อาการท้องเสียอาจมาพร้อมกับอาการขับถ่ายมาก ปวดท้อง ไม่สบายตัว และอ่อนแรง ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก และอาจมีข้อสงสัยว่า ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ให้อาการดีขึ้น โดยทั่วไปอาหารอาจเป็นปัจจัยที่จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกกินของเหลวมากขึ้นเพื่อช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปได้ พร้อมทั้งเสริมด้วยการกินอาหารอ่อนย่อยง่ายและรสจืด เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยเติมพลังงานและป้องกันภาวะขาดน้ำในเด็กได้
[embed-health-tool-child-growth-chart]
ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี
คุณพ่อคุณแม่ที่มีคำถามว่าลูกท้องเสียให้กินอะไรดี เพื่อช่วยให้ลูกมีอาการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเมื่อลูกท้องเสียร่างกายอาจมีภาวะขาดน้ำและสูญเสียสารอาหารจากการขับถ่ายอุจจาระมากเกินไป ดังนั้น จึงควรให้ลูกกินอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ระบบย่อยอาหารไม่ทำงานหนัก และช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไป ดังนี้
เด็กทารก
- หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือนมผง ควรให้ลูกกินนมบ่อยขึ้นตามความเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อลูกถ่ายแต่ละครั้ง ให้ครั้งละ 5-10 นาที จะช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปได้
- สำหรับนมผงควรเลือกนมผงสูตรที่ไม่มีแลคโตสหรือแลคโตสต่ำ เนื่องจากแลคโตสเป็นน้ำตาลในนมที่ย่อยยากอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักได้ โดยใช้ระยะสั้น เมื่อถ่ายดีแล้วให้กลับมากินนมสูตรปกติได้
- หากลูกมีอาการท้องเสียรุนแรง สามารถให้เกลือแร่ละลายน้ำควบคู่ระหว่างกินนมไปด้วย
เด็กเล็กหรือเด็กโตที่สามารถกินอาหารแข็งได้แล้ว
- ของเหลวเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับอาการท้องเสีย ไม่ควรบังคับให้ลูกกินอาหารแข็งในระหว่างที่ท้องเสีย แต่ควรให้ลูกกินของเหลวมากขึ้น เช่น น้ำเปล่า น้ำเกลือแร่ นมถั่วเหลือง
- สำหรับเด็กเล็กที่ยังต้องกินนมผงหรือนมแม่ควบคู่ไปกับอาหารแข็ง ควรให้เด็กกินนมต่อไปและให้เด็กกินนมบ่อยขึ้นทุก ๆ 4 ชั่วโมง ประมาณครั้งละ 5-10 นาที โดยสามารถกินควบคู่ไปกับอาหารแข็ง เช่น กล้วยบด ข้าวต้มบด มันบด ซอสแอปเปิ้ล แครอทขูด
- หลังจาก 24 ชั่วโมง เมื่อลูกมีอาการดีขึ้นสามารถให้ลูกกินอาหารแข็งได้ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย รสจืด เคี้ยวและกลืนง่าย เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต ขนมปังขาว แครอทบด กล้วยบด มันฝรั่งบด ซอสแอปเปิ้ล ขนมปังแห้ง ขนมปังกรอบ บะหมี่ ซุปไก่ ซุปเนื้อพร้อมเส้นก๋วยเตี๋ยว ผักปรุงสุก ข้าวต้ม ไข่ต้ม
- เมื่ออาการท้องเสียดีขึ้นลูกสามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติ แต่ถ้าลูกกลับมามีอาการท้องเสียอีกครั้งให้กลับมากินอาหารอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย รสจืด เคี้ยวและกลืนง่ายเหมือนเดิม
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อลูกท้องเสีย
เมื่อลูกท้องเสียควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารและอาจกระตุ้นให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ดังนี้
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมวัว โยเกิร์ต เนย ชีส
- อาหารทอด ไขมันสูง เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด อาหารแปรรูป ขนมกรุบกรอบ
- อาหารสเผ็ด เช่น ยำ ส้มตำ ต้มยำ แกง
- อาหารน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมอบ
- อาหารแปรรูป โดยเฉพาะอาหารที่เติมสารปรุงแต่ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ขนมกรุบกรอบ โดนัท ฟาสต์ฟู้ด ไส้กรอก
- ผักสดหรือผักบางชนิดที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคและก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ข้าวโพด หัวหอม บร็อคโคลี่ พริก ถั่ว ผักใบเขียว
- ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม ส้มโอ มะม่วงเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สับปะรด
- น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา น้ำแอปเปิ้ล น้ำสับปะรด