คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจหากพบว่าลูกมีไข้สูงต่อเนื่องหลายวัน หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการของไข้หวัดธรรมดา ยิ่งถ้ามีผื่นคัน และต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วยแล้ว อาจถือเป็น สัญญาณและอาการของโรคคาวาซากิ ซึ่งหากเป็นแล้วควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาทันที
[embed-health-tool-vaccination-tool]
โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) ในเด็ก
โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เกิดจากการอักเสบในหลอดเลือดและต่อมน้ำเหลืองของเยื่อบุผิวหนัง เมื่อเป็นโรคคาวาซากิจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ มีไข้สูง ผื่นขึ้นตามผิวหนัง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน ร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคคาวาซากิ พบบ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ที่อาศัยอยู่ในแถบทวีปเอเชีย
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคคาวาซากิ โดยส่วนใหญ่เด็กมักป่วยเป็นโรคคาวาซากิในช่วงฤดูหนาว ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- อายุ พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กในช่วงวัยนี้ยังไม่สมบูรณ์และแข็งแรงดีนัก จึงอาจติดเชื้อได้ง่าย
- เพศ เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงที่ติดเป็นโรคคาวาซากิมากกว่าเด็กผู้หญิง 1.5 เท่า เนื่องจากอาจชอบเล่นกลางแจ้ง และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อจากวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้มากกว่า
- เชื้อชาติ โรคคาวาซากิพบมากในแถบเอเชีย
สัญญาณและอาการของโรคคาวาซากิ
อาการของโรคคาวาซากิ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
อาการของโรคคาวาซากิ : ระยะที่ 1
- มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ประมาณ 1-3 วัน
- ตาบวมแดง
- ริมฝีปากแห้งแตก
- มีผื่นขึ้นที่ผิวหนังและในบริเวณอวัยวะเพศ
- ฝ่ามือและเท้ามีอาการบวมแดง
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
อาการของโรคคาวาซากิ : ระยะที่ 2
- ผิวหนังบริเวณมือ เท้า ลอก
- ปวดข้อ
- ท้องร่วง
- อาเจียน
- ปวดท้อง
อาการของโรคคาวาซากิ : ระยะที่ 3
ในระยะที่ 3 อาการของโรคจะค่อย ๆ ทุเลาลงและอาการที่ดีขึ้น (อาจแสดงอาการอยู่ได้นานถึง 8 สัปดาห์ และผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหัวใจ)
เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ
หากพบลูกน้อยมีไข้สูงต่อเนื่องหลายวัน ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตามขั้นตอนที่เหมาะสม
ในเบื้องต้นคุณหมอจะสอบถามประวัติและอาการ หากพบว่าเป็นโรคคาวาซากิ คุณหมอจะจ่ายยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือหากอาการรุนแรงอาจรักษาด้วยการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เข้าหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและยังช่วยลดความเสี่ยงของเด็กที่เป็นโรคหัวใจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้