backup og meta

วัยหมดประจําเดือน ท้องได้ไหม

วัยหมดประจําเดือน ท้องได้ไหม

ผู้หญิงหลายคนเมื่ออายุมากขึ้นอาจมีความผิดปกติของประจำเดือนหรือประจำเดือนไม่มา ซึ่งเป็นสัญญาณของวัยหมดประจำเดือน จึงอาจมีข้อสงสัยว่า วัยหมดประจําเดือน ท้องได้ไหม โดยปกติหากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแต่ยังคงมีประจำเดือนอยู่ ก็อาจสามารถตั้งท้องได้ แต่อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติในขณะตั้งท้องได้ง่าย และหากผู้หญิงไม่มีประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสน้อยมากที่จะมีการตั้งท้องเกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายไม่มีไข่ในการผสมกับอสุจิ

วัยหมดประจำเดือน เป็นอย่างไร

เมื่อเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนน้อยลง ระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone หรือ LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นรังไข่ และฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ (Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรังไข่ตอบสนองต่อฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้น้อยลง ซึ่งความแปรปรวนของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นอาจทำให้มีอาการของวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน เหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยอาจมาช้าหรือเร็ว อาจมามากหรือน้อย สำหรับในช่วงนี้ แม้ว่าภาวะเจริญพันธุ์จะลดลง แต่ก็ยังคงสามารถตั้งครรภ์ได้

หากสังเกตว่าตนเองมีอาการของวัยหมดประจำเดือนที่เกิดขึ้นครบ 1 ปี อาจเป็นไปได้ว่าได้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำมากจนไม่เกิดการตกไข่อีกต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 40-55 ปี

วัยหมดประจําเดือน ท้องได้ไหม

การตั้งท้องตามธรรมชาติในช่วงวัยหมดประจำเดือนอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่อาจเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนน้อยลงจึงทำให้ไม่เกิดการตกไข่ แต่หากยังคงมีประจำเดือนอยู่ก็อาจมีโอกาสที่จะตั้งท้องได้ อย่างไรก็ตาม ไข่ที่ตกในช่วงใกล้วัยหมดประจำเดือนอาจมีคุณภาพต่ำหรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้อสุจิที่เข้ามาผสมกับไข่ไม่สามารถปฏิสนธิและพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน หรืออาจเกิดปัญหาแท้งบุตรในอนาคตได้เช่นกัน

ความเสี่ยงของการท้องในวัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือนมักเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 40-55 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ผู้หญิงอาจมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ และอาจมีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรังได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งท้องได้

นอกจากนี้ การท้องในวัยหมดประจำเดือนอาจเสี่ยงที่จะแท้งบุตรได้ง่าย เพราะไข่มีคุณภาพต่ำเกินไป รวมทั้งอาจเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และอาจทำให้ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ความผิดปกติของโครโมโซม การคลอดก่อนกำหนด

การดูแลตัวเองเมื่อท้องในวัยหมดประจำเดือน

สำหรับผู้ที่ท้องในวัยหมดประจำเดือนอาจต้องได้รับการดูแลขณะตั้งท้องเป็นพิเศษ ดังนี้

  • เข้าพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งท้องในวัยหมดประจำเดือน เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งท้อง รวมถึงวิธีการดูแลทารกในท้องให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
  • ฝากครรภ์ เพื่อวางแผนการดูแลก่อนคลอด และคุณหมอสามารถดูแลทั้งสุขภาพคุณแม่และสุขภาพทารกในท้องได้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งท้อง
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในระหว่างตั้งท้อง โดยควรเสริมกรดโฟลิก (Folic) แคลเซียม เหล็ก วิตามินดี และสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในท้อง
  • รักษาน้ำหนักในขณะตั้งท้อง เพราะอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง รวมถึงยังดีต่อน้ำหนักของทารกแรกเกิดที่เหมาะสมด้วย
  • ออกกำลังกาย อาจช่วยบรรเทาความไม่สบายตัวในขณะตั้งท้อง เช่น ความปวดเมื่อย ความอ่อนล้า รวมถึง ยังอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายและอาจช่วยให้คลอดง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสารอันตราย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในท้องและอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

[embed-health-tool-due-date]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

การมีเพศสัมพันธ์ในวัยหมดประจำเดือน. https://www.fhs.gov.hk/english/other_languages/thai/women_health/women_health/15675.html. Accessed September 18, 2022

Women After 50 Can Have Safe Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/news/20021111/women-after-50-can-have-safe-pregnancy#:~:text=After%20menopause%2C%20a%20woman%20no,woman%20implanted%20into%20her%20uterus. Accessed September 18, 2022

Can You Get Pregnant During Perimenopause?. https://healthtalk.unchealthcare.org/can-you-get-pregnant-during-perimenopause/. Accessed September 18, 2022

Pregnancy after 35: Healthy pregnancies, healthy babies. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/pregnancy/art-20045756. Accessed September 18, 2022

Age and Fertility (booklet). https://www.reproductivefacts.org/news-and-publications/patient-fact-sheets-and-booklets/documents/fact-sheets-and-info-booklets/age-and-fertility/. Accessed September 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/09/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้องไม่พร้อม ปัญหาต่อสุขภาพและการป้องกัน

ตกขาวคนท้องระยะแรก เป็นอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา