backup og meta

ผลการประเมินสภาพทารกแรกเกิด หรือ Apgar score คืออะไร

ผลการประเมินสภาพทารกแรกเกิด หรือ Apgar score คืออะไร

Apgar score หรือ คะแนนแอปการ์ คือ ผลการประเมินสภาพร่างกายทารกแรกเกิด ที่ได้จากการทดสอบสุขภาพหลังคลอดของทารกในเบื้องต้น Apgar score แบ่งเป็นระดับคะแนนตั้งแต่ 1-10 หากทารกได้คะแนนต่ำกว่า 7 ถือว่ามีปัญหาสุขภาพที่อาจต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ ทั้งนี้ คะแนนแอปการ์เป็นคะแนนที่ใช้ในการประเมินร่างกายเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นเกณฑ์วัดสุขภาพของทารกในระยะยาว สำหรับทารกที่ได้คะแนนแอปการ์น้อยกว่าเกณฑ์ หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ก็อาจมีพัฒนาการเหมือนทารกทั่วไปได้

Apgar score คือ อะไร

Apgar score หรือ คะแนนแอปการ์ คือ ผลการประเมินสภาพร่างกายทารกแรกเกิด เมื่อทารกลืมตาดูโลก คุณหมอและพยาบาลจะประเมินคะแนนแอปการ์ประมาณ 2-3 ครั้ง คือ หลังทารกลืมตาดูโลก 1 นาที เพื่อประเมินว่าทารกทนกระบวนการคลอดได้ดีหรือไม่ จากนั้นจะประเมินคะแนนแอปการ์ซ้ำ เมื่อทารกลืมตาดูโลกได้ 5 นาที หากประเมินแล้วพบอาการผิดปกติ คุณหมอจะประเมินซ้ำอีกครั้ง เมื่อทารกลืมตาดูโลกได้ 10 นาที

คำว่า “Apgar” เป็นคำที่ย่อมาจากตัวบ่งชี้สุขภาพทารกแรกเกิด ดังต่อไปนี้

  • ลักษณะ (Appearance) ประเมินจากสีผิวของทารก (Skin color) ว่าผิดปกติหรือไม่
  • ชีพจร (Pulse) ประเมินจากอัตราการเต้นของหัวใจทารก (Heart rate) ด้วยสเต็ตโทสโคป (Stethoscope) หรือเครื่องตรวจฟังของคุณหมอ ซึ่งเป็นการประเมินที่สำคัญที่สุด โดยปกติ อัตราการเต้นของหัวใจของทารกแรกเกิดควรอยู่ที่ 100-160 ครั้ง/นาที
  • ปฏิกิริยาตอบสนอง (Grimace) ประเมินจากการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นโดยอัตโนมัติ (Reflex irritability) ของทารก โดยคุณหมออาจกระตุ้นทารกด้วยการเขี่ยเท้า การลูบหลัง เป็นต้น หากทารกมีใบหน้าบึ้งตึง ดิ้นหนี ถือว่ามีการตอบสนอง และถือเป็นสัญญาณที่ดี
  • การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Activity) ประเมินจากการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของทารก
  • การหายใจ (Respiration) ประเมินการหายใจเข้า-ออก และความพยายามในการหายใจเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายของทารก (Breathing rate and effort)

เกณฑ์การวัด Apgar score ของตัวบ่งชี้ต่าง ๆ

ระดับคะแนนที่ใช้ในการประเมินคะแนนแอปการ์ จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 0 1 และ 2 โดยตัวบ่งชี้แต่ละข้อ จะใช้เกณฑ์ในการให้คะแนนดังนี้

A – Appearance หรือลักษณะสีผิว

  • 0 คะแนน – สีผิวของทารกเป็นสีน้ำเงิน สีเทา หรือซีดกว่าปกติ
  • 1 คะแนน – สีผิวของทารกเป็นสีชมพู แต่ปลายแขนและขาเป็นสีฟ้า
  • 2 คะแนน – สีผิวของทารกเป็นสีชมพูเรื่อทั้งตัว

P – Pulse หรืออัตราการเต้นของหัวใจ

  • 0 คะแนน – ไม่มีการเต้นของหัวใจ
  • 1 คะแนน – อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้ง/นาที
  • 2 คะแนน – อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที

G- Grimace หรือปฏิกิริยาตอบสนอง

  • 0 คะแนน – ทารกไม่ตอบสนอง
  • 1 คะแนน – ทารกมีใบหน้าบึ้งตึงหรือมีอาการต่อต้านให้เห็น
  • 2 คะแนน -ทารกมีใบหน้าบึ้งตึงหรือมีอาการต่อต้าน ไอ จาม หรือร้องไห้อย่างหนัก

A – Activity หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

  • 0 คะแนน -ทารกมีร่างกายปวกเปียก
  • 1 คะแนน -ทารกขยับบ้าง แขนขางอเล็กน้อย
  • 2 คะแนน -ทารกมีการเคลื่อนไหวได้ดี

R – Respiration หรือความพยายามในการหายใจ

  • 0 คะแนน – ทารกไม่หายใจ
  • 1 คะแนน –  ทารกหายใจช้าหรือไม่สม่ำเสมอ
  • 2 คะแนน –  ทารกร้องไห้เสียงดัง

ผลประเมินคะแนนแอปการ์

ผลประเมิน: 8-10 คะแนน

ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะได้คะแนนแอปการ์ 7-9 คะแนน กรณีที่ทารกได้คะแนนแอปการ์เต็ม 10 พบได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากผิวหนังบริเวณเท้าของทารกแรกเกิดมักมีสีน้ำเงิน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีผิวปกติเมื่อผิวหนังอุ่นขึ้น ทารกที่ได้รับคะแนน Apgar ในระดับนี้ถือว่ามีสุขภาพแข็งแรง และไม่ต้องเฝ้าติดตามอาการเพิ่มเติม

ผลประเมิน: 5-7 คะแนน

หากทารกได้คะแนนแอปการ์ ประมาณ 5-7 ในช่วง 1 นาทีแรกหลังลืมตาดูโลก อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดปัญหาตอนคลอดที่ทำให้ออกซิเจนในเลือดของทารกลดลง พยาบาลหรือผู้ดูแลอาจเริ่มให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และใช้ผ้าสะอาดเช็ดตัวทารกเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจน หลังถูกกระตุ้น ทารกที่สุขภาพแข็งแรงจะมีปฏิกิริยาตอบสนองดีขึ้น และเมื่อประเมินสภาพทารกครั้งที่ 2 อาจได้คะแนนเพิ่มเป็น 8-9 แต่หากประเมินครั้งที่ 2 แล้ว อาการและผลคะแนนยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด (Birth asphyxia)

ผลประเมิน: น้อยกว่า 5 คะแนน

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่ผ่าคลอดฉุกเฉิน อาจได้คะแนนแอปการ์ น้อยกว่า 5 ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางระบบหายใจหรือการทำงานของหัวใจที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทารกที่ได้คะแนน Apgar น้อยกว่า 5 คะแนนอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์พยุงชีพเพื่อกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และคุณหมออาจนำก๊าซในเลือดจากบริเวณสายสะดือไปตรวจวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติม

การดูแลของคุณหมอเมื่อพบความผิดปกติ

หากทารกได้รับคะแนนแอปการ์ น้อยกว่า 7 คะแนน คุณหมอจะรักษาตามอาการที่พบด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ เป็นต้น การประเมินคะแนนแอปการ์เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองทารกแรกเกิดที่อาจต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และเป็นเพียงการประเมินสุขภาพทารกในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่บอกถึงสุขภาพของทารกในอนาคต แม้ทารกบางคนจะได้คะแนนแอปการ์ น้อย แต่ก็สามารถเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติได้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What To Know About an Apgar Score. https://www.webmd.com/parenting/baby/what-to-know-about-apgar-score. Accessed May 13, 2022

Apgar Scores. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/prenatal/delivery-beyond/Pages/Apgar-Scores.aspx. Accessed May 13, 2022

Apgar score. https://medlineplus.gov/ency/article/003402.htm. Accessed May 13, 2022

The Apgar Score. https://www.acog.org/clinical/clinical-guidance/committee-opinion/articles/2015/10/the-apgar-score. Accessed May 13, 2022

Newborn Screening Tests. https://familydoctor.org/newborn-screening-tests/. Accessed May 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/06/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการโคลิค ในทารกแรกเกิด และวิธีรักษา

ไหลตายในเด็กทารก หรือ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome)


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/06/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา