พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรือการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของเด็ก เช่น เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เด็กอาจจะเหนื่อย หิว ตื่นเต้นมากเกินไป หรือบางครั้ง เด็กอาจแค่เบื่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเกเร และเรียนรู้วิธีที่จะช่วยให้เด็กปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นอย่างเหมาะสม
สาเหตุที่ทำให้เด็กเกเร
เมื่ออายุได้ 1-4 ขวบ เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ และยังรับมือกับความผิดหวังและอารมณ์ของตัวเองได้ไม่ดี ทั้งยังสื่อสารความต้องการหรือความรู้สึกได้ไม่มากนัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ เมื่อโดนบังคับหรือขัดใจ เด็กจึงมักแสดงพฤติกรรมที่อาจดูเป็นเด็กเกเร เช่น ก้าวร้าว รุนแรง ไม่เชื่อฟัง เอาแต่ใจตัวเอง ลงไปนอนร้องไห้กับพื้น ขว้างปาสิ่งของ หรือแผดเสียงร้อง
การที่เด็กเกเรไม่เชื่อฟัง อาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้
- ความหิว
- ความเหนื่อยล้า
- ความไม่พอใจ
- ต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่
- ต้องการของบางอย่าง เช่น ตุ๊กตา ของเล่น
- ต้องการแสดงออกว่าไม่อยากทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น เก็บของเล่น ทำความสะอาด
พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้อาจลดลงเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กสามารถพูดและสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในความต้องการได้มากขึ้นแล้ว
วิธีรับมือเมื่อ เด็กเกเร
วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยแก้ไขปัญหาเด็กเกเร ไม่เชื่อฟังได้
- พูดคุยกับเด็กโดยตรง พูดคุยสะท้อนอารมณ์ของเด็กให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตัวเองขณะนั้น เช่น หนูกำลังโมโห หนูกำลังไม่พอใจ หนูอยากได้ของเล่นชิ้นนี้ใช่ไหม และบอกเหตุผลที่ห้ามไม่ให้ทำ หรือเหตุผลที่ไม่สามารถให้ในสิ่งที่เด็กต้องการได้ แม้เด็กจะยังสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้ไม่มาก แต่ก็สามารถเข้าใจคำอธิบายได้ เมื่อรู้เหตุผลแล้วก็อาจมีพฤติกรรมเด็กเกเรน้อยลง ลองหาโอกาสทำความเข้าใจกันมากขึ้นเมื่อเด็กอยู่ในวัยที่สื่อสารได้
- เบี่ยงเบนความสนใจเด็ก เมื่อเด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำท่าทางเหมือนจะฉุนเฉียว โวยวาย เริ่มเบะปากจะร้องไห้เสียงดัง ให้ลองชวนเด็กมองอย่างอื่นหรือชวนทำกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากเรื่องเดิม เช่น การชี้ชวนให้หันไปดูการ์ตูนในโทรทัศน์ การชวนคุยเรื่องอื่น การหยิบของเล่นมาวางตรงหน้าเด็ก
- ไม่แสดงปฏิกิริยาตอบกลับที่รุนแรง พยายามรับมือเด็กเกเรอย่างใจเย็น ไม่ดุว่า ใช้อารมณ์กับเด็ก หรือต่อล้อต่อเถียงในขณะที่เด็กกำลังงอแงหรืออาละวาด เพราะจะทำให้เด็กทำเสียงดังหรืออาละวาดหนักกว่าเดิม ควรพูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผล ให้เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงไม่ควรทำเรื่องนั้น ๆ และหาทำ จะมีผลเสียยังไง เช่น ห้ามไม่ให้กินสีเทียน แล้วอธิบายว่าสีเทียนไม่ใช่อาหาร กินแล้วอาจเป็นอันตราย อาจทำให้ติดคอ และหายใจไม่ออกได้
- ทำตัวนิ่งเฉยใส่ ทำให้เด็กเกเรรู้ว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องไม่สมควร และไม่ได้ช่วยทำให้เด็กได้ในสิ่งที่ต้องการ
- ทำตัวเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่เพื่อน ลูกต้องการให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สอนและนำทางชีวิตในระหว่างที่กำลังเติบโต คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งกฎระเบียบให้กับเด็กเกเร เช่น อนุญาตให้ดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่นได้ถึงสองทุ่มเท่านั้น เพื่อให้เด็กรู้ขอบเขตและกฎที่ต้องปฎิบัติตามภายในบ้าน
- สอนให้เด็กรู้จักขอบเขต เด็กควรรู้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ และสามารถทำได้ถึงขั้นไหน ขอบเขตที่ตั้งควรมีความแน่นอนและไม่ยืดหยุ่นมากเกินไป เด็กควรตระหนักได้ว่าการกระทำที่ล้ำเส้นจะส่งผลตามมา เช่น การทำโทษ การงดขนมหวาน การงดดูการ์ตูน
- ให้รางวัลเมื่อเด็กทำตัวดีขึ้น พูดชมเชยเมื่อเด็กสงบลงหรือให้รางวัลเมื่อทำตัวดีขึ้น การให้ความสนใจในด้านบวกจะสร้างความมั่นใจในทางที่ดีให้กับเด็ก เด็กจะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากคุณพ่อคุณแม่ และไม่ทำตัวเป็นเด็กเกเรในภายหลังอีก
- มีเวลาไทม์เอาต์ (Time-out) ให้เด็กจัดการตัวเอง ไทม์เอาต์ คือ การแยกเด็กออกจากจุดที่เด็กระเบิดอารมณ์ ทำตัวเกเร หรือร้องไห้งอแง แล้วให้ไปสงบสติอารมณ์อีกที่หนึ่ง โดยคุณพ่อคุณแม่จะคอยอยู่เป็นเพื่อนและพูดคุยกับเด็กถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากที่เด็กสงบลงแล้ว อาจเป็นสถานที่ที่เด็กชอบ มีตุ๊กตาหรือเป็นมุมที่อยู่แล้วสบายใจ
- ลองให้เด็กเลือกสิ่งที่อยากทำ แทนการออกคำสั่งที่อาจทำให้เด็กไม่พอใจ เช่น ให้เด็กเลือกว่า “จะเก็บของเล่นเข้ากล่องด้วยกัน หรืออยากจะเก็บเองคนเดียว”
- สังเกตพฤติกรรมของเด็กโดยไม่ตัดสินในสิ่งที่เด็กทำ ไม่บอกว่าผิดหรือถูก แต่พูดให้เด็กรู้เหตุผลว่าทำไมสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว เช่น หากเด็กแบ่งปันขนมให้กับคนอื่น ก็อาจจะบอกว่าการที่เด็กรู้จักแบ่งปันให้ขนมเพื่อน เป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้เพื่อนอิ่มท้องและมีความสุข
- รับฟังสิ่งที่เด็กต้องการจะบอก แสดงความเห็นด้วย เมื่อสิ่งที่เด็กต้องการเป็นเรื่องเหมาะสม หากเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำหรือทำไม่ได้ ควรบอกเหตุผลและอธิบายให้เด็กเข้าใจ การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในตัวเด็ก และยังทำให้เด็กนำไปเป็นตัวอย่างได้
- ควรหาเวลามาอยู่กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเล่น การรับประทานอาหารด้วยกัน การหัวเราะและรับฟังคำพูดของเด็กอยู่เสมอ
- ไม่ควรลงโทษเด็กเกเรด้วยการตี เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทำได้ ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กแทนที่จะเปิดโอกาสให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบและกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง
- ให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ เอง ในวัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง การให้เด็กทำเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองจะทำให้เด็กรู้สึกพอใจ เช่น หากเด็กต้องการแต่งตัวเอง ก็อาจปล่อยให้เลือกเสื้อผ้าและแต่งตัวด้วยตัวเองตามที่อยากทำ
เด็กเกเรขนาดไหน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ
แม้ความดื้อ ซน เกเร เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับได้เด็กในวัยนี้ แต่ถ้าอาการเด็กเกเรรุนแรงขึ้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหนึ่งวัน และเกิดขึ้นนานกว่า 15 นาทีในแต่ละครั้ง หรือเด็กมีอายุมากกว่า 4 ขวบแล้วยังมีอาการเช่นนี้อยู่เหมือนเดิม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]