backup og meta

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน และวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน และวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

เด็กอายุ 10 เดือนเป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็น พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ที่เด่นชัด เช่น เปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืนเองได้ หยิบสิ่งของที่วางไว้ขึ้นมาถือได้ พยายามประกอบคำ 1-2 คำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น ทำพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้าง เข้าใจความหมายของคำศัพท์มากขึ้น สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ และเด็กในวัยนี้อาจมีสิ่งของที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ เช่น หนังสือ เพลง เกม ผ้าห่ม ตุ๊กตา หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยตอบโต้ ร้องเพลง อ่านนิทาน เล่นด้วยกัน และชักชวนให้เด็ก 10 เดือนขยับร่างกายและบริหารกล้ามเนื้อบ่อย ๆ อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กให้เป็นไปตามวัยได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน มีอะไรบ้าง

พัฒนาการทั่วไปของเด็กอายุ 10 เดือน อาจมีดังต่อไปนี้

พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม

  • ให้ความร่วมมือมากขึ้นเมื่อมีคนแต่งตัวให้ เช่น ยกแขนขึ้นสูงให้ใส่เสื้อ ยกขาเมื่อมีคนใส่กางเกงให้
  • ไม่ชอบอยู่ห่างจากคนคุ้นเคย และร้องหาเมื่อคนเหล่านั้นหายไปจากสายตา
  • ตระหนักถึงความต้องการของตัวเองมากขึ้น และจะแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร เช่น ร้องไห้เมื่อถูกห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่อยากทำ

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

  • ทำเสียงเลียนแบบคำศัพท์หรือเสียงง่าย ๆ ที่ได้ยิน
  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
  • แสดงอารมณ์ ความรู้สึก และสื่อสารได้ดีขึ้น เช่น โบกมือ ส่ายหน้า
  • จดจำวัตถุและรูปภาพที่คุ้นเคยในหนังสือได้ และอาจชี้ไปที่วัตถุบางอย่างได้ถูกต้องเมื่อมีคนถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร

พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • ส่วนใหญ่จะนั่งและลุกขึ้นยืนเองได้แล้ว
  • กระถดตัวและปีนป่ายไปตามเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น โซฟา เก้าอี้
  • ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบจับสิ่งของได้คล่องแคล่วขึ้น

พัฒนาการด้านสติปัญญา

  • เลียนแบบการกระทำของคนรอบข้าง เช่น ทำท่าคุยโทรศัพท์ ทำท่าแปรงฟัน กดปุ่มบนรีโมต
  • เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (Object permanence) คือ วัตถุยังคงอยู่ แม้จะมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หรือไม่ได้ยินในขณะนั้น เช่น รู้ว่าแม้ตอนนี้คุณแม่จะไม่อยู่ในห้องด้วยแต่ไม่นานคุณแม่ก็จะกลับมา หาของที่ซ่อนหรือวางไว้ที่อื่นเจอได้อย่างรวดเร็ว

อาการและสัญญาณของพัฒนาการผิดปกติ

หากพบว่าเด็กอายุ 10 เดือน มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของพัฒนาการที่ผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและหาวิธีแก้ไขต่อไป เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม

  • ไม่สบตาผู้อื่น และไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวผ่านสายตา
  • ตาเหล่หรือตาเขเข้า
  • ไม่พูดพึมพำหรือเลียนเสียง
  • ไม่คลาน หรือคลานไปข้างหน้าด้วยกล้ามเนื้อแค่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • ไม่หันหน้าตามเสียงดังที่ได้ยิน เช่น เสียงของหล่น เสียงปิดประตูแรง ๆ
  • ไม่ยิ้มแย้ม หรือแสดงท่าทางที่บ่งบอกว่าดีใจ หรือเศร้า
  • ลุกขึ้นนั่งหรือยืนเองไม่ได้
  • ใช้มือสองข้างทำอะไรพร้อมกันไม่ได้
  • ไม่ชี้สิ่งของหรือรูปภาพ
  • ไม่ใช้ท่าทางในการสื่อสาร เช่น โบกมือ ส่ายหน้าไปมา
  • ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้มาก่อน หรือมีทักษะถดถอย
  • ไม่แสดงท่าทางดีใจเมื่อเห็นหน้าคนคุ้นเคยหรือคนใกล้ชิด
  • คนใกล้ชิดปลอบให้เด็กสงบลงไม่ได้เมื่อเด็กร้องไห้งอแง

วิธีส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก 10 เดือน

  • เด็กในวัยนี้ชอบพูดคุยแม้ว่าจะไม่สามารถออกเสียงเป็นประโยคที่สมบูรณ์ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและตอบโต้กับเด็กบ่อย ๆ พูดทวนคำที่เด็กออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และฝึกออกเสียงได้ถูกต้อง
  • อ่านนิทานให้เด็กฟังบ่อย ๆ เลือกหนังสือที่มีสีสันสดใส มีพื้นผิวสัมผัสหรือรูปทรงใหม่ ๆ เช่น หนังสือนิทานผ้า หนังสือนิทานทรงเลขาคณิต เพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสและเสริมทักษะด้านภาษาและการฟัง เสริมสร้างจินตนาการ อาจช่วยปูพื้นฐานการอ่านและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กต่อไปได้
  • ควรกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว เช่น วางของเล่นไว้ห่าง ๆ แล้วให้เด็กคลานไปหาของเล่น แม้เด็กอาจล้มหรือทำให้ตัวเองเจ็บตัวบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไป สิ่งสำคัญ คือ พื้นที่ภายในบ้านที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ควรปลอดภัย ไม่มีเหลี่ยมมุม ควรเก็บของมีคมและผลิตภัณฑ์เคมีที่อาจเป็นอันตรายให้พ้นมือเด็ก ติดรั้วกั้นเด็กบริเวณบันได เป็นต้น
  • เด็กในวัยนี้มักห่วงเล่นมากจนไม่ค่อยกินอาหารหรือนม การขยับตัวมากขึ้นและกินอาหารน้อยลงอาจทำให้เด็กน้ำหนักลดลงจนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ อาจทำฟิงเกอร์ฟูด (Finger food) หรืออาหารชิ้นเล็ก ๆ ที่เด็กสามารถหยิบเข้าปากได้ง่าย เช่น ผักผลไม้นึ่งหั่นเป็นแท่งพอดีคำ ไม่ให้เด็กเล่นของเล่นระหว่างกินข้าว เพื่อให้เด็กจดจ่อกับการกินอาหารและได้รับสารอาหารเพียงพอ ส่งผลให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย
  • ฝึกการเล่น “จ๊ะเอ๋” ด้วยการเอามือทั้งสองข้างบังหน้าตัวเองแล้วแยกมือออกจากกันพร้อมพูดว่า “จ๊ะเอ๋!” อาจช่วยให้เด็กตระหนักรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ยังคงอยู่แม้จะมองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง หรือสัมผัสไม่ได้ในตอนนั้น ทั้งยังอาจช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และเด็กให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Baby Development: Your 10-Month-Old. https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-development-10-month-old. Accessed October 3, 2022

Your baby’s growth and development – 10 months old. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/babys-growth-and-development-10-months-old. Accessed October 3, 2022

Infant development: Milestones from 10 to 12 months. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/infant-development/art-20047380. Accessed October 3, 2022

10-11 months: baby development. https://raisingchildren.net.au/babies/development/development-tracker-3-12-months/10-11-months. Accessed October 3, 2022

Movement: Babies 8 to 12 Months. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/Pages/Movement-8-to-12-Months.aspx. Accessed October 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการเด็ก คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการเด็ก4เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการอย่างถูกวิธี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา