ๆ ควรนั่งหรือนอนพัก หรืออาจจะใช้ยาแก้ปวดร่วมด้วยได้ โดยหากเป็นเพียงการเจ็บเตือนจริง อาการท้องปั้นแข็งจะเบาลงได้
- อาการท้องแข็งที่เป็นการเจ็บท้องคลอด
เป็นอาการท้องแข็งที่เกิดจากจากมดลูกบีบรัดตัวขณะเข้าสู่ระยะคลอด อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยอาจรู้สึกปวดบริเวณหลัง หน้าท้องส่วนล่าง กระดูกอุ้งเชิงกราน อาการท้องแข็งในช่วงนี้จะเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ อาการเจ็บท้องแต่ละครั้งจะยาวนานประมาณ 60-90 วินาที อาจเกิดอาการห่างกันประมาณ 15-20 นาที และอาการจะเจ็บถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งจะมีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้น โดยอาจปวดลามไปถึงส่วนขา อีกทั้งในช่วงเข้าสู่ระยะคลอด คอมดลูกจะอ่อนนุ่มลง จึงอาจมีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด และมดลูกจะขยายตัวเพื่อรองรับการเคลื่อนตัวออกจากช่องคลอดของทารก
อาการท้องแข็งที่เป็นอาการของการเจ็บท้องคลอด จะไม่สามารถทุเลาได้โดยการเปลี่ยนอิริยาบทหรือการรับประทานยาแก้ปวด อาการปวดจะยังคงถี่และเจ็บมากขึ้น แนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อประเมินอีกครั้ง
สาเหตุที่ทำให้เกิด อาการเจ็บท้องใกล้คลอด
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บท้องใกล้คลอด อาจมีดังนี้
อาการเจ็บท้องคลอด หรือเจ็บท้องจริง
อาจเกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่กระตุ้นให้เกิดการบีบรัดมดลูก เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อมดลูกให้พร้อมสำหรับการคลอด และกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิด เตรียมพร้อมสำหรับการเบ่งคลอดต่อไป
อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก
อาจเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางประการมากระตุ้นให้กล้ามเนื้อบีบรัดตัว เช่น
- การขยับร่างกายหรือเดินเยอะกว่าปกติ
- การเดินขึ้นบันไดหลายชั้น
- การสัมผัสบริเวณหน้าท้อง
- การมีเพศสัมพันธ์
- การกลั้นปัสสาวะ
- ทารกในครรภ์ดิ้นแรง
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
วิธีบรรเทา อาการท้องแข็งใกล้คลอด
การบรรเทาอาการท้องแข็งใกล้คลอด อาจทำได้ดังนี้
- เปลี่ยนท่านอนหรือท่านั่งเมื่อรู้สึกว่าท้องแข็ง แล้วอยู่นิ่ง ๆ สักระยะ
- คอยประคองหน้าท้องเอาไว้ขณะยืนหรือพลิกตัว และเคลื่อนไหวให้ช้าลง
- ลดการทำกิจกรรมหนัก ๆ เช่น ยกของหนัก ทำงานหนัก เดินระยะไกล
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพราะหากร่างกายขาดน้ำอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็งหรือเจ็บท้องเตือนได้
- รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน
- อาบน้ำอุ่นเพื่อคลายกล้ามเนื้อมดลูกที่บีบรัดตัว ทั้งนี้ไม่ควรอาบน้ำอุ่นนานเกิน 10 นาที เพราะอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณแม่สูงขึ้นและทำให้เลือดไหลเวียนไปยังรกได้ลำบากขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- ถ่ายปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็งได้
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
คุณแม่ควรสังเกตอาการเจ็บท้องและอาการท้องแข็งของตัวเองว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องคลอด หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าใกล้คลอดหรือมีความผิดปกติบางประการที่ต้องรีบรับการรักษา
- มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด
- ถุงน้ำคร่ำแตก หรือมีของเหลวรั่วไหลออกจากช่องคลอด
- เจ็บท้องคลอดทุก ๆ 5 นาที
- ปวดท้องหรือมดลูกบีบรัดไม่ยอมหาย แม้จะเปลี่ยนท่าทางหรือเดินไปเดินมาแล้ว
- มีการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ หรือทารกขยับตัวน้อยกว่าปกติ (น้อยกว่า 10 ครั้ง ทุก ๆ 2 ชั่วโมง)