backup og meta

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูก งูกัด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูก งูกัด

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้สึกกลัวงู เพราะรูปลักษณ์ที่หน้ากลัว ของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ แต่จริงๆ แล้ว งูนั้นจะกลัวคน มากกว่าที่คนกลัวงูด้วยซ้ำ งูส่วนใหญ่นั้นจะไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ หากมนุษย์ไม่ไปแหย่งูก่อน และงูที่มีพิษนั้นมีแค่ 400 สายพันธุ์ จากงูทั้งหมด 3,000 สายพันธุ์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากคุณโดน งูกัด ขึ้นมา ทาง Hello คุณหมอ ก็มีวิธีดีๆ ที่จะทำการปฐมพยาบาลดังต่อไปนี้

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูก งูกัด

อย่าตระหนก และพยายามดูว่างูที่กัดนั้นเป็นงูชนิดไหน

เมื่อคุณถูก งูกัด ก่อนอื่นเลยคือ คุณควรจะระงับสติ และพยายามเอาตัวออกจากจุดที่มีงูอยู่ พยายามอย่าไปจับงู เพราะอาจทำให้โดนกัดอีกครั้งได้ นอกจากนี้คุณยังควรจะพยายามจดจำลักษณะของงูที่กัดคุณ หรือถ่ายรูปงูเอาไว้ เพื่อให้แพทย์สามารถระบุชนิดของงูได้ และทำการรักษาอย่างถูกวิธี งูแต่ละชนิดนั้นต้องการเซรุ่มต้านพิษงูที่ต่างกัน

อยู่เฉยๆ อย่าขยับตัวมากเกินไป

เมื่อคุณโดนงูกัด งู สามารถฉีดพิษเข้าร่างกายจากต่อมพิษผ่านไปทางเขี้ยว และเมื่อพิษงูเข้าสู่ร่างกายอยู่ในกระแสเลือด พิษจะค่อยๆ แพร่กระจายออกไปทั่วร่างกาย การขยับตัวจะยิ่งเพิ่มความเร็วในการแพร่กระจายของพิษ และทำให้คุณมีโอกาสเสียชีวิตได้เร็วขึ้น

พยายามทิ้งน้ำหนักลงไปในบริเวณที่งูกัด

หากบริเวณที่โดนงูกัดนั้นไม่มีบาดแผลร้ายแรงใดๆ ควรจะกดน้ำหนักลงในบริเวณที่โดนงูกัด การกดน้ำหนักลงไปในบริเวณที่โดนกัดจะช่วยไม่ให้ พิษงู แพร่กระจายไปทั่วร่างกายเร็วเกินไป วิธีนี้จะใช้กันอย่างแพร่หลายในออสเตรเลีย เมื่อกดแผลแล้วให้ทำการดามด้วยไม้เพื่อจำกัดการไหลเวียนของเลือด แต่ระวังอย่าให้แน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไม่ไหลเวียนและเป็นอันตรายได้

ปิดแผลด้วยผ้าแห้ง และห้ามใช้น้ำล้างแผลโดยเด็ดขาด

พันปิดบริเวณแผลด้วยผ้าที่แห้งและสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคเข้าไปในแผล พันให้แน่นๆ แบบเดียวกับที่พันข้อเท้าเวลาอักเสบ นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้น้ำล้างแผลเป็นอันขาด เพราะการล้างแผลอาจชะล้างร่องรอยของพิษที่อยู่ในแผลที่แพทย์อาจจะใช้เพื่อจำแนกชนิดของงู แพทย์สามารถนำตัวอย่างพิษไปวิเคราะห์เพื่อดูว่าเป็น งู ชนิดไหน หากคุณไม่แน่ใจชนิดของงูที่กัดคุณ

ถอดอุปกรณ์หรือเครื่องประดับออกจากบริเวณที่งูกัด

ถอดเครื่องประดับหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่รัดอยู่ในบริเวณที่งูกัด เช่น แหวน หรือเครื่องประดับอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เลือดไม่ไหลเวียนได้ หากบาดแผลที่โดนงูกัดนั้นมีอาการบวมขึ้น

ห้ามดูดแผลบริเวณที่งูกัดเด็ดขาด

คุณอาจจะเคยได้ยินมานานแล้วเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการดูดพิษงูออกจากแผลที่โดนงูกัด ในความจริงแล้ว การดูดในบริเวณที่โดนงูกัดนั้นแทบจะไม่ได้จำกัดพิษงู ออกไปจากร่างกายเลย ทั้งยังอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณที่โดนงูกัดอีกด้วย ในปัจจุบันนั้นไม่จัดว่าการดูด พิษงู ออกจากแผลนั้นเป็นวิธีการรักษาผู้ถูกงูกัดอีกแล้ว

ติดต่อแพทย์เพื่อรับการรักษา

ควรรีบนำตัวผู้ที่โดนงูกัดส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษ และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย ยิ่งรอให้เวลาผ่านไปนานมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ป่วยที่โดนงูกัดก็จะยิ่งมีอาการแย่ขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอาการหายใจติดขัด สถานะทางจิตเปลี่ยนไป เลือดออก มีอาการปวดมากขึ้น หรือมีอาการบวมขึ้น หากสามารถทำการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แพทย์จะสามารถให้เซรุ่มต้าน พิษงู เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้อย่างมาก

การโดนงูกัดอาจจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจและอันตราย แต่หากคุณสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต และลดความเสี่ยงที่อวัยวะที่โดนงูกัดนั้นจะโดน พิษงู ทำลายได้เป็นอย่างมาก

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Snakebite (Snake Bite). https://www.emedicinehealth.com/snakebite/article_em.htm#snakebite_definition_and_facts. Accessed 23 August 2019.

How to identify and treat snake bites. https://www.medicalnewstoday.com/articles/324007.php. Accessed 23 August 2019.

Snakebite. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/snakebite#1. Accessed 23 August 2019.

Snake Bites. https://www.healthline.com/health/snake-bites. Accessed 23 August 2019.

Snakebite Treatment. https://www.webmd.com/first-aid/snakebite-treatment . Accessed 23 August 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/08/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้วัคซีน ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้อย่างไร

วิธีปฐมพยาบาลอาการแพ้รุนแรง ที่คุณควรรู้ไว้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา