เลือดจาง หรือภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ โดยอาการเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร การเสียเลือดในปริมาณมากจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการแท้งบุตร
คำจำกัดความ
เลือดจาง คืออะไร
เลือดจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะเลือดจาง คือ การขาดธาตุเหล็ก ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น การเสียเลือดแบบเฉียบพลันจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ การแท้งบุตร เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาภาวะเลือดจางอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น หากเกิดจากสาเหตุการขาดธาตุเหล็ก คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กอย่าง เนื้อวัว ถั่ว ผักใบเขียว เป็นต้น
อาการ
อาการเลือดจาง
ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดจางอาจมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยอาการที่พบได้บ่อยของภาวะเลือดจาง มีดังต่อไปนี้
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ตัวซีดหรือตัวเหลือง
- เจ็บหน้าอก
- ง่วงซึม
- มือและเท้าเย็น
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- หายใจถี่
- ปวดศีรษะ
- วิงเวียนศีรษะ
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เลือดจาง
ภาวะเลือดจางอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะเลือดจาง เมื่อร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป อาจส่งผลให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ
- การสูญเสียเลือดแบบเฉียบพลัน เช่น การผ่าตัด การแท้งบุตร อุบัติเหตุ
- การสูญเสียเลือดเรื้อรัง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ริดสีดวงทวาร การเสียเลือดจากการมีประจำเดือน
- การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเลือดจาง
ปัจจัยต่อไปนี้ อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะเลือดจางได้
- ขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดจางได้
- ความผิดปกติของลำไส้ ที่อาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารภายในลำไส้เล็ก เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- ประจำเดือน ผู้หญิงวัยมีประจำเดือนเสี่ยงเกิดภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่าผู้หญิงหมดวัยประจำเดือน เพราะประจำเดือนอาจทำให้เม็ดเลือดแดงภายในร่างกายลดลง
- การตั้งครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กและกรดโฟลิก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดจาง
- โรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งบางชนิด โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ โรคไขข้ออักเสบ อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดจางได้
- พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเกี่ยวกับภาวะเลือดจาง เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เสี่ยงเกิดของภาวะโลหิตจางได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดจางได้เช่นกัน เช่น การรับประทานยาที่ทำให้เยื่อบุกระเพาะอักเสบ อย่างไอบูโพรเฟน เป็นประจำ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเลือดจาง
ในเบื้องต้นคุณหมอจะซักประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมถึงตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยวิธีที่นิยมใช้ที่สุดก็คือ การนับปริมาณเม็ดเลือดแดง การวินิจฉัยด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คุณหมอทราบว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยมีปริมาณ ขนาด และรูปร่างอย่างไร อีกทั้งยังสามารถระบุได้อีกว่า ผู้ป่วยมีปริมาณวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 สะสมอยู่เท่าใด
นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้วิธีการวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น การตรวจหาเลือดปนในอุจจาระ โดยประเมินภาวะเลือดออกจากระบบทางเดินอาหาร เพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดจางหรือไม่
การรักษาภาวะเลือดจาง
วิธีการรักษาภาวะเลือดจางอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยวิธีที่ใช้อาจมีดังต่อไปนี้
- อาหารเสริมธาตุเหล็ก คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ถั่ว ผักใบเขียว เนื้อวัว รวมถึงอาหารเสริมหรือวิตามินเสริมที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น วิตามินซี
- การให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำ เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเลือดจางจากโรคไตวายเรื้อรัง
- การถ่ายเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดจางรุนแรง คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือด เพื่อเพิ่มระดับฮีโมโกลบินในร่างกาย
- ผ่าตัด หากภาวะโลหิตจางเกิดจากเลือดออกภายในร่างกาย คุณหมออาจต้องผ่าตัดเพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดมาก
- ปลูกถ่ายไขกระดูก ภาวะเลือดจางที่เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว อาจต้องปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่สำหรับผู้ป่วยบางราย คุณหมออาจฉีดยากระตุ้นฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ร่วมด้วย เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่อาจช่วยให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงของเลือดจาง
การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะเลือดจางได้
- ธาตุเหล็ก พบมากในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว ผักใบเขียว ถั่ว ผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น
- วิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น
- วิตามินบี 9 พบมากในผลไม้ น้ำผลไม้ ขนมปัง ถั่วลันเตา ถั่วแดง ถั่วลิสง เป็นต้น
- วิตามินซี พบมากในผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี แตงโม เป็นต้น