คู่สมรสบางคู่ หลังจากแต่งงานแล้วก็ตั้งความหวังที่จะมีเจ้าตัวเล็กมาวิ่งเล่นในบ้าน เติมเต็มความสุขในครอบครัวอีกหนึ่งระดับ แต่ก็ไม่ใช่คู่แต่งงานทุกคู่ที่จะสมหวังกับเป้าหมายนั้น บางคู่พยายามกันมาหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีลูกน้อยมาเป็นสมาชิกคนใหม่สักที ในกรณีนี้ ควรลอง ตรวจภาวะมีบุตรยาก เพื่อหาแนวทางรักษาและแก้ไขต่อไป
[embed-health-tool-ovulation]
ทำไมควร ตรวจภาวะมีบุตรยาก
การตรวจหา ภาวะมีบุตรยาก มีจุดประสงค์เพื่อให้คู่แต่งงาน หรือผู้ที่ต้องการมีลูกทราบโอกาสหรือแนวโน้มในการมีลูก หากตรวจพบว่าอยู่ในภาวะการมีบุตรยาก คุณหมออาจช่วยเสนอแนวทางเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้ โดยเฉพาะในคู่สมรสที่แต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ตามปกติโดยไม่มีการคุมกำเนิดมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ หรือสามีภรรยาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และต้องการจะมีลูก หากเข้าข่ายดังกล่าว ควรหาโอกาสเข้าปรึกษาคุณหมอและตรวจวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยาก จะได้ทราบความเสี่ยงหรือแนวโน้มการตั้งครรภ์ในอนาคต
เตรียมตัวก่อนไป ตรวจภาวะมีบุตรยาก อย่างไรดี
ก่อนเข้ารับการตรวจภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสสามารถเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้ดังนี้
- เตรียมคำถามไว้ถามแพทย์ เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับข้อสงสัยที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือโอกาสในการตั้งครรภ์
- หากเป็นไปได้ คู่สมรสควรไปด้วยกัน เพื่อให้ได้ทราบแนวโน้มหรือความเสี่ยงของสุขภาพทางเพศ โอกาสในการมีลูก รวมถึงความเสี่ยงว่าใครมีภาวะมีบุตรยาก
- เตรียมข้อมูลส่วนตัวให้พร้อม เช่น ประวัติการรักษาโรคที่ผ่านมา ยารักษาโรค อาหารเสริมที่บริโภคอยู่ ตลอดจนประวัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ หรือปัญหาพันธุกรรม
- เลือกสถานพยาบาลที่ไว้วางใจ หรือมีราคาค่าตรวจภาวะมีบุตรยากในระดับที่พร้อมจ่าย
- เลือกวันและเวลาที่ตัวเองและคู่สมรสสะดวกตรงกัน เพื่อให้สามารถเข้ารับการตรวจได้พร้อม ๆ กัน และรับฟังคำวินิจฉัยร่วมกัน ตลอดจนตัดสินใจร่วมกันด้วย
ตรวจภาวะมีบุตรยาก ตรวจอะไรบ้าง
การตรวจวินิจฉัย ภาวะมีบุตรยาก ของผู้ชายและผู้หญิง จะมีข้อแตกต่างและวิธีในการตรวจที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้
ตรวจภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย
- การตรวจวิเคราะห์สเปิร์ม (Semen Analysis) คุณหมออาจขอให้ผู้เข้ารับการตรวจสำเร็จความใคร่ เพื่อเก็บตัวอย่างอสุจิไปตรวจหาความผิดปกติของอสุจิ หรือในบางกรณีอาจตรวจหาอสุจิจากปัสสาวะ
- การตรวจอัณฑะ (Testicular Biopsy) โดยนำชิ้นเนื้ออัณฑะไปตรวจหาความผิดปกติที่ทำให้มีลูกยาก
- การตรวจฮอร์โมน โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย
- ตรวจพันธุกรรม เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในระบบพันธุกรรมที่นำไปสู่ ภาวะมีบุตรยาก หรือไม่
- การเอกซเรย์ การอัลตร้าซาวด์ หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของสมอง และร่างกาย ที่อาจเป็นผลให้มีลูกยาก
ตรวจภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง
- ตรวจไข่ตก (Ovulation Testing) โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนว่ามีแนวโน้มของการตกไข่บ้างหรือไม่
- การฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) โดยการฉีดรังสีเอ็กซ์เข้าไปในมดลูก เพื่อตรวจดูว่ามดลูกปกติดีหรือไม่ รังไข่หรือท่อนำไข่เกิดการรั่วไหลหรือเปล่า วิธีนี้จะช่วยประเมินได้ว่ามดลูกและรังไข่สมบูรณ์และพร้อมต่อการตั้งครรภ์หรือไม่
- ตรวจฮอร์โมนรังไข่ (Ovarian Reserve Testing) เพื่อตรวจและประเมินโอกาสในการตกไข่ รวมถึงการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วย
- การอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูบริเวณกระดูกเชิงกรานว่ามีความผิดปกติใดที่ก่อให้เกิด ภาวะมีบุตรยาก หรือไม่
- การตรวจวัดระดับฮอร์โมน เพื่อดูความสมบูรณ์ของระดับฮอร์โมนที่ช่วยให้มีการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง