backup og meta

ทำหมันแล้วอยากมีลูก เป็นไปได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    ทำหมันแล้วอยากมีลูก เป็นไปได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง

    ทำหมันแล้วอยากมีลูก หมายถึง การที่หญิงหรือชายซึ่งทำหมันแบบถาวรไปแล้วต้องการกลับมามีลูกอีกครั้ง ซึ่งอาจทำได้ด้วย การแก้หมัน หรือการทำเด็กหลอดแก้ว โดยวิธีแก้หมันคือการผ่าตัดอีกครั้งให้ระบบสืบพันธุ์ซึ่งทำหมันแล้วกลับมาเป็นปกติ อสุจิและไข่สามารถปฏิสนธิกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ในขณะที่การทำเด็กหลอดแก้ว คือการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิภายนอกร่างกาย แล้วนำตัวอ่อนไปไว้ในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ทารกเติบโตในครรภ์ต่อไป

    ทำหมันแล้วอยากมีลูกด้วยวิธีการแก้หมัน

    แก้หมัน หมายถึง การทำให้ชายหรือหญิงที่ทำหมันแล้ว กลับมามีลูกได้อีกครั้งด้วยการผ่าตัด โดยแบ่งเป็นการแก้หมันชายและแก้หมันหญิง

    แก้หมันชาย

    คือ การผ่าตัดต่อท่อนำอสุจิ หลังจากถูกตัดหรือผูกไว้เนื่องจากการทำหมัน เพื่อให้ตัวอสุจิสามารถผ่านท่อนำอสุจิออกไปรวมกับน้ำเชื้อได้อีกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

    ผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วอยากมีลูก สามารถขอรับการแก้หมันได้ที่สถานพยาบาล โดยคุณหมอจะขอตรวจสุขภาพของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อตรวจดูโอกาสสำเร็จของการแก้หมัน รวมถึงโอกาสมีบุตรของทั้งคู่ หากโอกาสสำเร็จในการแก้หมันสูง รวมทั้งสภาพร่างกายของทั้งคู่พร้อมมีบุตร คุณหมออาจพิจารณาแก้หมันให้

    ขั้นตอนการแก้หมันชาย

    ในการแก้หมันชายซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง คุณหมอจะเริ่มต้นด้วยการกรีดถุงอัณฑะของคนไข้ แล้วส่องกล้องจุลทรรศน์เข้าไปสำรวจหาท่อนำอสุจิ เมื่อพบแล้ว คุณหมอจะเย็บต่อท่ออสุจิเข้าด้วยกัน

    หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล คุณหมอจะเลือกเย็บท่อนำอสุจิเข้ากับหลอดเก็บตัวอสุจิโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ซับซ้อนกว่า

    โอกาสสำเร็จในการแก้หมันชาย

    หลังแก้หมันแล้ว จะยังไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อทันที คุณหมอจะนัดตรวจจำนวนอสุจิเป็นระยะ เพื่อดูว่าการแก้หมันสำเร็จหรือไม่ โดยปกติจำนวนอสุจิอาจคืนกลับมาหลังการผ่าตัดแก้หมันภายใน 2-3 เดือน อย่างไรก็ตาม บางรายอาจต้องรอนานกว่านั้น

    ทั้งนี้ ความสำเร็จของการแก้หมัน ยังเกี่ยวข้องกับระยะห่างหลังจากทำหมัน หน่วยงาน National Health Service ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า หากผู้ชายแก้หมันภายใน 3 ปีหลังทำหมัน โอกาสสำเร็จโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หากแก้หมันช้ากว่านั้น โอกาสสำเร็จจะลดลงเรื่อย ๆ

    แก้หมันหญิง

    คือ การผ่าตัดต่อท่อนำไข่ในผู้หญิงที่ถูกตัดและผูกไว้ เพื่อป้องกันตัวอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ และทำให้เกิดการตั้งครรภ์

    โอกาสสำเร็จของการแก้หมันหญิงนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิ สุขภาพของระบบสืบพันธุ์ฝ่ายหญิง สภาพมดลูก และอายุซึ่งไม่ควรเกิน 40 ปี เพราะหากอายุมากกว่านั้นโอกาสตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ เสี่ยงครรภ์เป็นพิษหรือแท้งบุตรสูง

    ขั้นตอนการแก้หมันหญิง

    การแก้หมันหญิง จะใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นรวมประมาณ 2-3 วัน โดยคุณหมอจะส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องก่อน เพื่อตรวจดูสภาพของท่อนำไข่ว่าสามารถต่อได้หรือไม่ หากต่อได้ คุณหมอจะผ่าบริเวณหัวเหน่าเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อสอดเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์เข้าไปแก้มัดท่อนำไข่และเย็บท่อต่อกันทีละข้าง หรือในบางครั้งอาจจะผ่าตัดเปิดบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อประเมินเลยตั้งแต่แรก 

    หลังต่อท่อนำไข่เรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะลองฉีดสีผ่านท่อนำไข่ เพื่อดูว่าท่อนำไข่รั่วหรือไม่ หากไม่พบปัญหา คุณหมอจะเย็บปิดแผล และให้งดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6-8 สัปดาห์

    โอกาสสำเร็จของการแก้หมันหญิง

    ระยะห่างของการแก้หมันหลังจากการทำหมัน มีผลต่อความสำเร็จของการแก้หมัน โดยหากแก้หมันภายใน 5 ปีหลังทำหมัน โอกาสตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ และหากแก้หมันในช่วง 6-10 ปีหลังการทำหมัน โอกาสในการตั้งครรภ์จะเหลือราว 63 เปอร์เซ็นต์

    นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ฝ่ายชาย คุณภาพของตัวอสุจิ ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการตั้งครรภ์อีกด้วย

    ทำหมันแล้วอยากมีลูกด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว

    เด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization หรือ IVF) คือ การปฏิสนธิไข่และอสุจิในห้องทดลอง ก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เติบโตในครรภ์ต่อไป

    ในการทำเด็กหลอดแก้ว ผู้หญิงและผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วอยากมีลูก ไม่จำเป็นต้องแก้หมันก่อน เนื่องจากขั้นตอนการฝังตัวอ่อนในมดลูกของฝ่ายหญิงไม่เกี่ยวข้องกับท่อนำไข่ที่ถูกตัดหรือผูกเอาไว้ ขณะเดียวกัน สำหรับฝ่ายชาย คุณหมอจะใช้เข็มเจาะเข้าไปในอัณฑะแล้วดูดตัวอสุจิออกมาผสมในห้องทดลอง เพราะผู้ชายที่ทำหมันแล้วจะไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ

    เมื่อคู่รักไปขอรับการทำเด็กหลอดแก้วที่สถานพยาบาล คุณหมอจะขอตรวจร่างกายก่อนอนุญาตให้ทำเด็กหลอดแก้ว ดังนี้

    • ความสมบูรณ์ของไข่ของฝ่ายหญิง
    • ความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง
    • ความสมบูรณ์ของอสุจิฝ่ายชาย
    • โรคและภาวะสุขภาพของทั้งคู่

    ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

    การทำเด็กหลอดแก้วซึ่งใช้ระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

    • ให้ฝ่ายหญิงรับประทานยาเพื่อยับยั้งการเกิดรอบเดือน
    • ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์กระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่เพิ่มมากกว่า 1 ฟอง
    • ใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่โตและสมบูรณ์ และตรวจสอบการเติบโตของไข่ด้วยการอัลตราซาวด์
    • นำไข่ออกจากร่างกายฝ่ายหญิง ด้วยการสอดเข็มผ่านช่องคลอดไปถึงรังไข่ แล้วค่อย ๆ สูบไข่ที่พร้อมปฏิสนธิออกมา
    • ผสมไข่กับอสุจิในห้องทดลองเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
    • นำตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมระหว่างไข่และอสุจิ ไปฝังในมดลูกของฝ่ายหญิง
    • ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อรอดูว่าการฝังตัวอ่อนในมดลูกสำเร็จหรือไม่

    โอกาสสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว

    หลังจากการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกประมาณ 14 วัน คุณหมอจะตรวจการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง ด้วยการตรวจเลือด โอกาสสำเร็จขึ้นกับอายุฝ่ายหญิง หากมีอายุต่ำกว่า 35 ปีจะมีโอกาสสำเร็จประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ แต่

    หากผู้หญิงอายุมากกว่านั้น โอกาสสำเร็จมักลดลงเรื่อย ๆ ดังนี้

    • อายุระหว่าง 35-37 ปี โอกาสสำเร็จ 25 เปอร์เซ็นต์
    • อายุระหว่าง 38-39 ปี โอกาสสำเร็จ 19 เปอร์เซ็นต์
    • อายุระหว่าง 40-42 ปี โอกาสสำเร็จ 11 เปอร์เซ็นต์
    • อายุระหว่าง 43-44 ปี โอกาสสำเร็จ 5 เปอร์เซ็นต์
    • อายุระหว่าง 45 ปีขึ้นไป โอกาสสำเร็จ 4 เปอร์เซ็นต์

    นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว คือ

    • ประวัติการตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้วมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์เลย
    • การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมในการใช้ชีวิตซึ่งอาจมีผลต่อความสำเร็จการตั้งครรภ์ประกอบด้วย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติดเพื่อคลายเครียด หากฝ่ายหญิงและชายมีพฤติกรรมสูบบุหรี่หนัก ดื่มเป็นประจำ หรือใช้ยา โอกาสสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วมักค่อนข้างต่ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา