backup og meta

ทารกสะอึก สาเหตุและวิธีรับมือที่ควรรู้

ทารกสะอึก สาเหตุและวิธีรับมือที่ควรรู้

ทารกสะอึก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในทารก โดยเฉพาะทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี โดยทั่วไป ทารกสะอึกมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และการสะอึกของทารกไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะอันตรายแต่อย่างใด สาเหตุที่ทารกสะอึกอาจเกิดจากกะบังลมที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่กระตุกหรือหดเกร็ง ทารกสามารถสะอึกได้ทุกเวลา แต่มักเกิดขึ้นหลังให้นม ระหว่างนอนหลับ ตอนทารกตกใจ หรือรู้สึกเครียด ทารกอาจสะอึกน้อยลงเมื่อโตขึ้น อย่างไรก็ตาม หากทารกสะอึกนานผิดปกติ หรือนานกว่า 48 ชั่วโมง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุเพิ่มเติมและรักษาให้ตรงจุด

ทารกสะอึก เกิดจากอะไร

ทารกสะอึก เป็นอาการที่อาจเกิดจากกระเพาะอาหารขยายตัวแล้วไปดันกะบังลมให้หดตัว ส่งผลให้ทารกหายใจเข้าฉับพลัน อากาศพุ่งเข้าไปกระทบกล่องเสียง ทำให้เส้นเสียงปิดกะทันหัน จนเกิดเป็นเสียงสะอึก โดยทั่วไป อาการสะอึกของทารกไม่ได้เป็นสัญญาณของความผิดปกติทางพัฒนาการแต่อย่างใด และถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้สำหรับทารกที่อวัยวะต่าง ๆ ยังเจริญเติบโตและพัฒนาไม่เต็มที่ อาการสะอึกเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติจึงไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาการสะอึกโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น หากทารกสะอึกติดต่อกันนานเกินไป หรือนานเกิน 48 ชั่วโมง ควรพาไปพบคุณหมอ

วิธีดูแลเมื่อ ทารกสะอึก

วิธีที่ช่วยให้ทารกสะอึกน้อยลง มีดังนี้

  • หากทารกสะอึกหลังให้นม อาจลองป้อนนมให้ช้าลง เนื่องจากทารกอาจสะอึกเพราะดูดนมเร็วเกินไปแล้วหายใจไม่ทัน
  • ให้นมในขณะที่ทารกกำลังสงบและรู้สึกสบายใจ เพราะหากทารกดื่มนมในขณะที่ขยับตัวบ่อยหรืออยู่ไม่นิ่งอาจทำให้ทารกสำลัก และนมอาจไประคายเคืองหลอดอาหารของทารก ทำให้กระตุ้นการสะอึกได้
  • เลือกขนาดจุกนมให้เหมาะสมกับขนาดปากของทารก เพื่อไม่ให้น้ำนมไหลช้าหรือเร็วเกินไปจนอาจทำให้ทารกสะอึกได้ ปกติแล้ว อาจต้องเปลี่ยนขนาดของจุกนมทุก ๆ 2-3 เดือน เนื่องจากทารกในวัยนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • กดคลึงตรงกะบังลมหรือท้องส่วนบนของทารกเบา ๆ อย่างนุ่มนวลสักครู่ อาจช่วยลดอาการสะอึกได้
  • เปลี่ยนท่าให้นม อาจรองหมอนหนุนศีรษะทารกให้สูงขึ้นในขณะให้นมขวด
  • หากทารกสะอึกนานเกินไป เด็กอาจมีอาการหงุดหงิด ให้อุ้มตั้ง ลูบหลังและส่งเสียงปลอบประโลมให้เด็กผ่อนคลาย
  • หลังให้นม ควรทำให้ทารกเรอด้วยการอุ้มทารกไว้ให้ศีรษะของทารกพาดอยู่บนไหล่ของคุณแม่ จากนั้นลูบหลังหรือตบหลังของทารกเบา ๆ เพื่อไล่ลมในกระเพาะอาหารจนกว่าทารกจะเรอ

สะอึกแบบไหนควรพาไปหาคุณหมอ

หากอาการสะอึกมาพร้อมอาการไม่สบายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน ไข้ ซึม หรืออาการสะอึกของทารกไม่ดีขึ้นหลังจากสะอึกมาสักพัก ทารกสะอึกถี่ ๆ เกิน 48 ชั่วโมง หรือทารกสะอึกจนกระทบต่อการดื่มนม การนอนหลับ หรือการหายใจ ควรพาทารกไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Do If Your Baby Has Hiccups. https://www.webmd.com/baby/what-to-do-if-your-baby-has-hiccups#:~:text=Hiccups%20are%20normal%20and%20usually,or%20after%20feeding%20to%20relax. Accessed April 1, 2022

Hiccups. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/hiccups. Accessed April 1, 2022

https://health.clevelandclinic.org/heres-what-to-do-when-your-baby-has-the-hiccups/. Accessed April 1, 2022

Here’s What to Do When Your Baby Has the Hiccups. https://health.clevelandclinic.org/heres-what-to-do-when-your-baby-has-the-hiccups/. Accessed April 1, 2022

Hiccups. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiccups/symptoms-causes/syc-20352613. Accessed April 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทารกสะอึก คุณแม่มือใหม่ควรรับมืออย่างไรดี

สะอึก (Hiccups)


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา