พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 8 เป็นช่วงที่สมองของลูกน้อยมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ซึ่งภายในไตรมาสแรกนี้สมองอาจจะใหญ่ขึ้นได้ถึง 5 เซนติเมตร คุณแม่คุณพ่อควรใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและทักษะด้านต่าง ๆ ให้เติบโตสมวัย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 8 ของลูกน้อย
ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร
ตอนนี้สมองของลูกน้อยมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ซึ่งภายในไตรมาสแรกนี้อาจจะใหญ่ขึ้นได้ถึง 5 เซนติเมตร อาจสังเกตได้จากบางครั้งที่มีช่วงตื่นตัวและช่วงเงียบ ถือเป็นเรื่องปกติลูกน้อยกำลังสำรวจสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
คุณพ่อคุณแม่ควรโต้ตอบกับลูก เช่น พูดคุย ร้องเพลง หรือบรรยายรายละเอียดว่ากำลังทำอะไร ลูกน้อยอาจจะไม่เข้าใจ แต่จะเรียนรู้และซึมซับน้ำเสียงและการแสดงออกต่าง ๆ ไว้ในหน่วยความจำของสมอง
พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 8 มีอะไรบ้าง
ในช่วงสัปดาห์นี้ลูกน้อยอาจมีพัฒนาการต่าง ๆ ดังนี้
- ชันศีรษะขึ้น 90 องศา เวลานอนคว่ำ
- ยกคอตั้งขึ้นได้เมื่อจับตัวตั้งตรง
- นำมือสองข้างมาประสานกันได้
- มีอาการเงียบผิดสังเกต ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลูกน้อยกำลังสังเกตและเรียนรู้อยู่
ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร
ช่วงนี้คือเวลาสำคัญในการเรียนรู้ของลูกน้อย ควรใช้เวลาตอนที่เขากำลังเงียบ ๆ เพื่อพูดคุย สื่อสาร ร้องเพลง หรือบรรยายภาพต่าง ๆ
คุณแม่สามารถพูดคุยไปพร้อม ๆ กับลูบไล้เนื้อตัวลูกน้อยด้วยความรัก ในขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือป้อนอาหาร นี่คือ วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะทางด้านภาษา การได้ยิน และการมองเห็นควบคู่กันไป
สุขภาพ ความปลอดภัยกับ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 8 ของลูกน้อย
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร
คุณหมออาจจะทำการตรวจตามรายการต่อไปนี้
- ฟังเสียงหัวใจเต้นผ่านทางหูฟัง และมองการเต้นของหัวใจบริเวณหน้าอก
- ตรวจคลำบริเวณท้อง ตรวจหาความผิดปกติของสะโพก ตรวจสอบข้อต่อโดยการขยับขาทั้ง 2 ข้างไปมา
- ตรวจสอบพัฒนาการการเคลื่อนไหวของมือ แขน เท้า และขา
- ตรวจหาความผิดปกติบริเวณหลังและกระดูกสันหลัง
- ตรวจตาด้วยเครื่องตรวจหรือปากกาไฟฉาย เพื่อตรวจสอบปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex) การโฟกัสภาพ และการทำงานของท่อน้ำตา นอกจากนี้ก็ใช้เครื่องตรวจ เพื่อตรวจสี ของเหลว และการเคลื่อนไหวของหู
- ใช้เครื่องตรวจจมูก เพื่อดูสีและเยื่อบุผิวในช่องจมูกด้วย
- ตรวจช่องปากและช่องคอ โดยใช้ไม้กดที่ลิ้น เพื่อดูสี การอักเสบ และฝี
- ตรวจคอเพื่อดูการเคลื่อนไหว ต่อมไทรอยด์ และขนาดของต่อมน้ำเหลือง (ต่อมน้ำเหลือง จะคลำหาได้ง่ายในเด็กทารก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ)
- ตรวจหาอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
- ใช้มือตรวจคลำหารอยบุ๋มบริเวณศีรษะ
- ตรวจการหายใจและการทำงานของหัวใจ โดยการสังเกต ใช้หูฟัง หรือเคาะเบา ๆ บริเวณหน้าอกและหลัง
- ตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ของอวัยวะสืบพันธ์ุ เช่น ไส้เลื่อน ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ทวารหนักแตกหรือปริ
- ตรวจอาการของสายสะดือ และการขลิบอวัยวะเพศ (ถ้าลูได้รับการขลิบ)
- ตรวจผิวหนังเพื่อดูสี ผื่นคัน และตำหนิต่างๆ เช่น ปาน
- ตรวจการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 8 ของลูกน้อย
- การขลิบอวัยวะเพศ
ในช่วงสัปดาห์นี้ลูกน้อยอาจได้รับการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ ซึ่งจะมีความเจ็บปวด และบางครั้งก็จะมีเลือดออกหลังขลิบเล็กน้อย ถือเป็นเป็นเรื่องปกติ
การใช้ผ้าอ้อมสองชั้นในช่วงวันแรก จะช่วยเพิ่มนุ่มในการรองรับอวัยวะเพศของเด็ก และช่วยป้องกันไม่ให้ต้นขาไปกดทบอวัยวะเพศด้วย ที่สำคัญ คุณแม่ต้องอย่าลืมรักษาความสะอาดในบริเวณนั้น และงดอาบน้ำในช่วงนี้จนกว่าแผลจะหายดี
- การสะอึก
เด็กบางคนไม่ได้เพิ่งมีอาการสะอึกหลังคลอด แต่สะอึกตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว เพราะสะอึกเป็นปฎิกิริยาของร่างกายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ เด็กจะเกิดอาการสะอึกเวลาที่ดื่มนมจากขวดหรือเต้านมมารดา โดยกลืนอากาศเข้าไปอยู่ในท้องด้วย โดยที่ไม่รู้สึกการสะอึกเป็นการรบกวนหรือสร้างความเจ็บปวดแต่อย่างใด
- การจาม
การพบน้ำคร่ำและน้ำมูกจำนวนมาก ในระบบทางเดินหายใจของทารกถือเป็นเรื่องปกติ การจามบ่อย ๆ จะช่วยให้ทารกสามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออกไปจากระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการที่ผู้ใหญ่สูดพริกไทยเข้าไป แล้วเกิดอาการจามติด ๆ กัน นอกจากนี้ ทารกอาจจามเมื่อโดนแสงสว่าง หรือสงแดด
- ตาของทารก
ถ้าพบว่าทารกมีอาการตาเหล่หรือตาเข ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะอาการนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากรอบพับบนผิวหนังที่มุมหัวตา ทำให้ทารกดูเหมือนตาเหล่ เมื่อรอยพับนั้นหดกลับไปเมื่อเติบโตขึ้น ดวงตาก็จะกลับมาดูเป็นปกติ แต่เพื่อความมั่นใจ คุณแม่ควรบอกเล่าความกังวลให้คุณหมอฟังในการไปพบคุณหมอในครั้งต่อไป
ในช่วงเดือนแรกๆคุณแม่อาจจะสังเกตว่า ตาของทารกยังทำงานไม่สัมพันธ์กัน การเคลื่อนไหวดวงตาแบบนี้ เป็นการบ่งบอกว่าทารกกำลังเรียนรู้ที่จะใช้สายตา และทำให้กล้ามเนื้อตาแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ดวงตาทำงานได้ดีขึ้นภายใน 3 เดือน
แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือดูเหมือนว่าการทำงานของตาทารกจะไม่ประสานกันจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ และถ้าทารกมีแนวโน้มที่จะตาเหล่ ควรปรึกษากุมารแพทย์ด้านสายตาต่อไป ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันและรักษาดวงตาให้ปลอดภัย และตรวจวินิจฉัยเรื่องของ ความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางตาอย่างทันท่วงที
สิ่งที่ต้องเป็นกังวล
ต้องกังวลในเรื่องใด
หนึ่งในกิจวัตรที่คุณแม่คุณพ่อควรให้ความใส่ใจก็คือ การดูดจุกนมปลอมสำหรับเด็ก ควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะให้ลูกน้อยดูดจุกนมปลอมหรือไม่ และถ้าตัดสินใจให้ดูด ก็ควรจะเริ่มและจบสิ้นเมื่อไรดี
โดยปกติ คุณแม่จะใช้จุกนมปลอมกับลูกน้อยเป็นช่วงสั้น ๆ ในช่วงเวลาป้อนนมลูก การใช้จุกนมปลอมเร็วไม่ได้ก่อให้เกิดความสับสนระหว่างหัวนมแม่กับจุกนมปลอม หรือมีผลกระทบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 3 เดือนแรก หากการใช้จุกนมปลอมนั้นอยู่ในความควบคุมของพ่อแม่ จะช่วยได้เวลาป้อนอาหาร กล่อมนอน และต้องเข็นรถเด็กเป็นชั่วโมง ๆ
อย่างไรก็ตาม จุกนมปลอมอาจส่งผลเสียได้ ถ้าลูกน้อยมีจุกนมปลอมอยู่ที่ปากตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้รบกวนการเรียนรู้ที่จะนอนด้วยตัวเอง และยังอาจเป็นการรบกวนการนอนหลับด้วย ถ้าจุกนมปลอมหลุดออกจากปากในช่วงกลางดึก แล้วเขาไม่สามารถนอนต่อได้ซึ่งนั่นจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องลุกขึ้นมาจับใส่กลับเข้าไปในปากของลูกน้อย
การใช้จุกนมปลอมถ้าใช้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อช่วยสนองอาการอยากดูดของลูกน้อย ก็ถือว่าไม่เป็นอันตรายอะไร แต่ถ้าใช้นานเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกน้อยติดเป็นนิสัย จนยากที่จะเยียวยาได้ คุณแม่หรือผู้ที่ดูแลเด็ก จึงต้องใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาการที่ดีของเจ้าตัวเล็กต่อไป