ปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะแทรกซ้อนอีกประเภทหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดบางคน ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในระยะยาวได้ มาทำความรู้จักกับปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อที่คุณได้รู้เกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมาและจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที
การคลอดก่อนกำหนดคือการคลอดที่เกิดขึ้นก่อนเวลาที่กำหนดโดยประมาณของทารก หรือการคลอดที่เกิดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายและสมองอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่เมื่ออยู่ในครรภ์ จนทำให้ทารกบางคนมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไรยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเท่านั้นด้วยเช่นกัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนด คืออะไร
ปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาทางระบบประสาทซึ่งส่งผลต่อสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทส่วนปลาย และกล้ามเนื้อ ยิ่งทารกเกิดเร็วเท่าไร ความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองก็มากขึ้นเท่านั้น เรียกว่า ภาวะตกเลือดในสมอง ในทารกบางคนภาวะตกเลือดในสมองอาจหายได้เอง แต่ในบางคนอาจส่งผลทำให้สมองได้รับบาดเจ็บอย่างถาวร อีกทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาสมองอื่น ๆ ตามมาได้
ประเภทของปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนด
ประเภทของปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนดที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular hemorrhage : IVH)
เป็นภาวะที่มีเลือดออกในบริเวณรอบ ๆ โพรงช่องว่างในสมอง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำไขสันหลัง เกิดจากเส้นเลือดบอบบางเกิดการแตกออก ทำให้เลือดเข้าไปสะสมในสมองซึ่งสามารถทำลายเซลล์ประสาทได้ ภาวะเลือดออกในโพรงสมองมักพบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม อาจแสดงอาการ ดังนี้
- โรคโลหิตจาง
- ทารกร้องไห้บ่อย
- อัตราการเต้นของหัวใจต่ำ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- อาการซึม ชัก
- ทารกไม่อยากอาหาร
ภาวะเนื้อเยื้อรอบโพรงสมองได้รับความเสียหาย (Periventricular leukomalacia : PVL)
เป็นภาวะที่เกี่ยวของกับระบบประสาทในทารกคลอดก่อนกำหนด และมักเกิดขึ้นบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยอาจแสดงอาการ ดังนี้
- กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง
- กล้ามเนื้อไม่ค่อยตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ทารกที่เกิดมาพร้อมกับภาวะนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาตสมองและอาจมีพัฒนาการที่ล่าช้า
สมองพิการ
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัมพาตสมองมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อ รวมถึงท่าทาง ทารกที่มีภาวะสมองพิการอาจมีอาการเหล่านี้
- ท่าทางผิดปกติ
- การเคลื่อนไหวผิดปกติ
- กลืนลำบาก
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ
- กล้ามเนื้อกระตุก
- กล้ามเนื้อไม่สมดุล
- มีอาการสั่น
สาเหตุการเกิดภาวะสมองพิการยังไม่แน่ชัด แต่ยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าไรยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้มากขึ้นเท่านั้น
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
เป็นภาวะที่ของเหลวส่วนเกินสะสมในสมอง ทำให้โพรงสมองกว้างขึ้นและเพิ่มแรงกดดันต่อเนื้อเยื่อสมอง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำสามารถเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนของ ภาวะเนื้อเยื้อรอบโพรงสมองได้รับความเสียหาย (Periventricular leukomalacia : PVL) และยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย
- ขนาดหัวของทารกที่ใหญ่กว่าปกติ
- หัวโตเร็วกว่าปกติ
- อาการชัก
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีที่แน่นอนในการป้องกันทารกคลอดก่อนกำหนดได้ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดูแลสุขภาพครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยวิธีเหล่านี้
- ตรวจสุขภาพครรภ์ตามที่แพทย์นัดเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
- รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้
- พยายามรักษาความเครียดให้ต่ำที่สุด
- ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเมื่อตั้งครรภ์ เช่น ล้างมือบ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการจับสิ่งที่สามารถแพร่เชื้อสู่ตัวเองได้