backup og meta

วิธีปั๊มน้ำนม และวิธีเก็บรักษาน้ำนมแม่

วิธีปั๊มน้ำนม และวิธีเก็บรักษาน้ำนมแม่

การปั๊มน้ำนม คือ การใช้อุปกรณ์ในการดูดน้ำนมออกจากเต้าของคุณแม่ เป็นวิธีช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม และเก็บรักษาน้ำนมไว้ใช้ในภายหลัง ทั้งยังช่วยในเรื่องการลดความเจ็บปวดเมื่อคัดเต้านม คุณแม่มือใหม่อาจต้องศึกษาวิธีการปั๊มน้ำนมอย่างถูกวิธี รวมทั้งการเก็บรักษาน้ำนม เพื่อคงคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูกน้อย

ข้อดีและข้อเสียของการปั๊มน้ำนม

การปั๊มน้ำนมมีข้อดีและข้อเสียที่คุณแม่ควรพิจารณามีดังนี้

ข้อดี

  • ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่ การปั๊มน้ำนมช่วยให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำนมที่ปั๊มเสร็จแล้วไปเก็บในช่องแช่แข็งหรือตู้แช่น้ำนมเพื่อเก็บไว้ใช้ได้หลายวัน
  • ประหยัดเวลามากขึ้น คุณแม่สามารถวางแผนและตั้งเวลาในการให้นมลูกได้ง่ายขึ้น ให้นมลูกในที่สาธารณะได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหาสถานที่หรือจุดที่ลับตาคนเพื่อให้นมลูก
  • ช่วยลดความเจ็บปวด หลังการคลอด คุณแม่อาจจะมีอาการเต้านมคัดตึง น้ำนมจะคั่งอยู่ในอกและทำให้เจ็บจากปริมาณน้ำนมที่มากเกินไป การปั๊มน้ำนมจะช่วยปล่อยน้ำนมออกจากเต้า และบรรเทาอาการเจ็บลงได้
  • สามารถนำไปบริจาคได้ คุณแม่บางคนอาจสามารถผลิตน้ำนมเกินความจำเป็นสำหรับลูกของตัวเอง สามารถบริจาคน้ำนมเพื่อช่วยเหลือคุณแม่ท่านอื่น ๆ ที่มีปัญหาเรื่องไม่มีน้ำนม หรือมีไม่เพียงพอได้
  • แบ่งเบาภาระของคุณแม่ การปั๊มน้ำนมเก็บไว้จะช่วยให้คนอื่นภายในบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการให้นมลูกและช่วยลดภาระการดูแลลูก ให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนและทำธุระของตัวเองมากขึ้น

ข้อเสีย

  • กระทบความเป็นส่วนตัว การปั๊มน้ำนมในที่สาธารณะหรือนอกบ้านอาจเป็นเรื่องยาก หากไม่มีห้องที่ปิดมิดชิดเพื่อใช้ปั๊มน้ำนม และเครื่องปั๊มนมอาจจะทำเสียงดังรบกวนได้
  • มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อการปั๊มน้ำนมเพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ปั๊มน้ำนม ขวดนม ถุงเก็บน้ำนม ตู้แช่น้ำนม และเสื้อชั้นในเพื่อการปั๊มนม
  • ต้องระวังเรื่องความสะอาด การทำความสะอาดอุปกรณ์ในการปั๊มน้ำนมเป็นเรื่องสำคัญมาก ควรล้างให้สะอาด นึ่งหรือต้มฆ่าเชื้ออย่างน้อย 10 นาที ก่อนใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อโรคซึ่งอาจทำให้ลูกป่วยได้

เคล็ดลับการปั๊มน้ำนม

  • การปั๊มนมให้มีน้ำนมออกมาปริมาณมากต้องใช้เวลาปั๊มไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะไม่มีน้ำนมออกมามากนัก แต่เมื่อทำเป็นประจำก็จะมีน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปั๊มน้ำนมบ่อย ๆ ก็จะทำให้น้ำนมออกมามากขึ้นเท่านั้น
  • อาจแบ่งเวลาที่ใช้ปั๊มน้ำนมเป็นครั้งละ 15 นาทีทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง โดยสามารถปั๊มหลังให้นมลูกทันที เพื่อกระตุ้นให้เต้านมผลิตนมเพิ่ม การบีบบริเวณหน้าอกเบา ๆ ขณะปั๊มน้ำนมก็สามารถช่วยดึงน้ำนมออกมาได้มากขึ้น
  • คุณแม่ควรผ่อนคลายขณะปั๊มน้ำนม ควรเลือกสถานที่ที่สงบและไม่มีสิ่งรบกวน เลือกฟังเพลงเบา ๆ หรือดูรูปภาพของลูกน้อยก็สามารถช่วยให้ผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น
  • คุณแม่ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ ให้เพียงพอเพื่อทดแทนของเหลวที่เสียไปในแต่ละวัน และการดื่มน้ำยังช่วยในเรื่องการผลิตน้ำนม ให้มีน้ำนมมากขึ้น

การเก็บรักษาน้ำนมหลังปั๊มน้ำนม

  • ใช้ถุงเก็บน้ำนมที่สะอาดและเป็นวัสดุเกรดอาหาร มีซิปล็อคหนาแน่น เลี่ยงการใช้ถุงแบบใช้แล้วทิ้ง หรือถุงพลาสติกที่ไม่ได้ใช้สำหรับการเก็บน้ำนมแม่โดยเฉพาะ
  • บรรจุน้ำนมในถุงเก็บน้ำนมตามปริมาณที่ลูกกินต่อ 1 รอบ หากลูกกินนมรอบละ 4 ออนซ์ ก็ควรใส่ในปริมาณเดียวกันเพื่อให้ลูกสามารถกินได้หมดในครั้งเดียว หากดื่มไม่หมดภายใน 2 ชั่วโมง ควรทิ้ง
  • หลังปั๊มน้ำนมเสร็จแล้วควรนำไปใส่ตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งทันที เพื่อการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นและคงคุณภาพของน้ำนม หากแช่ตู้เย็นจะเก็บไว้ได้นาน 3-4 วัน หากใส่ช่องแช่แข็งควรใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน
  • ไม่ควรแช่น้ำนมไว้ใกล้ฝาประตูตู้เย็น เนื่องจากการเปิดปิดตู้เย็นจะทำให้อุณหภูมิไม่คงที่และอาจทำให้น้ำนมเสียได้
  • หากจำเป็นต้องเดินทาง สามารถเก็บน้ำนมไว้ในเจลเก็บความเย็นได้ประมาณ 24 ชั่วโมง และให้ใช้นมให้เร็วที่สุด หรือรีบนำเข้าตู้เย็นเมื่อถึงปลายทาง
  • เมื่อนำออกจากช่องแช่แข็งเพื่อให้น้ำนมละลายแล้วไม่ควรนำกลับไปแช่ซ้ำ ควรใช้ให้หมดทันที
  • ควรแปะป้ายวันที่ที่ปั๊มน้ำนมไว้ที่ถุงน้ำนม เพื่อสะดวกในการตรวจดูว่าสามารถใช้ได้ถึงวันไหน
  • ไม่ควรนำนมไปเข้าไมโครเวฟหรือนำไปต้ม เพราะจะทำให้สูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์
  • นมแม่สามารถให้กินได้ทั้งแบบเย็น อุณหภูมิห้องและแบบอุ่น สำหรับการละลายนมให้นำถุงที่ใส่นมไปวางในชามน้ำอุ่นสักครู่หรือเปิดให้น้ำไหลผ่าน และควรทดสอบว่าร้อนเกินไปหรือไม่ก่อนนำไปให้ลูกกิน

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pumping Breast Milk. https://www.cdc.gov/nutrition/infantandtoddlernutrition/breastfeeding/pumping-breast-milk.html. Accessed February 18, 2022

Breast-feeding and pumping: 7 tips for success. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/breastfeeding/art-20048312. . Accessed February 18, 2022.

Proper Storage and Preparation of Breast Milk. https://www.cdc.gov/breastfeeding/recommendations/handling_breastmilk.htm.  Accessed February 18, 2022.

How to Use a Breast Pump. https://www.webmd.com/baby/how-to-use-a-breast-pump. . Accessed February 18, 2022.

Breastfeeding: How to Pump and Store Your Breast Milk. https://familydoctor.org/breastfeeding-how-to-pump-and-store-your-breast-milk/. Accessed February 18, 2022.

Exclusive Pumping: What Is It? https://www.webmd.com/baby/exclusive-pumping-what-is-it. Accessed February 18, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/03/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เครื่องปั๊มนม เลือกอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

เก็บ น้ำนม อย่างไรให้คุณภาพดี ไม่บูดง่าย


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา