พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 16 หรือทารก 4 เดือน โดยทั่วไป ทารกช่วงวัยนี้อาจสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบข้างมากเป็นพิเศา พยายามหัดคว้าสิ่งของรอบตัว รวมถึงอาจมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากขึ้นจนสามารถกลิ้งตัวไปมาได้ คุณพ่อคุณแม่ควรลองสังเกตขนาดตัว น้ำหนักตัว รอบศีรษะ และดูพัฒนาการอื่น ๆ โดยรวม ว่าเหมาะสมกับวัยหรือไม่ หากพบว่าลูกมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและวิธีรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 16
ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร
เมื่อคุณพ่อคุณแม่วางมือไว้ที่ท้องของลูก ลูกอาจยกหัวและไหล่ขึ้นโดยใช้มือดันขึ้นไป วิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อของลูกอายุ 16 สัปดาห์ให้แข็งแรง และช่วยให้ลูกมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น และลูกอาจตื่นเต้นมากจนกลิ้งไปมาบ่อย ๆ
พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 16
- ทิ้งน้ำหนักลงบนขาทั้งสองข้างเมื่อยืนตัวตรง
- คว้าหรือจับสิ่งของต่าง ๆ
- เกร็งตัวเมื่อจับให้ลุกนั่ง
- ให้ความสนใจกับเสียง โดยเฉพาะเสียงของคุณแม่
- พูดเป็นคำ ๆ ได้แล้ว
ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร
อาจช่วยเพิ่มทักษะการหมุนตัวให้ลูกผ่านการเล่น โดยขยับของเล่นไปมา เพื่อทำให้ลูกน้อยสนใจ ควรตบมือและยิ้มให้ลูกเมื่อลูกหมุนตัวได้ เพื่อเป็นการให้กำลังใจ และช่วยให้ลูกอยากแสดงออกและขยับร่างกายมากขึ้น
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไร
การทดสอบทางกายภาพ และการตรวจสุขภาพของเด็กอายุ 16 สัปดาห์แต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสภาวะร่างกายของเด็ก โดยทั่วไป คุณหมออาจทำการตรวจ ดังนี้
- วัดน้ำหนัก ความสูง เส้นขนาดศีรษะ และดูพัฒนาการของเด็กทารก
- ตรวจร่างกายเพื่อดูผลของการควบคุมภาวะสุขภาพของลูกที่อาจพบก่อนหน้านี้
- ให้คำแนะนำในการดูแลลูกในเดือนถัดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การนอนหลับ การเจริญเติบโต และความปลอดภัยของลูก
- ตอบคำถามที่สงสัย เช่น ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไรบ้างเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน อาการใดที่เป็นปกติหรือผิดปกติ
คุณแม่ควรบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับลูกในทุก ๆ เรื่อง ทั้งน้ำหนัก ความสูง ขนาดศรีษะ รอยปาน การฉีดวัคซีน อาการเจ็บป่วย ผลการรักษา และผลการตรวจสอบอื่น ๆ เพื่อเก็บเป็นบันทึกสุขภาพให้ลูก ซึ่งอาจช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจสอบสุขภาพของลูกได้สะดวกขึ้น
สิ่งที่ควรรู้
เด็กบางคนอาจดูจ้ำม่ำตั้งแต่ตอนคลอดออกมา และบางคนก็เริ่มจ้ำม่ำเมื่อโตขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากอาหารการกินที่ไม่เหมาะสมหรือลูกเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป แต่เป็นเพราะลูกยังพัฒนากล้ามเนื้อได้ไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไป ลูกจะมีน้ำหนักและขนาดตัวเหมาะสมขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
แต่หากลูกดูจ้ำม่ำมากจนคุณแม่กังวลว่าลูกจะเป็นโรคอ้วน ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยคุณหมอจะชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเป็นอย่างแรก ถ้าลูกน้อยมีน้ำหนักมากเกินไป คุณหมอจะตรวจสอบพัฒนาการของเด็กเป็นลำดับถัดไป น้ำหนักตัวอาจไม่ใช้เรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กในวัยนี้ เนื่องจากอาหารของลูกอายุ 16 สัปดาห์หรือ 4 เดือน มักจะมีแค่น้ำนมแม่ ยังไม่ใช่อาหารแข็งที่เสี่ยงส่งผลเสียต่อสุขภาพและน้ำหนักตัวของลูกได้เป็นอย่างมาก
เด็กหลายคนจะเริ่มมีน้ำหนักลดลง เมื่อเริ่มคลานหรือหัดเดิน ฉะนั้น เมื่อเด็กกำลังเติบโตขึ้น การปล่อยให้ลูกเล่นที่พื้น และให้ลูกกินเฉพาะเวลาหิว อาจช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคอ้วนได้
- การเล่นที่รุนแรง
ลูกจะรู้สึกสนุกเมื่อถูกจับโยนไปมาหรือได้เล่นไล่จับ แต่การเล่นบางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบได้ ลูกอาจได้รับบาดเจ็บเมื่อถูกดึงหรือเขย่า เนื่องจากหัวของทารกมีน้ำหนักพอ ๆ กับส่วนที่เหลือของร่างกาย นอกจากนี้ กล้ามเนื้อคอของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงช่วยพยุงหัวของลูกได้ไม่ดีนัก หากจับตัวลูกเขย่าศีรษะแรงจนศีรษะขยับไปมา อาจทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน จนนำไปสู่ภาวะสมองบวม เลือดออกในสมอง หรือเกิดความเสียหายทางระบบประสาท ทั้งยังอาจเกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของลูกในระยะยาว
ดวงตาของลูกน้อยก็อาจได้รับความบาดเจ็บได้เช่นกัน ถ้าจอประสาทตาหลุดออกก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นหรือทำให้ตาบอดได้
การบาดเจ็บเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่เล่นกับลูก คุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเล่นอะไรแรง ๆ และควรใช้มือประคองศีรษะและคอของลูกอยู่เสมอ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเขย่าตัวลูกในขณะที่อุ้มลูกด้วย
สิ่งที่ต้องเป็นกังวล
ควรกังวลในเรื่องใด
- เด็กยังคงติดจุกนมปลอม
สิ่งที่ทำให้ลูกวัย 16 สัปดาห์รู้สึกสบายใจได้ ก็คือ หัวนม ขวดนม เพลงกล่อมเด็ก และจุกนมปลอม ซึ่งหากให้ลูกดูดจุกนมปลอมเป็นประจำ ก็อาจส่งผลให้ดูดและกินนมแม่ได้น้อยลง การเริ่มฝึกให้ลูกเริ่มใช้จุกนมปลอมตอนนี้ นับเป็นช่วงวัยที่เหมาะสม เพราะลูกยังจดจำอะไรได้ไม่มาก และอาจลืมได้ง่ายว่าเคยใช้จุกนมปลอม
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากการดูดจุกนมปลอม และช่วยให้ลูกสบายใจขึ้น คุณแม่อาจลองไกวเปล หรือร้องเพลงกล่อม หรืออาจจำกัดเวลาให้ลูกดูดจุกนมปลอมได้เฉพาะในตอนนอนเท่านั้น
- การหย่านมแต่เนิ่น ๆ
ลูกน้อยอายุ 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน จะร่าเริงและปรับตัวได้ดี จึงอาจช่วยให้หย่านมได้ง่ายขึ้น คุณแม่สามารถเริ่มให้ลูกกินนมผงหรือนมแม่จากขวดแทนการกินนมแม่จากเต้า ประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ลูกค่อย ๆ คุ้นชินกับการกินนมจากขวด
หากลูกปฎิเสธที่จะกินนมจากขวดในครั้งแรก ไม่ควรบังคับ อาจรอสักระยะแล้วจึงค่อยลองใหม่ ทั้งนี้ ควรเริ่มฝึกให้ลูกกินนมแม่จากขวดให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30-60 มิลลิลิตร เมื่อลูกทำได้แล้วจึงเปลี่ยนจากนมคุแม่เป็นนมผงแทน