ตกขาวสีเหลืองขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการตกขาวที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียและปรสิต เช่น โรคหนองใน หนองในเทียม การติดเชื้อราในช่องคลอด ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และโรคพยาธิในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้มีอาการคัน แสบร้อนช่องคลอด เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ คลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยได้เช่นกัน
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
สาเหตุของตกขาวสีเหลืองขณะตั้งครรภ์
ตกขาวสีเหลืองขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุดังนี้
ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
เกิดจากความผิดปกติของแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งตามปกติในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) ที่ทำให้ช่องคลอดมีภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งเป็นภาวะที่ปกติ แต่หากแบคทีเรียแลคโตบาซิลไลลดลงจะทำให้ ภาวะกรดด่างในช่องคลอดเสียสมดุล เมื่อแบคทีเรียมีจำนวนเพิ่มมากเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบและมีอาการคัน อักเสบ แสบร้อน และตกขาวมีกลิ่นเหม็น
อาการของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- ตกขาวมีกลิ่นคาวรุนแรง โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือสีเขียว และอาจเป็นฟอง
- แสบช่องคลอดเมื่อปัสสาวะหรือเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- คันในช่องคลอดและด้านนอกอวัยวะเพศ
ความเสี่ยงของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- คลอดก่อนกำหนด
- ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- ทารกน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อในมดลูกที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์การใช้ยาอาจส่งผลเสียต่อช่องคลอดและทารกในครรภ์ได้ คุณหมอจึงอาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกอย่างธาตุเหล็ก สังกะสี และแมงกานีส เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ เพื่อส่งเสริมให้แบคทีเรียดีกลับมาแข็งแรงและรักษาสมดุลในช่องคลอดได้
การติดเชื้อรา
เป็นภาวะที่เชื้อราในช่องคลอดมีการเจริญเติบโตมากเกินไป ส่วนใหญ่เชื้อราที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ คือ แคนดิดา อัลบิคัล (Candida Albicans) แคนดิดา กลาบราตา (Candida Glabrata) และแคนดิดา ทรอปิคัลลิส (Candida Tropicalis) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดที่อาจทำลายแบคทีเรียดีซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อราเติบโตมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาการของการติดเชื้อราในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- อาการคัน แสบร้อนที่อวัยวะเพศ
- ผิวแดง บวมในช่องคลอดหรือผิวด้านนอกช่องคลอด
- มีผื่นภายในช่องคลอด
- ปวดช่องคลอด
- ตกขาวสีเหลืองข้น หนา
ความเสี่ยงของการติดเชื้อราในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- คลอดก่อนกำหนด
- ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ
- เชื้อราที่ผิวหนังทารกแต่กำเนิด
การรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ครีมทาหรือยาเหน็บเพื่อฆ่าเชื้อรา เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
หนองในเทียม
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) โดยแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกันทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
อาการหนองในเทียมขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- ตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น
- มีไข้ต่ำ
- มีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- แสบร้อนเมื่อปัสสาวะ หรือเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ปวดท้องหรือปวดอุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องส่วนล่าง
- มีอาการบวมรอบช่องคลอด
ความเสี่ยงหนองในเทียมขณะตั้งครรภ์ ดังนี้
- ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ
การรักษาหนองในเทียมขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines) ซึ่งควรใช้ให้ครบชุดเพื่อป้องกันการดื้อยาและการกลับมาติดเชื้อซ้ำ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น
โรคหนองใน
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทวารหนักและปาก การสัมผัสโดนอวัยวะหรือบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งยังสามารถติดต่อจากมารดาไปยังทารกได้ระหว่างตั้งครรภ์
อาการโรคหนองในขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- แสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ตกขาวสีเหลืองมากขึ้น
- เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- ช่องคลอดเป็นแผล
- ปากช่องคลอดบวม
- อาการคันที่ก้นและอวัยวะเพศ
- อาการปวดทวารหนัก มีเลือดออกจากทวารหนัก
ความเสี่ยงโรคหนองในขณะตั้งครรภ์ ดังนี้
- โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ อาจทำให้มีอาการปวดอุ้งเชิงกราน เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือภาวะมีบุตรยาก
- คลอดก่อนกำหนด
- ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย
- การแท้งบุตร
- ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ
การรักษาโรคหนองใน ก่อนการตั้งครรภ์ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์และต่อทารกในครรภ์ คุณหมออาจให้ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในขนาดที่ปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
โรคพยาธิในช่องคลอด
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกันทางช่องคลอดหรือทวารหนัก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อปรสิตทริโคโมแนส (Trichomonas Vaginalis) ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ หากผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นพยาธิในช่องคลอดอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้
อาการโรคพยาธิในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- คัน แสบร้อน เจ็บ และบวมบริเวณอวัยวะเพศ
- แสบร้อนขณะปัสสาวะ หรือเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และอาจมีปริมาณเยอะผิดปกติ
- ตกขาวอาจเป็นสีขาวขุ่น สีเทา สีเหลือง หรือสีเขียว และเป็นฟอง
- ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- เลือดออกจากช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
ความเสี่ยงโรคพยาธิในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักแรกเกิดทางรกต่ำ
การรักษาโรคพยาธิในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เช่น ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) เพื่อฆ่าเชื้อปรสิต