backup og meta

การดูแล แผลผ่าคลอด ให้ปลอดภัย ไร้แผลเป็น

การดูแล แผลผ่าคลอด ให้ปลอดภัย ไร้แผลเป็น

การผ่าคลอด คือการผ่าตัดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างเพื่อนำทารกออกมาจากท้องคุณแม่ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งหากคุณแม่ไม่ต้องการหรือไม่สามารถคลอดบุตรแบบธรรมชาติได้  หลังจากผ่าคลอดเสร็จสิ้น คุณแม่ควรดูแล แผลผ่าคลอด ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ด้วยการทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธี และไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายมากเพราะอาจส่งผลให้แผลเปิด เสี่ยงการติดเชื้อได้ง่าย

[embed-health-tool-due-date]

ลักษณะของแผลผ่าคลอด

แผลผ่าคลอด มีลักษณะเป็นรอยแผลยาวแนวนอนบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง หรือแนวตั้งจากสะดือถึงหน้าท้องส่วนล่าง ซึ่งอาจมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร สาเหตุที่คุณหมอจำเป็นต้องกรีดแผลยาวเพื่อจะได้นำทารกออกจากท้องคุณแม่ได้ง่ายขึ้น แผลผ่าคลอดอาจใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์กว่าจะหาย หรือในบางกรณีอาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าดูแลและทำความสะอาดแผลได้ถูกต้องตามคำแนะนำของคุณหมอหรือไม่ แผลผ่าคลอดถือเป็นแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่จึงควรสังเกตอาการผิดปกติเป็นประจำ หากแผลแย่ลงหรือมีอาการอื่น ๆ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าคลอด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าคลอด อาจมีดังนี้

  • เลือดออกจากช่องคลอด เป็นภาวะปกติที่อาจมีเลือดออกบริเวณมดลูก ควรใช้ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันเลือดซึมเปื้อนเสื้อผ้า และควรหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ กรณีที่มีเลือดออกรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำให้เลือดหยุดไหล
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อทั่วไปอาจส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บปวด แผลบวม มีรอยแดง และมีหนองไหล แต่หากเกิดการติดเชื้อในเยื่อบุมดลูก อาจมีไข้ขึ้น ปวดท้อง มีตกขาวและเลือดออกทางช่องคลอด แต่ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบบใดก็ควรรับการตรวจจากคุณหมอทันที เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงขึ้นได้
  • อาการปวด คุณแม่อาจรู้สึกปวดบริเวณแผลผ่าคลอด โดยเฉพาะเมื่อแผลได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการหัวเราะ การไอ เป็นต้น
  • ลิ่มเลือดอุดตัน เป็นอาการที่พบได้ยาก แต่อาจส่งผลให้คุณแม่บางคนมีลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาจนทำให้ขาปวดบวม หากปล่อยไว้นาน ลิ่มเลือดอาจไหลไปที่ปอด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่ได้
  • อันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเป็นแล้ว อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าคลอดอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้ ดังนี้

  • แผลบนผิวหนัง อาจเกิดขึ้นหลังจากมดลูกถูกเปิดออก เป็นภาวะทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถหายเองได้
  • หายใจลำบาก ส่วนใหญ่พบในทารกที่คุณหมอจำเป็นต้องผ่าคลอดก่อนครบอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ โดยปกติทารกอาจมีอาการดีขึ้น 2-3 วันหลังคลอด 

นอกจากนี้ การผ่าคลอดอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต เพราะอาจส่งผลให้รกเกาะผนังมดลูกแบบผิดปกติ รอยแผลเป็นเก่าในมดลูกเปิดออก และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่วางแผนตั้งครรภ์ครั้งถัดไป ควรปรึกษาคุณหมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว

อาการที่ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่าแผลผ่าคลอดติดเชื้อ ซึ่งต้องรีบเข้ารับการรักษาทันที

  • เจ็บแผลอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูง หายใจถี่ ไอ
  • มีตกขาว และมีเลือดออกทางช่องคลอด 
  • แผลผ่าคลอดบวมแดง
  • ปากแผลปริ
  • มีหนองหรือของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกจากแผล
  • ขาส่วนล่าง (เข่าจนถึงข้อเท้า) ปวดบวม
  • ปัสสาวะเล็ด
  • เต้านมข้างใดข้างหนึ่งบวม แดง

การดูแลแผลผ่าคลอด

การดูแลแผลผ่าคลอด อาจทำได้ดังนี้

  • การดูแลแผลผ่าคลอดขณะอยู่ในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์อาจดูแลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
    • กำจัดขนบริเวณที่ต้องการผ่าคลอดด้วยอุปกรณ์ปลอดเชื้อ
    • ให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนเริ่มผ่าตัด
    • ล้างมือก่อนดำเนินการผ่าตัดและก่อนดูแลแผลผ่าคลอดให้ผู้ป่วย
    • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลแผลผ่าตัดเองที่บ้านอย่างถูกต้อง
  • การดูแลแผลผ่าคลอดด้วยตัวเอง เมื่อคุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ คุณแม่อาจจำเป็นต้องดูแลแผลผ่าคลอดตามคำแนะนำของคุณหมอจนกว่าแผลจะหายดี ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
    • ล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัสบาดแผล
    • อาบน้ำโดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านแผล ไม่ควรถูสบู่ หรือโรยแป้งบริเวณแผลโดยตรง
    • ซับแผลให้แห้งหลังอาบน้ำ และทายาปฏิชีวนะที่คุณหมอแนะนำ จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซพันแผล และควรเปลี่ยนผ้าก๊อซวันละครั้ง ป้องกันสิ่งสกปรกสะสม
    • สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแผล
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เมื่อรู้สึกเจ็บหรือปวดแผลผ่าคลอด
    • ไม่ควรยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือเดินมากเกินไปในช่วง 6-8 สัปดาห์แรกหลังผ่าคลอด
    • ฝึกเดินในระยะสั้น ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย
    • คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับหรือโดยสารรถยนต์ ทางที่ดีไม่ควรขับรถเลยอย่างน้อยในช่วง 2 สัปดาห์แรก และไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดก่อนขับรถ เพราะอาจทำให้ง่วงนอนและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Recovery-Caesarean section. https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/recovery/  . Accessed July 27, 2023.

Recovery after caesarean: first 6 weeks. https://raisingchildren.net.au/pregnancy/labour-birth/recovery-after-birth/after-caesarean  . Accessed July 27, 2023.

Caring for your wound after having a caesarean section. https://www.mkuh.nhs.uk/patient-information-leaflet/caring-for-your-wound-after-having-a-caesarean-section  . Accessed July 27, 2023.

Going home after a C-section. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000624.htm  . Accessed July 27, 2023.

Cesarean Section. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=cesarean-delivery-92-P07768  . Accessed July 27, 2023.

Risks-Caesarean section. https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/risks/  . Accessed July 27, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตะคริวหลังคลอด สาเหตุ และวิธีการรักษา

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเอง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา