backup og meta

วิธีกำจัดเหา เมื่อลูกน้อยกำลังเป็นเหา

วิธีกำจัดเหา เมื่อลูกน้อยกำลังเป็นเหา

เหา ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ และต้องกำจัดให้หมดไปโดยเร็วที่สุด เพราะเหาสามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ อีกทั้งการที่ลูกเป็นเหา อาจถูกเด็กคนอื่นมองว่าสกปรก ล้อเลียน หรือไม่คลุกคลีด้วย จนลูกอาจมีปัญหากับเพื่อนหรือมีปัญหาสุขภาพจิตได้ วิธีกำจัดเหา อาจทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยวิธีธรรมชาติ รวมถึงการใช้ยาที่สั่งจ่ายโดยคุณหมอ เพื่อบรรเทาอาการคันที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำลายของเหา ทั้งยังป้องกันอาการแพ้เหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กบางคนอีกด้วย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

เหา คืออะไร

เหา คือ แมลงปรสิตชนิดหนึ่ง ลำตัวแบน ไม่มีปีก สีขาวปนเทา หรือสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดำรงชีพด้วยการกินเลือดจากคนหรือสัตว์ เหาที่พบในคนมี 3 ชนิด ได้แก่ เหาที่ศีรษะ (Pediculosis Capitis หรือ Head Lice) เหาที่ลำตัว (Pediculosis Corporis) และเหาที่อวัยวะเพศ หรือโลน (Pediculosis Pubis) แต่เมื่อพูดถึงเหา คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงเหาที่ศีรษะ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน (3-12 ปี)

เหาเป็นแมลงคลาน บินหรือกระโดดไม่ได้ แต่ก็มีกรงเล็บที่พัฒนามาเป็นพิเศษทำให้สามารถคลานและเกาะติดหนึบอยู่บนเส้นผมได้ อีกทั้งเหายังเป็นโรคติดเชื้อปรสิตที่สามารถติดต่อและแพร่กระจายจากคนสู่คนได้รวดเร็วมาก โดยเฉพาะในสถานที่ชุมนุมชน หรือในกิจกรรมที่มีผู้คนรวมตัวกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก งานชุมนุม งานแข่งขันกีฬา การเข้าค่าย

ส่วนใหญ่แล้วเหาจะติดต่อโดยตรงจากศีรษะคนหนึ่งไปสู่ศีรษะอีกคนหนึ่ง แต่ก็สามารถติดต่อผ่านการใช้อุปกรณ์ เช่น เสื้อผ้า ที่นอน หมอน หวี หมวก ร่วมกันได้ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นเหาได้มากที่สุด ได้แก่ เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะมักทำกิจกรรมร่วมกัน และวิ่งเล่นใกล้ชิดกันมาก รวมไปถึงแบ่งปันของใช้กันบ่อย ๆ

สัญญาณที่บอกว่าลูกเป็นเหา

มองเห็นเหาบนเส้นผมหรือหนังศีรษะ

เหาบนศีรษะอาจพบได้บ่อยบริเวณหลังใบหูและท้ายทอย โดยเหาที่พบนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไป ตามแต่ระยะของเหา ดังนี้

  • ไข่เหา

ไข่เหา (Nit) มีลักษณะเป็นเม็ดรีเล็กจิ๋วสีเหลือง น้ำตาล เป็นต้น เกาะติดอยู่ตามเส้นผมใกล้หนังศีรษะเพราะเป็นจุดที่มีอุณหภูมิเหมาะสมช่วยให้ไข่เหาอบอุ่นและฟักเป็นตัวได้ ไข่เหามองเผิน ๆ อาจดูเหมือนรังแค แต่หากหวีหรือสะบัดออกจะพบว่ายังเกาะอยู่บนผมไม่หลุดไปไหน โดยปกติแล้วเวลาที่ลูกเป็นเหาอาจจะมองเห็นไข่เหาเกาะอยู่บนเส้นผมมากกว่าเห็นตัวเหาคลานอยู่บนหนังศีรษะ ไข่เหาใช้เวลาฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อฟักเป็นตัวแล้วจะมองเห็นเปลือกไข่สีขาวหรือสีใสเกาะแน่นอยู่บนเส้นผม และจะค่อย ๆ หลุดไปเมื่อผมยาวขึ้น ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่สังเกตได้ง่ายที่สุด

  • เหาตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัย

คุณพ่อคุณแม่อาจมองเห็นตัวเหาคลานอยู่ตามหนังศีรษะและเส้นผมของลูก เหาในระยะตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการเจริญเติบโตเป็นเหาตัวเต็มวัย ลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เหาตัวเต็มวัยจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3 สัปดาห์ และเหาตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 5-10 ฟอง/วัน โดยทั่วไปเหาจะดูดเลือดวันละหลายครั้ง และมีชีวิตอยู่นอกหนังศีรษะได้อย่างน้อย 2 วัน

ลูกชอบเกาศีรษะ…อาจเพราะ เหา

อาการคันเมื่อเป็นเหา คือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อน้ำลายของเหา ความรุนแรงของอาการคันจากเหาขึ้นอยู่กับหนังศีรษะของเด็กว่าไวต่อน้ำลายของเหาแค่ไหน เด็กบางคนอาจคันทันทีเมื่อเริ่มติดเชื้อเหา ในขณะที่เด็กบางคนอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าจะรู้สึกคันเพราะติดเหา หากลูกชอบเกาศีรษะ บอกว่ากำลังมีอะไรไต่อยู่บนศีรษะ หรือรู้สึกจักจี้ที่ศีรษะ อย่านิ่งนอนใจควรรีบตรวจสอบทันที

ลูกมีรอยแดงหรือแผลบนศีรษะ

เด็กบางคนที่ผิวหนังแพ้ง่าย อาจระคายเคืองรุนแรงจนเกิดเป็นผื่นแดงที่หนังศีรษะ หรือบางคนก็เกาจนหนังศีรษะติดเชื้อแบคทีเรีย อักเสบและเป็นแผล หากถึงขั้นนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาจต้องรักษาด้วยการรับประทานยาปฎิชีวนะ

วิธีป้องกันเหาไม่ให้แพร่ไปติดผู้อื่น

ที่บ้าน

  • ซักเสื้อผ้าและเครื่องนอนต่าง ๆ ที่ลูกใช้หรือสัมผัส 2 วัน ก่อนเริ่มรักษาเหาให้ลูก เพื่อฆ่าไข่เหาและตัวเหาที่อาจติดอยู่ โดยใช้น้ำร้อนไม่ต่ำกว่า 55 องศาเซลเซียส หากมีเครื่องอบผ้า ควรอบด้วยลมร้อนอย่างน้อย 20 นาที
  • สำหรับเสื้อผ้า ตุ๊กตา หมวก ที่ซักน้ำหรือซักแห้งไม่ได้ ให้ใส่ถุงซิปล็อกแล้วปิดให้แน่นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะหากมีไข่เหาติดอยู่และฟักเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนของเหาก็จะตาย เพราะไม่ได้รับเลือดจากโฮสต์
  • แช่หวีหรือแปรงแปรงผมในรับบิ้งแอลกอฮอล์ (Rubbing Alcohol) หรือที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ ไลซอล (Lysol) หรือน้ำสบู่ที่ร้อนกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จากนั้นใส่ถุงซิปล็อกและแช่ช่องแข็งอย่างน้อย 2 วัน
  • ทำความสะอาด ดูดฝุ่นพื้น พรม โซฟา และเฟอร์นิเจอร์ทั้งบ้าน เพื่อกำจัดไข่เหาและตัวเหา และไม่ควรใช้สเปรย์ฆ่าแมลงเพราะอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้

ที่โรงเรียน

  • ย้ำลูกไม่ให้แบ่งของใช้ส่วนตัว เช่น หมวก เสื้อคลุม หวี ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ยางมัดผม กิ๊บติดผมกับเพื่อนคนอื่น
  • หากเป็นไปได้ ควรบอกให้ลูกหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใกล้ชิดกับเพื่อนแบบศีรษะชนศีรษะ หรือบอกให้คุณครูคอยช่วยสังเกต ถ้าลูกผมยาวอาจมัดผมม้า หรือถักเปียให้ลูก ไม่ควรให้ปล่อยผม เพื่อลดโอกาสติดเหา

วิธีกำจัดเหา

ใช้ยา

เหา สามารถกำจัดได้ด้วย แชมพู ครีมนวดผม หรือโลชั่นที่ใช้สำหรับกำจัดเหา ซึ่งมีทั้งแบบที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือต้องสั่งจ่ายโดยคุณหมอ ปกติแล้วเมื่อรักษาเหาด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เหาจะหายแล้วอาจใช้เวลาอีก 2-3 วันจึงจะหายคันศีรษะ หากใช้ยารักษาเหาประเภททาหรือฟอกสระแล้วเหายังไม่หาย คุณหมออาจสั่งจ่ายยารับประทานเพื่อฆ่าเหา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเหาถึงจะหาย

ข้อสำคัญในการให้ลูกใช้ยารักษาเหา ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกประเภทของยาให้เหมาะกับอายุของลูก ไม่ควรใช้ยากำจัดเหากับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และต้องทำตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เพราะผลิตภัณฑ์กำจัดเหาเหล่านี้ถือเป็นยาฆ่าแมลงอย่างหนึ่ง หากใช้มากไปหรือบ่อยเกินไปก็อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้

อย่างไรก็ตาม คุณหมอหรือเภสัชกรอาจแนะนำให้รักษาด้วยยาฆ่าเหาซ้ำอีกครั้งภายใน 7-10 วันหลังจากใช้ยาครั้งแรก เพื่อกำจัดไข่เหาที่เพิ่งฟักเป็นตัว

ใช้หวีเสนียดสางเหาออก

การใช้หวีเสนียด หรือหวีซี่ถี่สางเหาออกจากศีรษะ ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะกับเด็กทุกช่วงวัย และนิยมใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอายุน้อยเกินกว่าจะใช้ยากำจัดเหา แต่หากลูกมีอายุมากกว่า 2 ปี คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ยาฆ่าเหาพร้อมกับสางเหาให้ลูกเพื่อให้การกำจัดเหาได้ผลยิ่งขึ้น

การใช้หวีเสนียดสางเหา สามารถทำได้ทั้งตอนผมแห้งและตอนผมเปียก โดยชโลมด้วยครีมนวดผม หรือน้ำมันมะกอกให้ทั่วศีรษะ เพื่อทำให้เหาขยับไปไหนไม่ได้และช่วยให้สางผมง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสางเหาออกให้ลูกทุก ๆ 3-4 วัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะไม่พบไข่และตัวเหาอีก

อย่างไรก็ตาม การรักษาเหาด้วยตัวเองนั้นควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้ได้วิธีที่เหมาะสมกับสภาพความรุนแรงและอายุของลูกที่สุด

เมื่อไหร่ที่ควรกังวลกับเหาของลูก

การรักษาเหาเปรียบเหมือนสงครามที่ยืดเยื้อ เด็กบางคนเป็นเหาไม่หายสักที หรือบางคนเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก

  • ยังมีไข่เหาหลงเหลืออยู่
  • ลูกใช้ชีวิตร่วมกับเด็กที่เป็นเหาจึงติดเหามาอีก
  • วิธีรักษาที่ใช้ไม่ได้ผล

หากคุณพ่อคุณแม่ลองรักษาเหาให้ลูกด้วยตัวเองมานานกว่า 2 อาทิตย์แล้ว แต่ลูกยังเป็นเหาไม่หาย หรือหนังศีรษะของเด็กเริ่มอักเสบแดงเหมือนจะติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที เพราะหากฝืนรักษาเองต่อไปอาจทำให้เหาดื้อยา แพร่กระจายหนักกว่าเดิม หรือเป็นโรคติดเชื้อที่หนังศีรษะรุนแรงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Head Lice. https://kidshealth.org/en/parents/head-lice.html Accessed January 31, 2019

Head Lice: What Parents Need to Know. https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/from-insects-animals/Pages/Signs-of-Lice.aspx. Accessed January 31, 2019

Treating and Preventing a Head Lice Infestation. https://www.webmd.com/children/ss/slideshow-lice-overview. Accessed January 31, 2019

Head lice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/head-lice/symptoms-causes/syc-20356180. Accessed April 21, 2021

Head lice and nits. https://www.nhs.uk/conditions/head-lice-and-nits/. Accessed April 21, 2021

Head Lice. https://www.cdc.gov/parasites/lice/head/index.html. Accessed April 21, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/10/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โนโรไวรัส สาเหตุอาการท้องเสียที่ระบาดในเด็ก

โรคมือเท้าปาก สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา