เก็บ น้ำนม เป็นวิธีการยืดอายุและรักษาคุณภาพน้ำนมแม่ให้ยังคงมีคุณภาพและสารอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งการเก็บน้ำนมที่ดีอาจต้องคำนึงถึงประเภทของนม เช่น นมปั๊มใหม่ นมเก่า ภาชนะที่ใส่ และอุณภูมิในการเก็บรักษาเพื่อคงคุณภาพของนมและความปลอดภัยของทารก
การปั๊มน้ำนมแม่
การปั๊มน้ำนมสามารถทำได้ด้วยมือและเครื่องปั๊มนม ซึ่งความถี่และปริมาณในการปั๊มจะขึ้นอยู่กับวิธีการปั๊ม หากสังเกตว่าน้ำนมเริ่มไหลออกมาจากเต้าควรหาเวลาในการระบายน้ำนมออก ควรปั้มให้เป็นเวลาและสม่ำเสมอหรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลุมหน้าอกทั้งก่อนอาบน้ำ ระหว่างอาบน้ำ และหลังอาบน้ำ เพื่อเพิ่มการผลิตและการไหลเวียนของน้ำนม
การปั๊มน้ำนมแม่ด้วยมือ
การปั๊มนมด้วยมือ มีวิธีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่น และเตรียมขวดหรือภาชนะที่สะอาดพร้อมเก็บน้ำนม
- อาจเริ่มด้วยการนวดหน้าอกเบา ๆ ก่อนเริ่มปั๊มนมอาจช่วยให้น้ำนมไหลได้ง่ายขึ้น
- จับเต้านมด้วยมือข้างหนึ่ง จากนั้นใช้มืออีกข้างหนึ่งทำมือเป็นรูปตัว C ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบเบา ๆ รอบหัวนม โดยให้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มืออยู่ห่างจากหัวนม 2-3 เซนติเมตร ไม่ควรบีบหัวนมเพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้
- ทำตามขั้นตอนด้านบนอย่างเป็นจังหวะ ค่อย ๆ บีบและปล่อยแล้วทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ที่จุดเดิม พยายามอย่าเลื่อนนิ้วไปบนผิวหนังเพราะอาจทำให้นมหยุดไหล
- เมื่อทำอย่างถูกต้องน้ำนมจะค่อย ๆ เริ่มไหลออกมา แต่หากไม่มีน้ำนม หรือการไหลของน้ำนมเริ่มช้าลงให้ลองขยับนิ้วและนิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย แต่ยังคงหลีกเลี่ยงการบีบบริเวณที่ใกล้กับหัวนม
- เมื่อการไหลของเต้านมข้างหนึ่งช้าลง ให้สลับไปยังเต้านมอีกข้างหนึ่ง ให้ปลี่ยนเต้านมไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำนมจะหยดช้ามากหรือหยุดไปเลย
การปั๊มน้ำนมแม่ด้วยเครื่องปั๊มนม
เครื่องปั๊มน้ำนมมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบใช้มือและแบบอัตโนมัติ ซึ่งการใช้งานของเครื่องปั๊มนมแต่ละประเภทอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับคู่มือการใช้งานแต่ละรุ่น และแรงดูดของเครื่องปั๊มนมบางรุ่นอาจรุนแรงมากจนทำให้เจ็บหัวนม ต้องระมัดระวังในการตั้งเครื่องปั้มเพราะความแรงอาจไม่เท่ากัน
คุณแม่อาจต้องเลือกประเภทและขนาดหัวปั๊มที่พอดีกับหัวนมเพื่อไม่ให้เกิดรอยช้ำและความเสียหายที่หัวนม นอกจากนี้ควรทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมอยู่เสมอด้วย หากไม่ทราบว่าเครื่องปั๊มนมแบบไหนที่เหมาะกับตัวเองอาจขอคำแนะนำจากคุณหมอ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายและราคาไม่แพง
เคล็ดลับการเก็บ น้ำนมแม่
การเก็บน้ำนมแม่ให้ได้คุณภาพอาจต้องคำนึงถึงประเภทของนมและอุณภูมิในการเก็บรักษา ดังนี้
- นมแม่ที่เพิ่มปั๊มสด เก็บในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้นาน 4 ชั่วโมง เก็บในตู้เย็น 4 องศาเซลเซียสได้นาน 4 วัน เก็บในช่องแช่แข็ง -18 องศาเซลเซียสได้นาน 6 เดือน หรือสูงสุด 12 เดือน
- นมแม่ที่ปั๊มไว้ก่อนหน้า เก็บในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้นาน 1-2 ชั่วโมง เก็บในตู้เย็น 4 องศาเซลเซียสได้นาน 24 ชั่วโมง ห้ามเก็บเข้าช่องแช่แข็งหลังจากละลายแล้ว
- นมแม่ที่เหลือจากการให้ลูกกิน ควรให้ลูกกินส่วนที่เหลือให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง หากลูกกินไม่หมดควรทิ้งส่วนที่เหลือ ไม่นำเก็บไปแช่แข็งใหม่
การเก็บน้ำนมหลังปั๊มนมเพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพของน้ำนม สามารถทำได้ดังนี้
- ติดฉลากบนภาชนะที่เก็บน้ำนมแม่ให้ชัดเจนโดยเขียนวันที่ เวลาที่ปั๊มนมไว้บนฉลาก
- ควรเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้ห่างจากประตูตู้เย็นหรือประตูช่องแช่แข็ง เนื่องจากเมื่อเปิดประตูตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งบ่อย ๆ ความเย็นจะกระจายออกด้านนอกจนอาจทำให้อุณภูมินมไม่คงที่และทำให้นมเสียได้
- ควรเก็บน้ำนมแม่เข้าช่องแช่แข็งทันทีหากไม่ได้ใช้น้ำนมที่ปั๊มใหม่ภายใน 4 วัน จะช่วยรักษาคุณภาพของน้ำนมแม่ได้
- หากต้องการแช่แข็ง ไม่ควรเติมนมให้เต็มภาชนะ แต่ควรเว้นที่ว่างไว้ประมาณ 1 นิ้ว เพราะนมแม่จะขยายตัวเมื่อแข็งตัว
- ควรแบ่งนมให้มีปริมาณน้อย ๆ ในแต่ละภาชนะ ประมาณ 2-4 ออนซ์ เพราะหากบรรจุนมมากเกินไปแล้วลูกกินไม่หมด อาจต้องทิ้ง
- หากต้องเดินทาง น้ำนมแม่สามารถเก็บไว้ในกล่องเก็บความเย็นที่มีถุงน้ำแข็งได้นานถึง 24 ชั่วโมง และเมื่อเดินทางถึงปลายทางแล้วควรเก็บนมไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งทันที
- ถ้ามีตู้แยกเก็บเฉพาะน้ำนมแม่อย่างเดียวก็จะดีมาก อาจทำให้เก็บนมได้นานขึ้น
การละลายน้ำนมที่แช่แข็ง
- ควรนำนมที่เก็บไว้นานที่สุดออกมาละลายก่อนเสมอ เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปคุณภาพของน้ำนมแม่จะลดลง
- สามารถละลายนมแม่ได้หลายวิธี เช่น เอานมออกมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง และควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากละลายแล้ว หรือนำนมไปแช่ในภาชนะที่มีน้ำอุ่น หรือเปิดน้ำอุ่นไหลผ่านเพื่อละลายนม
- ไม่ควรละลายหรืออุ่นนมแม่ในไมโครเวฟ เนื่องจากความร้อนในไมโครเวฟสามารถทำลายสารอาหารในน้ำนมแม่และอาจทำให้ร้อนเกินไปจนทารกปากพองหรือบาดเจ็บได้
- หากนมละลายแล้วใช้ไม่หมด ไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก แนะนำว่าให้ปั๊มไว้ให้พอดีในแต่ละวัน
การป้อนนมทารก
- ลูกสามารถกินนมแม่ที่ปั๊มสดได้โดยไม่ต้องอุ่น
- ควรทดสอบอุณหภูมิของนมก่อนป้อนให้ลูกกินโดยหยดลงบนข้อมือ
- หากลูกยังดื่มนมไม่หมดควรใช้นมที่เหลือภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จ แต่หากหลังจาก 2 ชั่วโมง ยังมีนมเหลืออยู่ควรทิ้งนมที่เหลือทันที
- นมแม่ที่แช่แข็งไม่ต้องอุ่นจนร้อนจัด เนื่องจากจะทำให้มีกลิ่นเหม็นหืนได้ อุ่นแค่พอให้ไขมันละลายก็สามารถนำมาให้ลูกกินได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]