บูลลี่ คือ การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ระราน หรือคุกคามที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของผู้อื่น เช่น ทำให้ทุกข์ใจและเจ็บปวด ทำให้ได้รับบาดเจ็บ การบูลลี่เป็นปัญหาความรุนแรงในสังคมที่พบได้ทั่วไป อาจแบ่งได้เป็นการกลั่นแกล้งทางวาจา เช่น การดูหมิ่นเหยียดหยามด้วยคำพูด ทางร่างกาย เช่น การทำร้ายทางร่างกาย ทางสังคม เช่น การกีดกันทางสังคม และในโลกไซเบอร์ เช่น การรุมประจานในโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจกระทบต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม จิตใจ ไปจนถึงบุคลิกของเด็กในอนาคต
ทั้งนี้ ควรศึกษาผลเสียต่อสุขภาพและวิธีการรับมือที่เหมาะสมเมื่อโดนบูลลี่ เพราะอาจช่วยลดปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาจากการบูลลี่ หรือการโดนบูลลี่ได้
[embed-health-tool-bmr]
การบูลลี่ คืออะไร
การบูลลี่ (Bullying) คือ พฤติกรรมกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ให้ร้าย คุกคาม ทำร้ายร่างกายและจิตใจของคนอื่น เป็นต้น เนื่องจากผู้กระทำอาจต้องการรู้สึกเหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า เและรู้สึกสุขใจเมื่อเห็นผู้อื่นหรือผู้ที่โดนบูลลี่เป็นทุกข์ รู้สึกไม่มีความสุข คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีบาดแผลในใจ ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
การโดนบูลลี่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ใหญ่ขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะอยากฆ่าตัวตาย และอาจบ่มเพาะบุคลิกภาพในทางลบ เช่น กลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความก้าวร้าวแอบแฝง และมีความนับถือตัวเองต่ำ การบูลลี่อาจพบได้บ่อยในเด็กในวัยเรียน และอาจเกิดขึ้นในสถานที่ที่เด็กใช้เวลาร่วมกัน เช่น โรงเรียน สนามเด็กเล่น
ประเภทของการบูลลี่
การบูลลี่ อาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
- การบูลลี่ทางวาจา เช่น การพูดจาข่มขู่ การพูดดูถูก การพูดล้อเลียน จนทำให้ผู้ที่โดนบูลลี่รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือสูญเสียความมั่นใจ
- การบูลลี่ทางร่างกาย เช่น การใช้กำลังทำร้ายหรือกลั่นแกล้งคนที่อ่อนแอกว่า การจงใจทำให้ผู้ที่โดนบูลลี่ประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ ด้วยการผลัก เหยียดขาให้คนที่เดินผ่านสะดุดล้ม ดึงผม ต่อยตีตามลำตัว แสดงท่าทางคุกคามให้หวาดกลัว เป็นต้น
- การบูลลี่ทางสังคม เช่น การเรียกด้วยชื่อในทางลบ (Name-calling) ที่ทำให้ผู้ถูกเรียกรู้สึกด้อยค่า เช่น อ้วน เหยิน เตี้ย การพยายามกันออกจากกลุ่มให้รู้สึกแตกแยกและโดดเดี่ยว การปล่อยข่าวลือในทางที่ไม่ดีและสร้างความเสียหายให้กับคนอื่น
- การบูลลี่ทางโลกออนไลน์หรือโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) เช่น การให้ร้าย การคุกคาม การรังแกคนอื่นผ่านการใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ ด้วยการขุดประวัติ เรียกคนที่เห็นด้วยกับตัวเองมารุมประจาน ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับคนที่โดนบูลลี่ เป็นต้น
ผลเสียต่อสุขภาพจากการโดน บูลลี่
ผลเสียต่อสุขภาพจากการโดนบูลลี่ มีดังนี้
ผลเสียด้านสุขภาพร่างกาย
การโดนบูลลี่อาจทำให้เด็กบางคนเครียดและวิตกกังวลจนมีปัญหานอนไม่หลับ และอาจมีอาการปวดท้อง และปวดศีรษะด้วย นอกจากนี้ หากโดนบูลลี่จนเครียดและไม่สามารถหาทางออกที่เหมาะสมได้ เด็กอาจแก้ไขปัญหาแบบผิดวิธี เช่น การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ผลเสียด้านสุขภาพจิตใจ
การโดนบูลลี่อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม และกลายเป็นเด็กเงียบ เก็บงำความคิด หรือกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเคารพตัวเองต่ำ (Low self-esteem) และอาจมีภาวะเครียดสะสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่มีความรุนแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิค หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้
สัญญาณว่าเด็กอาจโดนบูลลี่
หากพบว่าเด็กมีภาวะหรือปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กกำลังประสบปัญหาโดนบูลลี่
- มีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากเดิม มีท่าทางวิตกกังวล
- อารมณ์แปรปรวนหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น
- อาจปวดท้องหรือปวดศีรษะเพราะเครียดจัด
- รับประทานอาหารน้อยลงหรือมากขึ้น
- แสดงให้เห็นถึงการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เช่น พูดไม่ดีเกี่ยวกับตัวเองบ่อย ๆ
- ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ต้องการไปสนามเด็กเล่น หรือเจอเด็กในวัยเดียวกัน
- มีบาดแผลหรือรอยช้ำที่ไม่ทราบที่มาที่ไป
- มีเพื่อนน้อย หรือแทบไม่มีเพื่อนเลย
- ไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตกต่ำ
- มีปัญหาด้านการนอน และอาจปัสสาวะรดที่นอน
- ทำสิ่งของหรืออุปกรณ์การเรียนหายบ่อย
วิธีรับมือการบูลลี่
วิธีรับมือการบูลลี่ อาจมีดังนี้
วิธีรับมือสำหรับเด็ก
- พยายามไม่สนใจคนที่มาบูลลี่ เด็กที่เป็นฝ่ายบูลลี่มักคาดหวังปฏิกิริยาตอบกลับจากผู้ที่ตัวเองต้องการแสดงออกว่าเหนือกว่า การแสดงท่าทางที่ไม่พอใจ ร้องไห้ หรือหวาดกลัวอาจยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้ได้ใจ และยิ่งหาเรื่องก่อกวนไปเรื่อย ๆ จึงควรนิ่งเฉยเพื่อแสดงให้เห็นว่าการพยายามใช้อำนาจควบคุมเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผล
- เลี่ยงการปะทะโดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้คนที่มาบูลลี่ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและเหตุการณ์อาจบานปลายได้
- เก็บหลักฐานที่ถูกบูลลี่ รวบรวมหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้ง เช่น รูปภาพ ข้อความต่าง ๆ เพราะอาจใช้เป็นหลักฐานให้กับผู้ปกครองและทางโรงเรียน รวมไปถึงอาจเป็นประโยชน์ในการดำเนินการทางกฎหมายหากจำเป็น
- ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ควรบอกรายละเอียดและข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ เช่น ผู้ปกครอง คุณครู เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา แม้จะกลัวหรือคิดว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออกแต่การปรึกษาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ อาจช่วยให้คำแนะนำและวิธีการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ได้
วิธีรับมือสำหรับผู้ปกครอง
- สอนให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็กอยู่เสมอว่าสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องเมื่อหากเกิดปัญหาในการใช้ชีวิต การเข้าสังคม หรือมีปัญหาสุขภาพ เด็กจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต เมื่อเด็กเข้าหา ผู้ปกครองควรให้เวลา เปิดใจรับฟัง ให้ความสนใจอย่างจริงใจ และคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นร่วมกับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กไว้ใจที่จะบอกเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ และกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หากโดนบูลลี่และเกิดปัญหาอื่น ๆ
- สร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก คนในครอบครัวควรช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความเคารพตัวเองให้กับเด็ก ผลักดันให้เด็กรู้คุณค่าในตัวเองแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ ทำให้เด็กสามารถรับมือกับสถานการณ์ไม่ดีที่เข้ามาได้ง่ายขึ้น และไม่หวั่นไหวกับคำพูดรุนแรงจากคนรอบข้าง
- คุยกับครูที่ปรึกษา ผู้ปกครองควรหาเวลาไปพบครูที่ปรึกษาของเด็กและพูดคุยเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ปรับพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นได้
- ร่วมมือกับผู้ใหญ่คนอื่น ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและเครือข่ายทางสังคม เช่น ครูที่โรงเรียน ผู้ปกครองเด็กคนอื่น คนในชุมชน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกัน เช่น ส่งเสริมการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กด้วยกันเอง อบรมเด็กและปลูกฝังไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของการบูลลี่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต