โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และพบได้ในผู้ที่อายุน้อยลง สาเหตุสำคัญก็คือภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดย ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมา จนเป็น โรคเบาหวาน ได้ มีงานวิจัยและหลักฐานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องที่ว่า การออกกำลังกาย จะสามารถลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งหมายความว่า ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ แต่หากท่านเป็น โรคเบาหวาน แล้วล่ะ? การออกกำลังกาย จะมีประโยชน์หรือไม่ในเมื่อเป็น โรคเบาหวาน ต้องกินยาลดน้ำตาลหรือกระทั่งฉีดอินซูลินแล้วด้วยซ้ำ? Hello คุณหมอ จะชวนมาอ่านบทความนี้ ซึ่งจะช่วยอธิบายความสัมพันธ์และความสำคัญของ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ว่าควรออกกำลังกายแบบใด
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ทำได้อย่างไรบ้าง
ตามแนวทางเวชปฏิบัติของ สมาคมโรคเบาหวาน สหรัฐอเมริกา ได้บรรยายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานอย่างชัดเจนว่า การออกกำลังกาย ถือเป็นหนึ่งในการรักษาหลัก และมีความสำคัญ ไม่แตกต่างจากการรับประทานยาลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน (Insulin)
หากกล่าวโดยภาพรวม ผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 ควรออกกำลังกาย ไม่น้อยกว่า 150 นาที ต่อสัปดาห์ โดยเมื่อมีการออกกำลังกายดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ กอปรกับการควบคุมอาหาร ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ มีความแตกต่างจากผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย อย่างมีนัยสำคัญ
ถึงบรรทัดนี้แล้ว สามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจเลยครับว่า ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะสม และทำให้น้ำตาลลดได้ตามเป้าหมาย รวมถึงลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้กันแน่
การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
คำตอบก็คือ การออกกำลังกายแบบใดก็ได้ ในแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เพียงให้ร่างกายได้ขยับมากขึ้น เคลื่อนไหวมากขึ้น ก็ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว หากจะจำแนกโดยละเอียดแล้ว การออกกำลังกายนั้นแบ่งออกหลัก ๆ ได้เป็น 4 ประเภทคือ
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิค
- การออกกำลังกายแบบการเกร็งกล้ามเนื้อ
- การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น
- การออกกำลังกายแบบทรงตัว
ในบทความฉบับถัดไป เราจะมาเจาะลึกรายละเอียด การออกกำลังกายในแต่ละประเภทกันครับ
[embed-health-tool-bmi]