ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome หรือ OHS) ส่งผลกับผู้หญิงที่ได้รับการฉีดยาฮอร์โมนเข้าเส้นเลือด เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาของไข่ในรังไข่ ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นเฟ้อ ในกรณีที่ร้ายแรงอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่า 4.5 กิโลกรัมใน 3-5 วัน และหายใจติดขัดได้
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป คืออะไร
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome หรือ OHS) ส่งผลกับผู้หญิงที่ได้รับการฉีดยาฮอร์โมนเข้าเส้นเลือด เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาของไข่ในรังไข่ อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) หรือการผสมเทียม มีการชักนำให้ไข่ตก (Ovulation Induction) หรือรับการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (Intrauterine Insemination)
การให้ยาฮอร์โมนที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ส่งผลให้รังไข่เกิดการบวมและปวด ผู้หญิงส่วนน้อยอาจจะมีภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ในระดับรุนแรง ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ปวดท้อง อาเจียน และหายใจติดขัด
ในกรณีที่ไม่บ่อยนัก ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป อาจจะเกิดขึ้นขณะที่ทำการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility Treatments) โดยรับประทานยาจำพวกโคลมีฟีน (Clomiphene) เช่น คลอมิด (Clomid) หรือเซโรฟีน (Serophene) ใบบางครั้ง ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะเจริญพันธุ์
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป พบได้บ่อยแค่ไหน
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปในระดับเบานั้น อาจพบในผู้หญิงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการผสมเทียม โดยมีผลกระทบต่อถึงผู้หญิง 33 คน จาก 100 คน คิดเป็นร้อยละ 33 อย่างไรก็ตาม มีแค่ราว 1 ใน 100 คน ที่จะกลายเป็น OHS ระดับกลางหรือรุนแรง อาการส่วนใหญ่อาจหายไปภายใน 7-10 วัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษากับคุณหมอ
อาการ
อาการของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
อาการทั่วไปของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจมีดังนี้
- ท้องอืด แน่นเฟ้อ
- มีอาการปวดท้องน้อยเล็กน้อย
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
บางกรณีหายาก อาจจะมีอาการร้ายแรง เช่น
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่า 4.5 กิโลกรัมใน 3-5 วัน
- มีอาการปวด หรือบวมอย่างรุนแรง บริเวณหน้าท้อง
- ปัสสาวะได้ลดลง
- หายใจติดขัด
- คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง
ควรไปพบหมอเมื่อไร
หากมีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
สาเหตุของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (OHS) ยังไม่เป็นที่เข้าใจแน่ชัด แม้การมีระดับสูง ๆ ของฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งมักจะผลิตมากในช่วงของการตั้งครรภ์ และเข้ามามีบทบาทในระบบของคุณ จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ก็ตาม เนื่องจากหลอดเลือดในรังไข่มีปฏิกิริยาที่ไม่ปกติกับฮอร์โมนเอชซีจี และหลั่งของเหลวออกมา ของเหลวนี้เองที่ทำให้รังไข่มีอาการบวม และบางครั้งก็อาจมีของเหลวจำนวนมากเคลื่อนตัวเข้าสู่ช่องท้อง
ในช่วงของการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ อาจจะมีการให้ฮอร์โมนเอชซีจีเพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ถุงไข่ที่โตเต็มที่ตกไข่ออกมา ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับฮอร์โมนเอชซีจี หากตั้งครรภ์ในช่วงการรักษานี้ ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายมีอาการแย่ลง เพราะร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอชซีจีเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองกับการตั้งครรภ์
การฉีดยาเพื่อรักษาภาวะเจริญพันธุ์นั้น มักจะทำให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปมากกว่าการรักษาด้วยยาแบบรับประทานอย่างโคลมีฟีน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปมีหลากหลายประการ อย่างเช่น
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) คือ การเจริญพันธุ์ผิดปกติที่พบได้ทั่วไป ทำให้เกิดการมีประจำเดือนอย่างไม่ปกติ เกิดขนส่วนเกิน และสังเหตเห็นรังไข่รูปร่างไม่ปกติจากการทำอัลตราซาวด์
- มีถุงไข่จำนวนมากจนเกินไป
- อายุต่ำกว่า 30 ปี
- น้ำหนักน้อย
- มีระดับของเอสโทรน (Estradiol) ซึ่งคือฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) ในปริมาณที่สูง หรือเพิ่มขึ้นสูง ก่อนการได้รับการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นเอชซีจี
- เคยมีภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปมาก่อน
แต่ในบางกรณี ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยแม้แต่น้อยก็เป็นได้
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
หากมีภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินในระดับรุนแรง คุณหมออาจตรวจอาการอย่างละเอียด ทั้งยังอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
จะมีการวัดน้ำหนักและขนาดของหน้าท้อง การตรวจสอบอาจทำได้โดย
- อัลตร้าซาวด์ที่บริเวณท้องหรือช่องคลอด
- เอกซเรย์ที่บริเวณหน้าอก
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (Complete Blood Count)
- ตรวจค่าอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes Panel)
- ตรวจสอบการทำงานของตับ
- ตรวจวัดปริมาณของปัสสาวะ
การรักษาภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
โดยทั่วไปภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป อาจหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาจจะนานกว่านั้น หากคุณตั้งครรภ์ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาเพื่อทำให้รู้สึกสบาย ลดการทำงานของรังไข่ และหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อน
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไประดับเบาถึงปานกลาง
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไประดับเบาอาจจะหายไปเอง การรักษาสำหรับภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไประดับปานกลาง อาจประกอบด้วยขั้นตอนเหล่านี้
- ให้ยาต้านอาการคลื่นไส้ หรือยาแก้ปวดที่แพทย์สั่งให้ หรือให้ทั้งสองอย่าง
- ตรวจร่างกายและทำอัลตร้าซาวด์บ่อย ๆ
- ชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอวทุกวัน เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง
- วัดระดับปัสสาวะที่ผลิตได้ในแต่ละวัน
- ตรวจเลือดเพื่อคอยสังเกตระดับการคายน้ำ อิเล็กโทรไลต์ที่ไม่สมดุล และปัญหาอื่น ๆ
- บริโภคน้ำให้เพียงพอ
- ถ่ายของเหลวที่อยู่ในท้องโดยการใช้เข็มจิ้มเข้าไปในช่องท้อง
- ใช้ถุงน่องซัพพอร์ต (Support Stockings) เพื่อช่องป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปแบบรุนแรง
สำหรับภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปแบบรุนแรง อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อคอยสังเกตการณ์และใช้การรักษาที่จริงจังขึ้น รวมไปถึงการให้ของเหลวเข้าเส้นเลือด คุณหมออาจจะให้ยาคาเบอร์โกลีน (Cabergoline) เพื่อลดอาการของคุณ ในบางกรณีคุณหมออาจจะให้ยาชนิดอื่น คือ ยาปิดกั้นตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง (Gonadotropin Releasing Hormone Antagonist) เพื่อกดการทำงานของรังไข่
อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงบางอย่าง อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มมากขึ้น เช่น การผ่าตัดเพื่อนำซีสต์รังไข่ที่ฉีกขาดออก หรือการดูแลอย่างเข้มงวดสำหรับอาการแทรกซ้อนที่ตับหรือปอด คุณอาจต้องรับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant Medications) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดที่ขา
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่จะช่วยรับมือกับภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองต่อไปนี้อาจช่วยรับมือกับอาการของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปได้
- สำหรับอาการไม่สบายในท้อง อาจรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (acetaminoph) อย่างเช่น ไทลินอลหรืออื่น ๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาไอบูโพรเฟน อย่างเช่น แอดวิล (Advil) มอทริน ไอบี (Motrin IB) และอื่น ๆ หรือยานาพรอกเซน (naproxen sodium) อย่างเช่น อะลีฟ (Aleve) และอื่น ๆ เพราะยาพวกนี้อาจส่งผลต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด และอาจทำให้ซีสต์ในรังไข่ฉีกขาดได้
- รักษาระดับของการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ จ็อกกิ้ง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่รุนแรงหรือมีผลกระทบสูง
- ชั่งน้ำหนักและวัดรอบท้องทุก ๆ วัน แจ้งให้คุณหมอทราบหากมีการเพิ่มขึ้นอย่างไม่ปกติ