เด็กทารกวัย 4 เดือน เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบเอื้อมไปหยิบสิ่งของเข้าปาก สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของตัวเอง ทั้งยังชอบส่งเสียงเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การพูด การฟัง การร้องเพลง การอ่าน ร่วมกับเด็กเป็นประจำเพื่อส่งเสริม พัฒนาการเด็ก4เดือน ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมตามวัย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
พัฒนาการเด็ก4เดือน มีอะไรบ้าง
พัฒนาการทั่วไปของเด็กอายุ 4 เดือน อาจมีดังต่อไปนี้
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม
- แสดงท่าทางร่าเริงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง
- สามารถทำเสียงคิกคักถูกใจเมื่อมีคนมาเล่นด้วย แต่ไม่ถึงกับหัวเราะออกมา
- สามารถส่งสายตา เคลื่อนไหว หรือส่งเสียงเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ
- แสดงอารมณ์หรือความรู้สึก เช่น ไม่พอดี ดีใจ เสียใจ ได้ค่อนข้างชัด
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
- ส่งเสียงอ้อแอ้หรือ อู อา และพยายามเลียนเสียงที่ได้ยิน
- พูดคุยตอบกลับด้วยภาษาของตัวเองเมื่อมีคนมาคุยด้วย
- หันหน้าตามเสียงที่ได้ยิน
พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- มีแรงประคองศีรษะของตัวเองให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ในขณะที่ถูกอุ้ม
- ถือของเล่นค้างไว้ได้เมื่อมีคนหยิบของเล่นไปวางไว้ในมือ
- เอามือเข้าปากบ่อย ๆ
- เหวี่ยงแขนใส่ของเล่น
- ยันตัวขึ้นได้ด้วยการถ่ายน้ำหนักไปยังข้อศอกและปลายแขน เมื่อนอนคว่ำ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
- เมื่อรู้สึกหิวจะอ้าปากรอกินนมหากเห็นขวดนมหรือเต้านมอยู่ใกล้ ๆ
- มองมือตัวเองอย่างสนอกสนใจ
สัญญาณของปัญหาพัฒนาการในเด็ก4เดือน
หากพบว่าเด็กอายุ 4 เดือน มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าพัฒนาการไม่ปกติและควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติและเหมาะสมกับช่วงวัยมากที่สุด
- ดูเซื่องซึมผิดปกติ
- เอื้อมมือคว้าสิ่งของมือเดียว (หลังผ่านการสังเกตซ้ำ ๆ หลายครั้ง)
- ไม่สามารถควบคุมการหมุนของศีรษะได้
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัว เช่น เสียงเรียก เสียงของตก
- ไม่พยายามหยิบสิ่งของเข้าปากเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน
- ไม่สบตากับคุณพ่อคุณแม่หรือไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวผ่านหน้า
- ตาเหล่บ่อยครั้ง
- ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้
- ไม่มีท่าทางตื่นเต้นเมื่ออยู่กับคนอื่น หรือไม่ยิ้มแย้ม
การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก4เดือน ทำได้อย่างไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ อาจเริ่มด้วยการถามคำถามหรือพูดตอบสนองต่อการออกเสียงแปลก ๆ ของเด็ก อาจหมั่นบรรยายสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือสิ่งต่าง ๆ ทั้งในและนอกบ้าน ด้วยน้ำเสียงและการแสดงออกทางสีหน้าที่สื่อถึงความเชื่อมโยงระหว่างคำและความรู้สึก
- วางแผนทำกิจกรรมแต่ละวันตามลำดับที่คุ้นเคย เช่น กินนม เล่น นอน เด็กจะรู้ว่ากิจกรรมที่ต้องทำต่อไปคือกิจกรรมใด ซึ่งอาจช่วยให้เด็กสงบและรู้สึกปลอดภัย
- เปลี่ยนท่าทางของเด็กบ่อย ๆ เช่น ฝึกให้เด็กนอนคว่ำ กระตุ้นให้เด็กยกคอขึ้นหรือฝึกพลิกตัวเป็นเวลาสั้น ๆ โดยต้องเฝ้าดูตลอดเวลา
- ให้เด็กได้สัมผัสและเรียนรู้พื้นผิวใหม่ ๆ เช่น หนังสือผ้า ยางบีบ เพื่อช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและการทำงานของสมอง
- ให้เด็กได้เล่นของเล่นที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น เครื่องดนตรีของเล่น ลูกบอลผ้า ช้อนไม้ เพื่อช่วยฝึกสมาธิให้กับเด็ก โดยเลือกใช้ของเล่นไม่เกิน 2 ชิ้น/ครั้ง ลองวางของเล่นให้ห่างจากมือเล็กน้อยเพื่อให้เด็กยืดตัวและคลานตามไปหยิบมาเล่น
- ใช้เวลาก่อนนอนร่วมกับเด็กทุกวัน เช่น อ่านหนังสือนิทาน ร้องเพลงให้เด็กฟัง การอ่านนิทานอาจช่วยส่งเสริมทักษะการพูดและพัฒนาการทางความคิด เด็กจะเรียนรู้การออกเสียงของคุณพ่อคุณแม่และอาจเลียนแบบเสียงได้
- เปิดเพลงให้เด็กฟังเป็นประจำ เช่น เพลงกล่อมเด็กจังหวะสบาย ๆ อาจช่วยให้เด็กรู้สึกสงบและผ่อนคลาย เพลงเด็กที่มีจังหวะสนุกสนาน เช่น เพลงเอบีซี เพลงชื่อสัตว์ อาจช่วยให้ความบันเทิงและความรู้ใหม่ ๆ
- ตอบสนองและแสดงท่าทางเป็นมิตรกับเด็กเสมอ เช่น ทำท่าตื่นเต้น ยิ้ม พูดคุยกับเด็กเวลาเด็กทำเสียง อาจช่วยให้เด็กส่งเสียงและสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
- ให้เด็กได้สัมผัสของเล่นที่ปลอดภัยและนำเข้าปากได้ เช่น ยางกัดสำหรับทารก อาจช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ ควรระมัดระวังไม่ให้เด็กสัมผัสกับของร้อน ของมีคม หรือของขนาดเล็กเกินไปซึ่งอาจทำให้สำลักได้