backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 24 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 24 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 24 ลูกน้อยเริ่มมีทักษะในการสื่อสารที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มส่งเสียงร้อง ทำเสียงได้หลายแบบ รวมทั้งอาจจะเริ่มเปลี่ยนอิริยาบถอย่างอื่นมากกว่าแค่นอนหลับอย่างเดียว เป็นช่วงเวลาที่ควรระมัดระวังคำพูด พฤติกรรม การแสดงออกต่าง ๆ เพื่อให้ลูกน้อยมีต้นแบบที่ดี

    การเจริญเติบโต พฤติกรรม และ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 24

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    ตอนนี้ลูกน้อยอาจมองเห็นและได้ยินอะไรเท่า ๆ กับผู้ใหญ่ ทักษะการสื่อสารจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น ส่งเสียงร้อง เสียงเป่าฟอง และการเปลี่ยนน้ำเสียง เสียงของลูกสามารถบ่งบอกทัศนคติหรือการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ เช่น มีความสุข กระตือรือร้น หรือแม้แต่พอใจกับการที่ได้แก้ปัญหาเป็นอย่างดี

    โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ห้า ลูกน้อยอาจเริ่มมีพัฒนาการต่าง ๆ ดังนี้

    • ลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง
    • ยืนโดยจับคนใกล้ตัวหรือหาบางอย่างไว้เกาะ
    • พยายามผลักของเล่นไปด้านข้าง
    • พยายามหยิบของที่เอื้อมไม่ถึง
    • ส่งของเล่น หรือข้าวของอื่น ๆ จากมือข้างหนึ่งไปยังมืออีกข้างหนึ่ง
    • ควานหาของเล่นที่ทำตก เอามือเกาของเล่นชิ้นเล็ก ๆ และหยิบของเล่นด้วยมือทั้งสองข้าง ฉะนั้นควรนำข้าวของที่เป็นอันตรายเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
    • มีความสามารถในการมองเห็นและได้ยินเหมือนผู้ใหญ่
    • เริ่มพูดอ้อแอ้ที่มีโทนเสียงต่ำหรือสูงได้

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกด้วยการทำเสียงอ้อแอ้ และเล่นเกมที่ใช้คำง่าย ๆ กับลูกน้อย อย่างเช่น แกะร้อง แบะๆ แพะร้อง แมะๆ หรือเมื่อได้ยินลูกพูดคำที่ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ก็ให้ตอบโต้ด้วยคำคามที่ฟังดูอบอุ่น อย่างเช่น ใช่แล้ว นั่นรถไงคะ! ดูซิว่ามีสีแดงเจิดจ้าขนาดไหน? ลูกน้อยอาจจะมีความสุขที่จะได้ยินคุณพ่อคุณแม่เล่าเรื่องราวต่อไปเรื่อย ๆ  

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    คุณหมอส่วนใหญ่จะไม่มีการนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพในช่วงเดือนนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กยังไม่มีแนวโน้มเสี่ยงหรืออาการอะไรที่น่าเป็นห่วง แต่ข้อเสียคือ อาจจะไม่ทราบว่าลูกน้อยมีพัฒนาการไปถึงขนาดไหนแล้ว หากพ่อแม่มีข้อสงสัยอะไรในช่วงนี้ ควรจดข้อสงสัยเอาไว้ เพื่อปรึกษาคุณหมอในการนัดครั้งถัดไป หรือควรโทรหาคุณหมอทันทีหากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น และทำให้รู้สึกเป็นกังวล

    สิ่งที่ควรรู้

    การฉีดวัคซีน

    คุณหมออาจแนะนำให้เด็กบางคนรับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคไอกรน และโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า นอกจากนี้ วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมก็จะช่วยต่อต้านโรคไขสันหลังอักเสบ โรคปอดบวม และการติดเชื้อในหู และวัคซีนป้องกันโรคฮิบ ก็จะช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟลูลิส อินฟลูเอนซา ชนิด B ที่อาจทำให้เกิดโรคไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคปอดบวม และฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า จะช่วยต่อต้านไข้หวัดลงท้อง และในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย

    ทำอย่างไรให้ลูกไม่กลัวการฉีดยา

    ถามคุณหมอหรือพยาบาลว่าคุณพ่อหรือคุณแม่สามารถเข้าไปให้กำลังใจลูกน้อยได้หรือไม่ แทนที่จะปล่อยให้นอนอยู่ที่โต๊ะฉีดยาเพียงลำพัง พยายามสงบสติอารมณ์และหันเหความสนใจของลูกน้อย ด้วยการพูดคุยด้วยเสียงอ่อนหวาน ลูกน้อยจะรับรู้ถึงภาษากายที่คุณสื่อสารออกไป อาจให้ขวดนม จุกนมปลอม ให้ลูกดูดนมแม่หลังฉีดยาเสร็จ เพื่อเป็นการปลอบไม่ให้ลูกน้อยร้องไห้

    อย่างไรก็ตาม วัคซีนเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยป้องกันลูกน้อยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม วัคซีนบางตัวอาจต้องฉีดซ้ำหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่ามีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ความเสี่ยงของการไม่ฉีดวัคซีนนั้นมีมากกว่าการฉีดวัคซีนแค่ครั้งเดียว ปฏิกริยาตอบสนองจากการฉีดวัคซีนมักไม่ค่อยเกิดขึ้น ควรฉีดวัคซีนให้ครบ และควรดูแลลูกน้อยอย่างดีหลังฉีดวัคซีน และควรบอกคุณหมอถ้าพบว่าลูกน้อยมีปฎิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง

    แพ้อาหาร

    สำหรับเด็กแรกเกิดในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ อาจต้องระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้

    • ให้ลูกรับประทานอาหารแข็งทีหลัง ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า การป้องกันสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยลง ฉะนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หย่านมช้าๆ โดยเฉพาะเมื่อคุณ คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
    • ป้อนนมแม่ต่อไป เด็กที่ดื่มนมขวดมักมีอาการแพ้มากกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ เพราะนมมักจะทำให้เกิดการแพ้ในเด็ก หากให้นมลูกเอง ก็ขอให้ทำต่อไปจนกว่าลูกจะมีอายุครบหนึ่งขวบ นอกจากนี้ อาจให้ลูกดื่มนมถั่วเหลืองแทน แต่อาจจดจำไว้นิดนึงว่า มีเด็กหลายคนที่มีอาการแพ้นมถั่วเหลือง และกับเด็กบางคน นมผงชนิดที่สกัดโปรตีนจากนมก็เป็นอะไรที่เหมาะสมกว่า
    • หย่านมด้วยอาหารที่หลากหลาย ถ้าครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ก็ควรให้ลูกลองอาหารต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย โดยให้ลองรับประทานอาหารใหม่ ๆ ในแต่ละสัปดาห์ ก่อนจะเปลี่ยนไปลองอาหารชนิดอื่น ถ้าลูกน้อยมีอาการเวียนศีรษะ มีผื่นขึ้น รวมทั้งอาการผื่นผ้าอ้อม คายอาหารบ่อย ๆ หายใจแรง หรือมีน้ำมูกไหล ก็ควรหยุดให้กินอาหารชนิดนั้นทันทีเป็นเวลาอย่างน้อยหลาย ๆ สัปดาห์ และอาจให้ลูกกินอาหารชนิดนี้อีกครั้ง เมื่อร่างกายลูกน้อยสามารถดูดซึมอาหารชนิดนี้ได้โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
    • ให้กินอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ก่อน ธัญพืชจากข้าวมักจะทำให้เกิดการแพ้ได้น้อย และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้เป็นอาหารสำหรับการหย่านม ข้าวบาร์เล่ย์และข้าวโอ้ตก็เป็นอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้เช่นกัน ผักและผลไม้ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในเด็ก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แนะนำให้ลูกน้อยกินเบอร์รี่หรือมะเขือเทศในช่วงวัยนี้ นอกจากนี้ยังรวมถึงหอย ถั่ว และถั่วเปลือกแข็งต่างๆอีกด้วย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อย่างเช่น อาหารรสจัด และช็อกโกแล็ต เมื่อลูกน้อยมีอายุได้สามขวบ

    อาการแพ้ในวัยเด็กมักหายไปเมื่อโตขึ้น ฉะนั้นถ้าลูกน้อยมีอาการแพ้นม ข้าวสาลี หรืออาหารอื่นๆ อย่างรุนแรง ควรอดทนรอให้ลูกน้อยมีอายุสองสามขวบก่อน แล้วอาการแพ้เหล่านั้นจะหายไปเอง

    ใช้เก้าอี้คาดหลัง

    เมื่อลูกสามารถลุกขึ้นได้ด้วยตัวเอง แม้จะในเวลาสั้น ๆ ก็ถึงเวลาต้องใช้สายโยงตัวเด็กแล้ว พ่อแม่บางคนพบว่านี่เป็นอะไรที่ใช้ได้อย่างสะดวกสบาย ในขณะที่พ่อแม่บางคนอาจมองว่าน่าอาย หรือต้องใช้กล้ามเนื้อเยอะ เด็กบางคนอาจจะชอบ แต่เด็กบางคนก็อาจรู้สึกรำคาญกับสายโยงชนิดนี้

    เพื่อจะดูว่าลูกนั่งบนเก้าอี้คาดหลังได้พอดีหรือไม่นั้น ก็ให้ลูกลองนั่งดูบนที่นั่งด้านหลัง และต้องแน่ใจว่าคาดเข็มขัดอย่างแน่นหนาทุกครั้ง และควรจำไว้ด้วยว่าท่านั่งนี้จะทำให้ลูกน้อยสามารถทำอะไรได้มากกว่าการนั่งมองอยู่ทางด้านหลังของคุณ อย่างเช่น การดึงกระป๋องน้ำออกจากชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต ผลักแจกันในร้านขายของล้ม หรือเด็ดเอาใบไม้จากพุ่มไม้หรือต้นไม้ในสวน

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ควรกังวลในเรื่องใด

    สอนการใช้ถ้วย

    สอนลูกให้รู้จักใช้ถ้วยอย่างถูกต้องนั้นเป็นประโยชน์มาก อย่างแรกคือลูกเรียนรู้ว่ามีเครื่องดื่มอื่น ๆ มากกว่านมแม่หรือนมขวด การรู้วิธีการใช้ถ้วย อาจช่วยทำให้การหย่านมจากนมแม่และนมขวดเป็นไปได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การใช้ถ้วยยังทำให้ลูกดื่มน้ำ น้ำผลไม้หรือนมง่ายขึ้นด้วย โดยไม่ต้องป้อนนมเพิ่ม เคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้ลูกน้อยใช้ถ้วยได้เร็วขึ้น

    • รอจนกว่าลูกน้อยจะสามารถนั่งได้เองโดยไม่ต้องมีการพยุง วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการสำลักน้ำ
    • เลือกถ้วยให้เหมาะสมกับเด็ก เด็กทุกคนมักมีถ้วยโปรดของตัวเอง ลองให้ลูกใช้ถ้วยหลายๆ แบบ จนกว่าจะเจอแบบที่เหมาะกับลูกน้อยที่สุด เด็กบางคนชอบถ้วยแบบหูจับหนึ่งหรือสองข้าง ในขณะที่เด็กคนอื่นชอบถ้วยแบบไม่มีหูจับ
    • เลือกถ้วยที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าในขณะที่ถือถ้วยอยู่นั้นลูกอาจทำหล่นลงบนพื้น หรือแสดงอารมณ์ด้วยการเอากระแทกกับโต๊ะ ฉะนั้นจึงควรแน่ใจว่าเป็นถ้วยที่ไม่แตกง่าย ไม่ควรใช้ถ้วยที่มีน้ำหนักมากบริเวณก้นถ้วย นอกจากนี้ ถ้วยกระดาษหรือถ้วยพลาสติก ก็ไม่เหมาะกับการฝึกให้ลูกใช้ถ้วย เนื่องจากอาจฉีดขาดหรือแตกได้ง่าย
    • อย่าปกป้องลูกจนเกินไป ลูกอาจได้เรียนรู้จากความผิดพลาด การสอนลูกให้ใช้ถ้วยอาจทำให้เกิดความเลอะเทอะอย่างมาก บางครั้งน้ำก็ไหลจากคางลงมาถึงท้อง ก็ไม่เป็นไร ลูกจะคล่องขึ้นเองเมื่อทำไปนาน ๆ อาจช่วยลูกน้อยด้วยการให้สวมเอี๊ยมกันน้ำ ถ้าให้ลูกนั่งบนตัก ก็อาจใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้ากันเปื้อนกันชนิดกันน้ำได้ เพื่อป้องกันความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน
    • สร้างความสะดวกสบาย ต้องแน่ใจว่าไม่ว่าทำอะไรลูกจะรู้สึกสบายตัว เวลาที่จับนั่งลงบนตัก บนเก้าอี้เด็ก หรือเก้าอี้สำหรับป้อนอาหาร
    • ให้ลูกได้ดื่มในสิ่งที่เหมาะสม การให้ดื่มน้ำเป็นวิธีที่ง่ายและก่อให้เกิดความเลอะเทอะน้อยที่สุด เมื่อลูกน้อยสามารถดื่มน้ำจากถ้วยได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ค่อยเปลี่ยนไปเป็นนมแม่หรือนมผง หรือน้ำผลไม้เจือจาง คุณควรให้ลูกน้อยเลือกดื่มอะไรตามที่เขาชอบ เด็กบางคนอาจชอบดื่มน้ำผลไม้มากกว่านม ในขณะเด็กคนอื่นชอบดื่มนมมาตั้งแต่แรกแล้ว
    • ใช้เทคนิคเข้าช่วย เทของเหลวลงในถ้วยในปริมาณน้อย ๆ ยกแก้วขึ้นในระดับปากของลูกน้อย แล้วค่อยๆ เทเข้าปากลูกน้อยสองสามหยด จากนั้นดึงถ้วยให้ห่างออกมา เพื่อให้เขาได้กลืนโดยไม่เกิดการสำลัก คุณควรหยุดป้อนเมื่อลูกแสดงอาการว่าดื่มพอแล้ว อย่างเช่นหันหน้าหนี หรือดันแก้วออก แม้จะใช้เคล็ดลับดีๆ  แล้วนี้แล้ว ยังอาจเห็นน้ำไหลออกมาจากปากลูกน้อย ในปริมาณพอๆ กับที่ดื่มเข้าไป แต่ก็ต้องจำไว้ว่าควรฝึกทำบ่อย ๆ ใช้ความอดทนเข้าไว้ แล้วความพยายามจะสำเร็จผล
    • สนับสนุนให้ลูกน้อยมีส่วนร่วม ลูกอาจพยายามดึงถ้วยออกจากมือด้วยความคิดว่า หนูทำเองได้ ก็ปล่อยให้เขาได้ลองทำ มีเด็กบางคนที่สามารถถือถ้วยได้เองต้ังแต่อายุน้อย ๆ และอย่าผิดหวังอะไรล่ะถ้าเขาทำน้ำหกออกมาหมด นั่นคือกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง
    • อย่ากดดันลูก ถ้าลูกน้อยยังปฎิเสธการใช้ถ้วยหลังจากพยายามมาหลายครั้ง ถึงแม้จะลองให้ดื่มหลายๆ อย่าง ก็ให้ลองใช้ถ้วยหลาย ๆ แบบแล้วก็ตาม อย่าฝืนใจลูกให้ใช้ถ้วยในการดื่มอะไร ทางดีที่ก็เก็บถ้วยเอาไว้ก่อนซักสองสามสัปดาห์ เมื่อนำออกมาลองใช้ดูใหม่ ก็ใส่ความตื่นเต้นเข้าไปเล็กน้อย (อย่างเช่น “ดูซิ…แม่มีอะไรมาให้ด้วย!”) ก็จะทำให้ลูกมีความกระตือรือร้นมากขึ้น หรืออาจปล่อยให้ลูกได้เล่นถ้วยเปล่าเป็นของเล่นในช่วงที่เว้นช่วงก่อนทำการฝึกครั้งต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา