backup og meta

ยาลดไข้เด็ก มีอะไรบ้าง และควรบรรเทาอาการไข้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    ยาลดไข้เด็ก มีอะไรบ้าง และควรบรรเทาอาการไข้อย่างไร

    ยาลดไข้เด็ก เป็นยาที่ช่วยรักษาอาการไข้และช่วยลดอุณหภูมิในร่ายกาย ซึ่งมักใช้ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในการรักษาอาการไข้ในเด็ก อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอายุต่ำกว่า 2 เดือน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับยาตามขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อป้องกันการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาดและเป็นอันตรายได้

    ยาลดไข้เด็ก มีอะไรบ้าง

    ส่วนใหญ่คุณหมอจะทำการรักษาด้วยการให้ยาลดไข้เด็กต่อเมื่อเด็กมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือหากเด็กมีอาการไม่สบายตัวมาก โดยทั่วไปอาการไข้ในเด็กจะไม่คงอยู่เป็นเวลานาน สามารถควบคุมได้ และไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

    โดยคุณหมอจะประเมินระดับความรุนแรงของอาการไข้ก่อนจ่ายยาลดไข้เด็ก เพื่อให้ขนาดยาตามความเหมาะสม ซึ่งยาลดไข้เด็กที่มักใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้

    • อะเซตามิโนเฟน หรือพาราเซตามอล จะให้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อช่วยรักษาอาการไข้และลดอุณหภูมิร่างกาย โดยเด็กจะมีอุณหภูมิลดลงภายใน 30-60 นาทีแรกหลังจากให้ยา
    • ไอบูโพรเฟน จะให้ในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดไข้และลดอุณหภูมิ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอะเซตามิโนเฟน และอาจมีผลในการลดอุณหภูมิร่างกายได้นานกว่า
    • การรักษาแบบผสม โดยการใช้ยาอะเซตามิโนเฟนร่วมกับยาไอบูโพรเฟนรักษาอาการไข้ในเด็ก ซึ่งเป็นการให้ยาทั้ง 2 ชนิดสลับกัน อาจมีประสิทธิภาพในการลดไข้เด็กได้ดีกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียวในการรักษา อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้รักษาด้วยวิธีนี้เองที่บ้าน เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อาจไม่เข้าใจการใช้สูตรยาทำให้เกิดความกังวลในแง่การใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาดจนเป็นอันตรายได้

    ข้อควรระวังในการใช้ยาลดไข้เด็ก

    ยาลดไข้อาจเป็นพิษต่อเด็กได้หากใช้อย่างไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จึงควรคำนึงถึงข้อควรรระวังต่อไปนี้

    • ควรดูวันหมดอายุของยาลดไข้ก่อนเสมอ
    • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน กินยาลดไข้โดยไม่ได้รับการสั่งจ่ายยาจากคุณหมอ เนื่องจากขนาดยาลดไข้จะต้องขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็กและสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการลดไข้อย่างรวดเร็ว
    • ควรให้ยาลดไข้ตามอาการ และไม่ควรใจร้อนเพิ่มขนาดยาให้เด็กทันทีหากกินยาครั้งแรกแล้วไข้ยังไม่ลด เพื่อป้องกันการได้รับยาเกินขนาดซึ่งอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลันและเป็นอันตรายได้
    • ห้ามใช้พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟนร่วมกันโดยเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มพิษของยา
    • ห้ามให้ยาอะเซตามิโนเฟนกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ห้ามให้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนหรือน้ำหนักต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ห้ามให้ยาแอสไพรินกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
    • ไม่ว่ายาลดไข้เด็กจะเป็นรูปแบบใด สามารถใช้เพื่อลดใช้เด็กได้เหมือนกันเนื่องจากมีส่วนประกอบของยาที่เหมือนกัน รวมทั้งใช้ในปริมาณและเว้นระยะการให้ยาที่เหมือนกัน เช่น ยารูปแบบเม็ดสอดทางทวารหนัก ยาแบบผง ยาน้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องเว้นระยะห่างในการกินยาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง สำหรับยาอะเซตามิโนเฟนกินได้สูงสุดเพียง 4 ครั้ง/วัน หรือต้องเว้นระยะห่างในการกินยาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
    • ห้ามให้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กที่เป็นโรคหอบหืดหรืออีสุกอีใส เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ

    วิธีช่วยบรรเทาอาการไข้ในเด็ก

    วิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการไข้ในเด็ก อาจมีดังนี้

    • ให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปริมาณปกติตามอายุ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
    • ให้เด็กกินอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยในอาหารควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
    • ควรเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ โดยเน้นเช็ดบริเวณข้อพับ คอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก เพื่อช่วยระบายความร้อน
    • หากเด็กมีอาการตัวร้อนมาก สามารถอาบน้ำได้ แต่ควรรีบอาบรีบเช็ดตัวให้แห้ง น้ำที่ใช้อาบควรเป็นน้ำธรรมดาหรือค่อนข้างอุ่น
    • ตรวจสอบอาการไข้หรืออาการอื่น ๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
    • ควรให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ควรให้เด็กอยู่แต่ในบ้านจนกว่าอาการไข้จะหายดี เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงภายนอกบ้านที่อาจทำให้อาการไข้กำเริบได้
    • ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าให้เด็กมากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนและอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้
    • ควรพาไปพบคุณหมอหากอาการไข้ไม่ดีขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา