backup og meta

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ (Dementia in Head Injury)

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ (Dementia in Head Injury)

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ (Dementia in Head Injury) แตกต่างจากโรคสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ ที่จะมีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่โรคสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บนั้นจะดีขึ้นได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

คำจำกัดความ

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ คืออะไร

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ (Dementia in Head Injury) เป็นปัญหาสุขภาพทั่วไป โดยลักษณะทั่วไปของสมองเสื่อมในผู้ที่ศีรษะบาดเจ็บจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทและบริเวณของศีรษะที่ได้รับบาดเจ็บ และลักษณะของผู้ป่วยก่อนได้รับบาดเจ็บ

โรคสมองเสื่อมที่เกิดหลังจากศีรษะบาดเจ็บจะแตกต่างจากโรคสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ กล่าวคือ โรคสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ จะมีอาการแย่ลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป แต่โรคสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บนั้นจะดีขึ้นได้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี

สมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บพบได้บ่อยมาก สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

อาการที่สัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ ได้แก่ อาการที่ส่งผลต่อการคิดและสมาธิ ความทรงจำ การสื่อสาร บุคลิกภาพ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อารมณ์ และพฤติกรรม

ผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้ร่วมกันโดยขึ้นอยู่กับบริเวณของศีรษะที่ได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงของบาดแผล หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งบุคลิกภาพของผู้ป่วยก่อนได้รับบาดเจ็บ อาการบางประการอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อาการอื่นๆ เกิดขึ้นได้ช้ากว่า ส่วนใหญ่แล้ว อาการต่างๆ จะเริ่มปรากฏขึ้นในเดือนแรกหลังจากได้รับบาดเจ็บ

อาการของโรคสมองเสื่อมในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ได้แก่

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด
  • สูญเสียความทรงจำ
  • สมาธิสั้น
  • กระบวนการคิดช้าลง
  • ไม่กระตือรือร้น
  • อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย
  • มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีพฤติกรรมในการเข้าสังคมที่ไม่เหมาะสม
  • แต่งกายแปลกหรือไม่ใส่ใจการแต่งตัว
  • กระสับกระส่าย
  • นอนไม่หลับ
  • ก้าวร้าว ชอบต่อสู้ หรือมักเป็นศัตรูกับผู้อื่น
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุและไม่เจาะจง

ผู้ป่วยบางรายมีอาการชักหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาการเหล่านี้ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมแต่อาจทำให้การวินิจฉัยและรักษาโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อนขึ้น

ความผิดปกติทางจิตที่สำคัญอาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมกันอย่างน้อยสองอาการหรือมากกว่า

  • อาการซึมเศร้า เสียใจ ร้องไห้ เซื่องซึม ล้มเลิกง่าย เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ความกังวล ความกังวลหรือความกลัวมากเกินไปส่งผลต่อกิจกรรมประจำวันหรือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หรือปรากฏอาการทางร่างกายต่างๆ เช่น อาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลียมาก กล้ามเนื้อตึง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • อาการฟุ้งซ่าน ตื่นเต้นมากเกินไป กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข นอนไม่หลับ พูดเร็ว หุนหันพลันแล่น ตัดสินใจช้า
  • โรคทางจิต ไม่สามารถคิดได้ตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ประสาทหลอน อาการหลงผิด โรคจิตหวาดระแวง มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการการคิด หากมีอาการรุนแรง พฤติกรรมของผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่หากอาการไม่รุนแรง พฤติกรรมอาจแค่ผิดปกติ แปลก หรือน่าสงสัย
  • อาการย้ำคิดย้ำทำ การเกิดอาการย้ำคิด (ความคิดและความเชื่อที่ไม่ควบคุมไม่ได้และไม่มีเหตุผล) และอาการย้ำทำ (อยากทำพฤติกรรมแปลกแยกอย่างควบคุมไม่ได้) การหมกมุ่นกับรายละเอียด กฎระเบียบ หรือความเป็นระเบียบ การขาดความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการเปลี่ยนแปลง
  • ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่าในการมีชีวิตอยู่หรือความรู้สึกว่าโลกจะดีขึ้นหากไม่มีเขาหรือเธอ การพูดถึงการฆ่าตัวตาย การพูดถึงการตั้งใจฆ่าตัวตาย การมีแผนที่จะฆ่าตัวตาย

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น ควรเข้ารับการรักษาทันที ไม่ว่าผู้ป่วยมีอาการศีรษะบาดเจ็บโดยทราบสาเหตุหรือไม่ และควรให้ข้อมูลแพทย์อย่างละเอียด หากมีอุบัติเหตุใดๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการศีรษะบาดเจ็บแม้เพียงเล็กน้อย

สาเหตุ

สาเหตุของสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

ต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของศีรษะบาดเจ็บในคนทั่วไป

  • หกล้ม (40%)
  • อุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจ (15%)
  • อุบัติเหตุจากรถยนต์ (14%)
  • การทำร้ายร่างกาย (11%)
  • ไม่ทราบสาเหตุ (19%)

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติดอื่นๆ เป็นสาเหตุหนึ่งของศีรษะบาดเจ็บจำนวนประมาณครึ่งหนึ่ง

กลุ่มคนดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะศีรษะบาดเจ็บมากขึ้น

  • ในเด็ก อุบัติเหตุจากการปั่นจักรยานเป็นสาเหตุสำคัญของศีรษะบาดเจ็บ
  • ศีรษะบาดเจ็บส่วนใหญ่ในทารกสะท้อนให้เห็นถึงว่ามีการทำร้ายเด็ก โดยมีชื่อที่เรียกโดยทั่วไปว่า shaken baby syndrome
  • ผู้สูงอายุมักได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บนั้นมีอยู่มากมาย และมักจะเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุ เช่น

  • เป็นผู้สูงอายุ
  • เป็นผู้ที่ขับรถบนท้องถนน
  • เป็นนักกีฬา

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว การเกิดขึ้นของอาการต่างๆ ของโรคสมองเสื่อมสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดของอาการเริ่มแรกต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ลักษณะที่แน่ชัดของการบาดเจ็บ และเหตุการณ์ของการบาดเจ็บ
  • การรักษาเบื้องต้นหลังจากการบาดเจ็บ เช่น การไปห้องฉุกเฉิน โดยควรมีประวัติการรักษาเพื่อการวินิจฉัยขั้นต่อไป
  • ภาวะของผู้ป่วยตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บ
  • ยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่วางจำหน่ายโดยทั่วไป หรือยาผิดกฎหมายที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่
  • คำอธิบายของอาการทั้งหมด ช่วงเวลา และความรุนแรงของอาการ
  • รายละเอียดการรักษาทั้งหมดที่ดำเนินการตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บ
  • มีการกระทำที่ผิดกฎหมายใดๆ ค้างอยู่หรือในระหว่างการพิจารณาหรือไม่

การสัมภาษณ์เกี่ยวกับสุขภาพเป็นการขอรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพทั้งหมดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยาทั้งหมดและการบำบัดอื่นๆ ประวัติสุขภาพของครอบครัว ประวัติการทำงาน ตลอดจนลักษณะนิสัยและไลฟ์สไตล์ ในกรณีส่วนใหญ่ พ่อแม่ คู่สมรส ลูกที่โตแล้ว หรือญาติหรือเพื่อนสนิทอื่นๆ ควรให้ข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษาหากผู้ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถให้ข้อมูลได้

ในขั้นตอนการประเมิน แพทย์อาจส่งต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปยังแพทย์ทางระบบประสาท ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับระบบประสาท ซึงรวมถึงสมอง

การตรวจร่างกายโดยละเอียด จะดำเนินการเพื่อระบุปัญหาทางประสาทวิทยาและการรับรู้ ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของสมองและทักษะการเข้าสังคม รวมทั้งลักษณะภายนอก พฤติกรรม หรืออารมณ์ที่ผิดปกติ

แพทย์ส่วนใหญ่จะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเข้ารับการทดสอบทางจิตประสาท ซึ่งเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในการบันทึกการบกพร่องทางการรับรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากศีรษะได้รับบาดเจ็บ

การทดสอบทางจิตประสาทสำหรับความจำเสื่อม

การทดสอบทางจิตประสาทเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ การทดสอบดังกล่าวดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนในสาขาเฉพาะทางของจิตวิทยาคลินิก โดยนักจิตประสาทจะใช้การวัดการจัดอันดับทางคลินิกเพื่อวินิจฉัยปัญหาทางการรับรู้แบบละเอียด การทดสอบนี้ยังกำหนดค่าพื้นฐานสำหรับการวัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดระะยะเวลาการรักษาอีกด้วย

การทดสอบโดยใช้ภาพถ่ายอวัยวะสำหรับการบาดเจ็บที่ศีรษะและสมองเสื่อม

การบาดเจ็บที่ศีรษะจำเป็นต้องสแกนสมองเพื่อตรวจหาส่วนของสมองที่ได้รับบาดเจ็บ

ซีทีสแกน (CT scan)

เป็นการเอกซเรย์ประเภทหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ของสมอง เป็นการทดสอบมาตรฐานสำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยมักทำการตรวจ 3 เดือนหลังจากการบาดเจ็บ เพราะอาจยังตรวจไม่พบความเสียหายได้ทันทีหลังจากได้รับบาดเจ็บ

เอ็มอาร์ไอ (MRI)

มีความละเอียดกว่ามากกว่าวิธี CT scan ในการแสดงให้เห็นการบาดเจ็บบางประเภท

สเป็คท์สแกน (SPECT scan)

เป็นเทคโนโลยีใหม่ วิธีนี้เป็นการตรวจโดยใช้ภาพถ่ายอวัยวะที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองในผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งอาจได้ผลดีมากกว่าวิธี CT scan หรือ MRI ในการวินิจฉัยอาการผิดปกติของการทำงานของสมอง โดยสามารถตรวจหาโรคสมองเสื่อมบางประเภทหรืออาการผิดปกติทางสมองอื่นๆ ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่เท่านั้น

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

หรือการตรวจ EEG เป็นการวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าของสมอง อาจใช้เพื่อรักษาอาการชักหรือภาวะที่กิจกรรมทางสมองทำงานช้าผิดปกติ

การรักษาสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

ศีรษะบาดเจ็บมักทำให้เกิด “วิกฤตการแก้ปัญหา (coping crisis)’ อย่างเฉียบพลัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทางอารมณ์ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความกังวลเป็นการตอบสนองที่พบได้ทั่วไปและผู้ป่วยอาจรู้สึกสิ้นหวังหรือซึมเศร้า

อาการบาดเจ็บที่สมองอาจทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้ป่วยลดลงในช่วงเวลาหนึ่ง ผู้ที่ศีรษะบาดเจ็บมักมีความทุกข์ใจและมีความลำบากในการรับมือกับอาการบาดเจ็บมากกว่าผู้ที่มีอาการบาดเจ็บประเภทอื่น

โดยปกติแล้ว สมาชิกในครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยหลักการแล้ว สมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ดูแลไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือรับภาระหนักมากเกินไป โดยผู้ดูแลควรติดต่อพูดคุยหรือรับคำปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยกับแพทย์ผู้รักษาหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ดูแลผู้ป่วยควรให้กำลังใจและกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองและช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ผู้ดูแลจำเป็นต้องอดทนและเข้มแข็ง โดยต้องทำใจยอมรับสภาพของผู้ป่วยว่าย่อมรู้สึกเหนื่อย มีอาการป่วย หรือมีอาการเครียด ควรให้ส่งเสริมหรือใส่ใจผู้ป่วยในสิ่งที่ทำได้มากกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้

อาการบาดเจ็บมี่ศีรษะมักฟื้นตัวมากที่สุดในระยะเวลาหกเดือนแรก แต่การฟื้นตัวที่ช้าลงอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาถึงห้าปีหลังได้รับบาดเจ็บ

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะที่มีอาการสมองเสื่อมจะมีอาการดีขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การปรับพฤติกรรม
  • การฟื้นฟูการรับรู้
  • การใช้ยาสำหรับอาการเฉพาะ
  • การมีส่วนเกี่ยวข้องของครอบครัวหรือเครือข่าย
  • บริการทางสังคม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการสมองเสื่อมจากศีรษะบาดเจ็บ

ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตัวเอง หากผู้ป่วยยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ควรปรับปรุงแผนการรักษาโดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากทั้งฝ่ายทีมงานวิชาชีพและสมาชิกในครอบครัว ทีมงานดังกล่าวควรประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลด้วยตัวเองและปฏิบัติตามแนวทางการรักษา ในหลายๆ กรณี ผู้ป่วยต้องมีผู้ดูแลเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามแนวทางการรักษาบนพื้นฐานความปลอดภัย

สิ่งแวดล้อมโดยรอบก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรเงียบสงบหรือวุ่นวายเกินไป ผู้ป่วยควรมีกิจวัตรประจำวันทั้งกลางวันและกลางคืน การรับประทานอาหาร การนอน การพักผ่อน การใช้ห้องน้ำ และการเข้าร่วมการฟื้นฟูและกิจกรรมอดิเรก จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสมดุลทางอารมณ์และลดภาระของผู้ดูแลได้

ควรดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยโดยการนำพรมเช็ดเท้าออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการหกล้ม การนำสิ่งที่อาจเกิดอันตรายออกไป การจัดเตรียมที่จับยึดในอ่างอาบน้ำและฝักบัวอาบน้ำและโดยรอบโถส้วม รวมทั้งการใช้ตัวล็อคสำหรับเด็กที่ตู้หรือที่จับเตาหากจำเป็น

หากผู้ป่วยสามารถออกไปข้างนอกคนเดียวได้ ผู้ป่วยควรทราบเส้นทางเป็นอย่างดีหรือสามารถใช้ขนส่งสาธารณะได้ และควรพกบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย หรืออาจสวมใส่สร้อยข้อมือแจ้งเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ รวมทั้งควรพกโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา

ผู้ดูแลต้องตัดสินใจว่าผู้ป่วยสามารถจัดการเงินของตนเองได้หรือไม่ โดยปกติผู้ป่วยมักสามารถทำได้และต้องการทำด้วยตัวเอง แต่หากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจอย่างชัดเจนหรือดูแล้วไม่สามารถจัดการเรื่องทางการเงินได้ ผู้ดูแลควรให้ใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ป่วย โดยควรได้รับหนังสือยินยอมเพื่อเฝ้าดูความรับผิดชอบทางการเงินของผู้ป่วย

ยาที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปที่แพทย์ไม่ได้สั่ง อาจส่งผลต่อการใช้ยาทีใช้ระหว่างการรักษาฟื้นฟู ซึ่งอาจลดการออกฤทธิ์ของยาและอาจทำให้มีอาการแย่ลง ทีมดูแลผู้ป่วยต้องทราบประเภทของยาที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปที่ผู้ป่วยใช้อยู่ด้วย

ผู้ให้การดูแลควรขอรับความช่วยเหลือหากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ รับประทานอาหารไม่พอหรือรับประทานอาหารมากเกินไป ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ (ปัสสาวะเล็ด) หรือมีอาการก้าวร้าวหรือไม่เหมาะสมทางเพศ ความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ชัดเจนใดๆ ควรมีการแจ้งผู้ให้การรักษาดูแลผู้ป่วยอย่างทันท่วงที

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dementia in head injury. https://www.webmd.com/mental-health/dementia-head-injury#1-2. Accessed October 31, 2017

Dementia in head injury. https://www.emedicinehealth.com/dementia_in_head_injury/article_em.htm. Accessed October 31, 2017

Dementia Resulting From Traumatic Brain Injury. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3716376/. Accessed 13 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ที่พบบ่อย พร้อมวิธีการรับมือ

อาการบาดเจ็บที่สมอง ส่งผลเสียอย่างไรต่อตัวคุณบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา