การให้นมลูกเป็นเรื่องที่คุณแม่และลูกน้อยต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน การฝึกให้ลูกดูดหัวนมอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้ลูกได้กินน้ำนมแม่อย่างเต็มที่ ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายเพื่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้การดูแลหัวนมคุณแม่ในช่วงให้นมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามเพื่อที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อหรือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ข้อควรรู้ในการฝึกให้ลูกดูดหัวนมแม่
- การให้นมลูกเริ่มขึ้นตั้งแต่หลังลูกคลอดไม่กี่ชั่วโมง การฝึกให้ลูกดูดหัวนมแม่ อาจจะเริ่มจากอุ้มลูกมาแนบชิดในอ้อมกอดแม่ ทำให้ลูกรู้สึกใกล้ชิดและพร้อมที่จะกินนม จับบริเวณหัวนมและยกเข้าไปใกล้ปากของลูก เพื่อให้ลูกดูดหัวนมได้ถนัด การให้นมลูกจะไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหากลูกดูดหัวนมถูกวิธี วิธีสังเกตอาจจะดูได้จากริมฝีปากของลูกว่าอ้ากว้างมากพอที่จะอมทั้งส่วนหัวนมและส่วนของลานหัวนม (ส่วนวงกลมสีคล้ำ) แล้วหรือไม่ ขากรรไกรของลูกจะขยับไปมา อาจส่งเสียงเล็กน้อยเมื่อกลืนนม
- ในช่วงสัปดาห์แรก ควรปลุกให้ลูกตื่นมาดูดหัวนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง อาจจะปลุกด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อม นำผ้าห่มออกจากตัว หรือการนวดตัวลูกเบา ๆ เด็กในวัยนี้ต้องการกินนมแม่ประมาณ 8 ครั้งต่อวัน
- ขนาดหน้าอกและหัวนมไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนม ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ในการผลิตน้ำนมและความถี่ในการดูดกระตุ้นจากลูกเป็นหลัก
- ฝึกให้ลูกกินนมข้างหนึ่งให้หมดก่อนที่จะสลับไปกินนมอีกข้างหนึ่ง เนื่องจากระหว่างการให้นม น้ำนมที่ออกมาจะมีสองประเภท คือ น้ำนมส่วนหน้า ที่ไหลออกมาในช่วงแรกของการให้นมและน้ำนมส่วนหลัง ที่ไหลออกมาช่วงท้ายของการให้นม ซึ่งน้ำนมส่วนหลังจะอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินอี ไขมัน และแคลอรี่ที่สูงกว่าน้ำนมส่วนหน้า การให้ลูกกินน้ำนมจนเกลี้ยงเต้าก่อนเปลี่ยนข้างจะทำให้ลูกได้สารอาหารที่ครบถ้วน
- จัดท่าที่เหมาะสำหรับการให้นมลูก เพื่อให้ลูกดูดหัวนมแม่ในท่าที่ถนัดและไม่ขัดจังหวะการกินนมของลูก โดยลำตัวลูกชิดลำตัวแม่ ลูกหันหน้าเข้าเต้านมแม่ศีรษะและลำตัวของลูกอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ตัวลูกได้รับการประคองอย่างมั่นคงโดยมีมือแม่หรือหมอนรองซ้อนไว้ เมื่อลูกหยุดดูดหัวนม หลับตาลง หรือหันหน้าออกจากหน้าอก แสดงว่าอาจจะหยุดพักหรืออิ่มนมแล้ว ลองทำให้ลูกเรอ หรือรอสักพักจนกว่าจะให้กินนมอีกครั้ง
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในช่วงให้นมลูก
ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง และลูกอาจจะได้ผลกระทบจากนิโคตินและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ และแอลกอฮอล์ก็สามารถส่งผ่านน้ำนมมายังทารก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้ และยังเสี่ยงให้เกิดโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้
ลดปริมาณกาแฟระหว่างให้นม คุณแม่สามารถดื่มกาแฟได้ทุกวันเหมือนเดิม แต่ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 200 มิลลิกรัม/วัน โดยเว้นช่วงสักพักก่อนให้นมลูก เพื่อเลี่ยงไม่ให้คาเฟอีนส่งผ่านจากนมไปยังร่างกายของลูก
สังเกตท่าทางเมื่อลูกหิว การให้นมลูกอาจจะไม่ต้องกำหนดเวลาตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกเอง เมื่อลูกเริ่มหิวจะแสดงท่าทางที่ทำให้รู้ว่าต้องการกินนมแม่ เช่น การขยับเข้าใกล้และพยายามดูดหัวนมแม่ ดูดนิ้วมือ ดูดปากตัวเอง หรือมีอาการตื่นตัว คุณแม่ควรให้ลูกกินนมก่อนที่ลูกจะร้องไห้เพราะหิวเกินไป หากอุ้มลูกมาให้นมในขณะร้องไห้ ลูกอาจจะกินนมได้ไม่ถูกวิธีและได้รับน้ำนมไม่เต็มที่
มองเป็นช่วงเวลาผูกสัมพันธ์แม่ลูก ช่วงเวลาให้นมเป็นช่วงที่คุณแม่และลูกน้อยจะได้ใช้เวลาเงียบ ๆ อยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ถือโอกาสนี้เป็นช่วงเวลาที่จะได้สื่อสารและส่งความรักให้กับลูก เป็นช่วงเวลาที่ควรใช้ความอดทน โดยลูกจะใช้เวลากินนมประมาณ 10-20 นาที/ข้าง
ไม่ควรให้กินจากขวดนมเร็วเกินไป การกินจากขวดนมตั้งแต่อายุยังน้อยเกินไป จะทำให้ลูกสับสนและลืมวิธีการดูดหัวนมแม่เมื่อต้องการสลับมาให้นมลูกเอง หากต้องการให้ลูกหัดกินนมจากขวด ควรรออย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังคลอด
ควรให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน น้ำนมแม่เป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกที่เพิ่งคลอดในช่วง 6 เดือนแรก ควรเป็นอาหารชนิดเดียวที่ให้ลูกกินในช่วงนี้ หากไม่สะดวกให้ลูกดูดหัวนมจากเต้า ก็สามารถที่จะปั๊มน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกกินจากขวดได้ หากเป็นไปได้ให้น้ำนมลูกจนอายุครบ 1 ปี แม้ว่าจะให้ลูกกินอาหารชนิดอื่นเป็นหลักแล้วก็ตาม
หัวนมแม่ต้องดูแลอย่างไร
วิธีการดูแลหัวนมแม่ในระหว่างช่วงให้นมลูก มีดังต่อไปนี้
- คุณแม่ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ก่อนใช้มือจับบริเวณหัวนมเพื่อให้นมลูก
- สวมใส่เสื้อชั้นในที่สะอาด และเลือกใส่เสื้อชั้นในที่เหมาะสมกับคุณแม่ช่วงให้นม เช่น เสื้อชั้นในผ้าฝ้ายที่สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้อับชื้น
- หากมีอาการเจ็บหรือหน้าอกมีอาการผิดปกติ เช่น หน้าอกแบนลง หัวนมมีสีซีด หรืออักเสบ อาจจะต้องลองเปลี่ยนท่าการให้นมลูกให้ถูกวิธี ให้คุณแม่อุ้มลูกในท่าที่รู้สึกสบายและไม่อึดอัด ควรให้บริเวณหัวนมพักอยู่ที่เพดานปากของลูก ใกล้กับริมฝีปากบนเพื่อให้ปากของลูกอมทั้งส่วนหัวนมและส่วนลานหัวนมสีคล้ำเข้าไป วิธีนี้จะลดอาการเจ็บหน้าอกของคุณแม่ได้
- คุณแม่ควรล้างทำความสะอาดบริเวณหัวนมด้วยน้ำเปล่าเท่านั้น เลี่ยงการใช้แชมพูหรือสบู่มาล้าง เพราะอาจจะทำให้สารหล่อลื่นตามธรรมชาติบริเวณหัวนมหายไป สารนี้ช่วยไม่ให้หัวนมแห้งแตกเมื่อให้นมลูก
- หากมีอาการอักเสบบริเวณหัวนมเกิดขึ้น อาจสามารถทำตามวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการเช็ดหัวนมหลังการให้นมลูก ปล่อยให้หัวนมแห้งไปตามธรรมชาติเป็นเวลา 10-15 นาที
- คุณแม่ที่ใช้แผ่นซิลิโคนป้องกันหัวนมเพื่อป้องกันหัวนมแตก หรือลูกกัดหัวนม ควรหยุดชั่วคราวเพื่อป้องกันการอักเสบเพิ่มเติม
- สำหรับคุณแม่ที่ใส่แผ่นซับน้ำนมไว้ในเสื้อชั้นในเพื่อซับน้ำนมที่ไหลออกมา ควรหมั่นเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมบ่อย ๆ เนื่องจากอาจจะทำให้อับชื้นได้ และควรเลี่ยงไม่ใช้แบบที่เป็นพลาสติก
เมื่อไหร่ที่ควรพบคุณหมอ
- มีรอยแดง มีก้อนแข็ง หรือรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก
- รู้สึกคัดเต้านมรุนแรง
- เป็นไข้หรือรู้สึกคัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะติดเชื้อ
หากดูแลเบื้องต้นแล้วยังคงมีอาการปวดแสบ ปวดแดงหรือเจ็บที่บริเวณนมจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก หรือทำให้ไม่สามารถให้นมลูกต่อไปได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]