backup og meta

Dyslexia คืออะไร

Dyslexia คืออะไร

Dyslexia หรือ ความบกพร่องในการอ่านหนังสือการสะกดคำและการเขียน จัดเป็นปัญหาการเรียนในเด็กชนิดหนึ่ง คือ ภาวะที่ผิดปกติที่เกิดในเด็ก ส่งผลกระทบต่อสมองในส่วนของการประมวลภาษา เกิดปัญหาในการอ่าน เขียน พูด หรือสะกดคำ เด็กที่เป็นโรค Dyslexia อาจมีสายตาปกติ มีสติปัญญาดี ฉลาด ขยัน และอาจประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ หากได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ การฝึกฝน และเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะทาง

Dyslexia คือ 

Dyslexia เป็นความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง หรือที่เรียกว่า ความบกพร่องในการอ่าน อาจส่งผลต่อความสามารถในการใช้ภาษา สะกดคำ ผสมคำ เขียน และพูด รวมถึงการอ่าน อาจใช้เวลาในการอ่านนานกว่าเด็กทั่วไป หรือมีการใช้คำที่สับสน ผลกระทบของ Dyslexia อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การได้รับคำแนะนำและการพัฒนาทักษะที่ถูกต้อง อาจช่วยให้เด็กที่เป็นโรค Dyslexia มีสายตาปกติ และมีสติปัญญาพอ ๆ กับเด็กคนอื่น 

ผู้ที่เป็นโรค Dyslexia อาจได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุยังน้อย แต่บางคนก็อาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค Dyslexia จนอายุมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Dyslexia และยังคงต้องศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป 

สำหรับประเภทของ Dyslexia อาจแบ่งได้ดังนี้

  • Rapid Naming Deficit คือ ความบกพร่องในการออกเสียงตัวอักษร หรือตัวเลขที่มองเห็น
  • Double Deficit Dyslexia คือ ความบกพร่องในการแยกเสียงคำกับความหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการอ่านคำ หรือตัวเลขที่มองเห็น และอาจรวมถึงรูปภาพด้วย
  • Surface Dyslexia หรือ Visual Dyslexia เป็นความบกพร่องที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และจดจำคำต่าง ๆ ที่อ่านไป
  • Phonological Dyslexia เป็นความบกพร่องในการแยกแยะคำ หรืออาจมีปัญหากับเสียงของตัวอักษร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจับคู่เสียง ทำให้ไม่สามารถเขียนสิ่งที่ได้ยินออกมาเป็นตัวอักษรได้

อาการของ Dyslexia

สัญญาณของ Dyslexia อาจปรากฏชัดเจนเมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน และต้องเรียนรู้วิธีการอ่านและเขียนมากขึ้น ซึ่งผู้ที่สังเกตเห็นคนแรกอาจเป็นคุณครู ระดับความรุนแรงของ Dyslexia อาจแตกต่างกันออกไป โดยอาการที่พบได้ในเด็กแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้

เด็กก่อนวัยเรียน

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรค Dyslexia อาจได้แก่

  • เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ช้า
  • มีปัญหาในการสร้างคำ รวมถึงมีความสับสนกับคำที่ออกเสียงเหมือนกัน
  • พูดช้า
  • มีปัญหาในการเข้าใจเพลงกล่อมนอน 
  • มีปัญหาในการจดจำตัวอักษร สี และตัวเลข

เด็กวัยเรียน

เมื่อเด็กต้องเข้าโรงเรียน อาการของ Dyslexia อาจชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงอาการเหล่านี้

  • มีปัญหาในการลำดับขั้นตอนต่าง ๆ
  • ไม่สามารถออกเสียงที่คุ้นเคยได้
  • อาจมองเห็นได้ลำบาก บางครั้งอาจมีปัญหาในการได้ยินคำและตัวอักษรที่มีความเหมือนหรือแตกต่างกัน
  • ความสามารถในการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น
  • มีปัญหาเรื่องการสะกดคำ
  • มีปัญหาในการประมวลผลและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้ยิน
  • พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน
  • ใช้เวลาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอ่านหรือเขียนนานผิดปกติ
  • มีปัญหาในการใช้คำที่เหมาะสมสำหรับการตอบคำถามที่ได้ยิน

วัยรุ่นและผู้ใหญ่

อาการของ Dyslexia ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่อาจคล้ายกับเด็ก ซึ่งอาการที่อาจได้พบบ่อย มีดังนี้

  • มีปัญหาในการออกเสียง หรือมีปัญหาในการใช้คำ
  • มีปัญหาในการทำความเข้าใจกับเรื่องต่าง ๆ หรือสำนวนที่มีความหมายเข้าใจยาก
  • มีปัญหาในเรื่องของการจำ
  • มีปัญหาในการเรียนภาษาต่างประเทศ
  • มีปัญหาในการอ่าน และการอ่านออกเสียง
  • มีปัญหาในการสะกดคำ
  • มีปัญหาในการสรุปเรื่องราวต่าง ๆ
  • มีปัญหากับการคำนวณ (Dyscalculia)
  • ใช้เวลาในการอ่านและเขียนนานกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน
  • ใช้เวลาในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอ่านและเขียนนานกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ อาจมีทักษะที่ดีในด้านอื่น ๆ เช่น การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ดนตรี กีฬา ศิลปะ

สาเหตุของ Dyslexia

สาเหตุของ Dyslexia อาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นโรค Dyslexia เด็กก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน Dyslexia อาจเกิดจากยีน DCDC2 (Doublecortin Domain Containing Protein 2) ซึ่งเป็นยีนที่ส่งผลต่อสมองในส่วนของการประมวลผลภาษาและการอ่าน และในบางคนอาจเกิดจากระบบประสาทและสมองกระทบกระเทือน เช่น บาดเจ็บที่สมอง โรคหลอดเลืองสมอง 

การวินิจฉัย Dyslexia

ยังไม่มีการทดสอบใดที่สามารถวินิจฉัยโรค Dyslexia ได้อย่างชัดเจน แต่อาจพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • พัฒนาการของเด็ก ปัญหาทางการศึกษา และประวัติทางการแพทย์ โดยคุณหมออาจถามว่ามีใครในครอบครัวมีความบกพร่องในการอ่านหรือไม่
  • แบบสอบถาม คุณหมออาจทดสอบโดยการให้เด็ก สมาชิกในครอบครัว หรือคุณครู ตอบคำถามด้วยการเขียน เพื่อระบุความสามารถในการอ่าน
  • การทดสอบทางการอ่านและทักษะทางวิชาการอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านอาจทำการทดสอบทักษะทางด้านการอ่าน เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการและคุณภาพในการอ่าน
  • ชีวิตที่บ้าน คุณหมออาจสอบถามเด็กเกี่ยวกับชีวิตที่บ้าน รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อดูว่าที่บ้านมีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่
  • การทดสอบทางจิตวิทยา คุณหมออาจถามคำถามกับเด็ก และคุณพ่อคุณแม่ เพื่อดูว่าเด็กมีปัญหาทางบ้าน ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าที่อาจจำกัดความสามารถในการเรียนรู้หรือไม่
  • การทดสอบการมองเห็น การได้ยิน และสมอง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจช่วยระบุความผิดปกติอื่นอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อความบกพร่องในการอ่านของเด็ก

การรักษา Dyslexia

การรักษาโรค Dyslexia อาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยอาจทำได้ดังนี้

โปรแกรมการอ่านโดยผู้เชี่ยวชาญ

เด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่านอาจมีปัญหาในการจับคู่คำกับความหมาย หรือมีปัญหาในการจับคู่ตัวอักษรกับการออกเสียง ดังนั้น อาจต้องให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือเกี่ยวกับการอ่านและเขียน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดังต่อไปนี้

  • เข้าใจสิ่งที่อ่านได้มากขึ้น
  • อ่านเร็วขึ้น
  • เขียนได้ดีขึ้น
  • มีพัฒนาด้านการออกเสียงตัวอักษรและคำ

สำหรับโปรแกรมการอ่านที่อาจช่วยพัฒนาความบกพร่องด้านการอ่าน อาจมีดังนี้

  • Orton-Gillingham เป็นเทคนิคในการสอนเด็กจับคู่ตัวอักษรกับเสียง และจดจำเสียงตัวอักษรในคำต่าง ๆ แบบทีละขั้นตอน
  • Multisensory เป็นการสอนให้เด็ก ๆ ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด เช่น การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การเคลื่อนไหว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ 

เคล็ดลับการเรียนรู้

สำหรับเคล็ดลับที่อาจช่วยให้เด็กที่เป็นโรค Dyslexia พัฒนาการอ่านได้ดีขึ้น อาจได้แก่

  • ฟังหนังสือเสียงบนคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต และอ่านไปพร้อม ๆ กับการฟังและทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ
  • อ่านหนังสือในที่เงียบ ๆ ไม่มีสิ่งอื่นมารบกวนสมาธิ
  • คุณพ่อคุณแม่อาจขอความช่วยเหลือจากคุณครูขณะที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน
  • แบ่งการอ่านออกเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้จัดการและจดจำได้ง่ายขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
  • เข้าร่วมกลุ่มที่สนับสนุนผู้ที่มีความบกพร่องในการอ่าน

ความช่วยเหลือพิเศษ

คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยกับทางโรงเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือในการสอนการเรียนรู้เฉพาะทางสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในการอ่าน ในส่วนตรงนี้สำคัญมาก ๆ เพราะจะช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น อธิบายถึงความต้องการของเด็ก และพูดคุยถึงวิธีที่โรงเรียนจะช่วยเหลือได้ โดยทางโรงเรียนอาจจัดทำแผนการเรียนรู้พิเศษ หรือที่เรียกว่า แผนการศึกษารายบุคคล (Individualized Education Plans หรือ IEPs) ซึ่งทางคุณพ่อคุณแม่และโรงเรียนอาจต้องพูดคุยเกี่ยวกับแผนการเรียนรู้พิเศษในแต่ละปี ตามพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นของเด็ก สำหรับความช่วยเหลือพิเศษ นอกจากการช่วยเหลือที่โรงเรียนแล้ว การช่วยเหลือเหล่านี้ยังคงต้องทำต่อเนื่อง

  • เครื่องอำนวยความสะดวก แผนการศึกษารายบุคคลอาจต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวก อย่างหนังสือเสียง เวลาเพิ่มเติมในการทำบททดสอบ หรือการแปลงข้อความให้เป็นเสียงพูด ซึ่งเครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้อาจช่วยทำให้การเรียนรู้ที่โรงเรียนของเด็กง่ายขึ้น
  • การศึกษาพิเศษ เป็นการเรียนแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่ม ซึ่งอาจจัดขึ้นทั้งในห้องเรียน หรืออาจจะแยกห้องออกมา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านสามารถสอนการอ่านให้กับเด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่านได้ง่ายขึ้น

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Dyslexia?. https://www.webmd.com/children/understanding-dyslexia-basics. Accessed October 11, 2021

Dyslexia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dyslexia/symptoms-causes/syc-20353552. Accessed October 11, 2021

Dyslexia. https://www.nhs.uk/conditions/dyslexia/. Accessed October 11, 2021

What Are the Treatments for Dyslexia?. https://www.webmd.com/children/understanding-dyslexia-treatment. Accessed October 11, 2021

The Prevention, Diagnosis, and Treatment of Dyslexia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2967798/. Accessed October 11, 2021

Treating Dyslexia. https://www.smartkidswithld.org/getting-help/dyslexia/treating-dyslexia/. Accessed October 11, 2021

Dyslexia. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/dyslexia. Accessed October 11, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของการสมาธิในเด็กวัยเรียน และวิธีฝึกสมาธิในเด็ก

การเล่นเสริมพัฒนาการเด็กวัยเรียน ได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา