โคลิค (Colic) เป็นอาการร้องไห้ของเด็กทารกวัยแรกเกิดแบบต่อเนื่องและยาวนาน ที่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ตกใจหรือไม่รู้ว่าจะรับมือได้อย่างไร แท้จริงแล้วโคลิกเป็นอาการที่เกิดขึ้นและหายไปได้ แต่อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้อย่างถูกต้อง
โคลิค คืออะไร
โคลิค คือ อาการที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดตั้งแต่ช่วงอายุ 2-6 สัปดาห์ โดยทารกอาจร้องไห้ออกมาอย่างหนัก และนานกว่าปกติ หรือในช่วงเวลาเดียวกันทุกวันบ่อยครั้ง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ระบบย่อยอาหารแปรปรวน จุกเสียด กรดไหลย้อน
- แพ้อาหารบางอย่าง
- คุณพ่อคุณแม่ให้อาหารลูกน้อยหรือมากเกินไป
- ภาวะคลอดก่อนกำหนด
- ระบบประสาทที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่
- คุณแม่สูบบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะโคลิคมักหายไปจากลูกได้เอง ตามระยะเวลาการเจริญเติบโต คือ ช่วงประมาณ 3-4 เดือน
อาการเมื่อลูกเป็นโคลิค
เด็กร้องไห้งอแงอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยากที่จะจำแนกได้ว่า ร้องไห้แบบไหน คือ ร้องไห้ธรรมดา หรือร้องไห้เพราะเป็นโคลิค โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- อาการร้องไห้อย่างหนักรุนแรง
- ใบหน้าของลูกเปลี่ยนสีเป็นสีแดง ปากและผิวซีด
- ร้องไห้ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้กันทุกวัน
- มีท่าทางเกร็งในขณะร้องไห้ เช่น กำมือแน่น ขายกขึ้นเกร็ง หน้าท้องแข็ง
ในบางกรณี โคลิคอาจทำให้ลูกเป็นลม หมดสติ เพราะร้องไห้หนักจนเกินไป ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด และรู้จักรับมืออย่างถูกวิธี หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจต้องพาลูกพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกได้
วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นโคลิค
เมื่อสงสัยว่าลูกอาจเป็นโคลิค สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การสวมกอด อุ้มปลอบเอาไว้ จากนั้นอาจค่อย ๆ เพิ่มความผ่อนคลายให้ทารกด้วยวิธีเหล่านี้
- ใช้ผ้าห่อตัวลูกเอาไว้ แล้วเดินไปรอบ ๆ หรืออาจตบหลังเบา ๆ เพื่อทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
- ใช้จุกนมปลอม
- ปรับเปลี่ยนยี่ห้อของนม หรืออาหารที่ลูกกิน เพราะในบางครั้งทารกอาจแพ้สารอาหารบางอย่าง เช่น ไข่ นม ข้าวสาลี ถั่ว
- หลังจากกินนมหรือกินอาหารสำหรับทารกเแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกนั่งตัวตรง เพื่อให้เรอเสียก่อน โดยประคองคอ ศีรษะ หรืออุ้มไว้พร้อมลูบตบบริเวณหลังเบา ๆ
- อาบน้ำ หรือแช่น้ำอุ่น ๆ และนวดเบาๆ
หากปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้ว แต่ลูกยังไม่หยุดร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบดูว่า ลูกมีอุณหภูมิในร่างกายที่สูงเกินกว่า 38 องศาเซีลเซียส มีท้องเสีย และอุจจาระเป็นเลือด ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะในกรณีนี้ อาจจำเป็นต้องรีบพาลูกเข้ารับการรักษาจากคุณหมอโดยทันที
[embed-health-tool-vaccination-tool]