backup og meta

วัยรุ่น กับพัฒนาการทางจิตใจที่ควรให้ความสำคัญ

วัยรุ่น กับพัฒนาการทางจิตใจที่ควรให้ความสำคัญ

วัยรุ่น เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระบบประสาท รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจทำให้วัยรุ่นรู้สึกอยากรู้ อยากลอง กดดัน หรืออาจมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ของตนเอง ความสนใจในเรื่องเพศ หรือต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ดูแลและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

วัยรุ่น คืออะไร

วัยรุ่น คือ ช่วงวัยที่มีอายุระหว่าง 10-21 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ วัยรุ่นจึงต้องมีการปรับตัวต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระบบประสาทที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด จึงทำให้วัยรุ่นเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น ต้องการอิสระ มีความสนใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง แสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง รวมถึงมีความสนใจในเรื่องเพศ สนใจที่จะเข้าสังคม และต้องการการยอมรับในสังคมมากขึ้น

ความสำคัญของพัฒนาการทางจิตใจของวัยรุ่น

ช่วงวัยรุ่นแบ่งออกเป็นวัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลาย ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

วัยรุ่นตอนต้น อายุ 10-13 ปี

ในช่วงนี้ร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น มีขนรักแร้ มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ เต้านมและอัณฑะขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหล่านี้อาจกระตุ้นให้วัยรุ่นเกิดความอยากรู้ หรืออาจเกิดความวิตกกังวลในบางเรื่อง เช่น กังวลเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง เริ่มสนใจในเรื่องเพศมากขึ้น กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ

วัยรุ่นตอนต้นยังคงมีความคิดที่เป็นรูปธรรม โดยคิดว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ และยังคงให้ความสำคัญกับตนเองเป็นอันดับแรก จนอาจทำให้วัยรุ่นในช่วงอายุนี้รู้สึกประหม่าเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ วัยรุ่นอาจเริ่มมีความต้องการเป็นอิสระจากครอบครัวมากขึ้น จนอาจสร้างขอบเขตหรือเริ่มถอยห่างจากพ่อแม่ และเมื่อเกิดความไม่พอใจ วัยรุ่นตอนต้นอาจแสดงออกหรือตอบสนองด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว

วัยรุ่นตอนกลาง อายุ 14-17 ปี

ในช่วงนี้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยังคงดำเนินต่อไป เช่น ผู้ชายอาจมีเสียงแตกหนุ่ม เกิดสิว ผู้หญิงอาจเริ่มมีประจำเดือน และเริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศมากขึ้น รวมถึงอาจเริ่มมีความสนใจในเพศตรงข้ามหรือความสัมพันธ์แบบคู่รัก หรือในบางคนอาจเริ่มทดลองช่วยตัวเองเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ทางเพศ

วัยรุ่นตอนกลางมักต้องการความเป็นอิสระที่มากขึ้น จนบางครั้งอาจแสดงพฤติกรรมโต้เถียงพ่อแม่เพื่อแสดงจุดยืนหรือความคิดของตนเอง นอกจากนี้ วัยรุ่นจะเริ่มใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง หันมาใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น และอาจมีความรู้สึกกดดันหรือวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของตนเอง

ในด้านความคิด วัยรุ่นตอนกลางจะเริ่มมีความคิดเป็นนามธรรมมากขึ้น เริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ในภาพรวม มีความสามารถในการพิจารณาทางเลือกและคาดการณ์ผลที่จะตามมาได้มากขึ้น แต่ยังอาจขาดความสามารถในการนำไปปฏิบัติใช้จริง เช่น รู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย แต่อาจไม่ปฏิบัติตาม เพราะคิดว่าแค่ครั้งเดียวคงไม่เป็นอะไร

วัยรุ่นตอนปลาย อายุ 18-21 ปี

วัยรุ่นตอนปลายมีพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์ เพื่อเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ วัยรุ่นในช่วงนี้จะมีความคิด การควบคุมอารมณ์ และอาจสามารถประเมินความเสี่ยงและผลกระทบของการกระทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เช่น ต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ว่าแฟนจะกินยาคุมกำเนิดอยู่ก็ตาม เพราะการกินยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

นอกจากนี้ วัยรุ่นตอนปลายจะมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเองมาก สามารถระบุความชอบของตนเองได้ เริ่มมองชีวิตในอนาคตมากขึ้น และมีความมั่นคงในด้านความคิด มิตรภาพ และความสัมพันธ์แบบคู่รักมากขึ้น หรือบางคนอาจเริ่มสร้างความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่กับคนในครอบครัว โดยถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าวัยรุ่นในแต่ละช่วงวัยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม อย่างเป็นขั้นตอน พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นในช่วงนั้น ๆ เพื่อให้วัยรุ่นมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางจิตใจวัยรุ่น

ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการทางจิตใจวัยรุ่น อาจมีดังนี้

  • ปัจจัยภายใน เป็นปัจจัยที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน เพศ ลักษณะรูปร่าง พื้นฐานอารมณ์ สภาพร่างกาย
  • ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมรอบตัววัยรุ่นที่อาจมีส่วนทำให้วัยรุ่นต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาตนเองและการอยู่รอด เช่น การอบรมเลี้ยงดู ทัศนคติของพ่อแม่ บุคลิกภาพของพ่อแม่ ค่านิยมของพ่อแม่ สภาพครอบครัว สภาพเพื่อนบ้าน สภาพสังคม ศาสนา วัฒนธรรม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

สภาพจิตใจของวัยรุ่น. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06062014-0847. Accessed August 15, 2022

พัฒนาการทางจิตใจ. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06242014-1920. Accessed August 15, 2022

Stages of Adolescence. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/teen/Pages/Stages-of-Adolescence.aspx. Accessed August 15, 2022

HEALTH FOR THE WORLD’S ADOLESCENTS. https://apps.who.int/adolescent/second-decade/section2/page5/adolescence-psychological-and-social-changes.html#:~:text=Psychosocial%20changes.&text=Over%20the%20course%20of%20the,thinking%20and%20making%20rational%20judgements. Accessed August 15, 2022

Adolescent Development. https://youth.gov/youth-topics/adolescent-health/adolescent-development#:~:text=Adolescence%20is%20the%20developmental%20transition,because%20of%20these%20rapid%20changes. Accessed August 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/10/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางร่างกายและสติปัญญา

ฝันเปียกคืออะไร ผิดปกติหรือไม่ และเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับฝันเปียก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา