backup og meta

อาการบาดเจ็บที่สมอง ส่งผลเสียอย่างไรต่อตัวคุณบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    อาการบาดเจ็บที่สมอง ส่งผลเสียอย่างไรต่อตัวคุณบ้าง

    อาการบาดเจ็บที่สมอง ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในบรรดาเด็กๆ เนื่องจากพวกเขาอาจจะยังไม่สามารถสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของพวกเขาได้ อาการบาดเจ็บที่สมองเกิดจากการได้รับแรงกระทบกระเทือนอย่างหนัก อาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ วันนี้ทาง Hello คุณหมอ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน

    ทำความรู้จักกับ อาการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury)

    อาการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury หรือ TBI) สามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด ซึ่งสามารถส่งผลทำให้ร่างกายพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว อาการบาดเจ็บทางสมองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสมองปะทะกับด้านในของกะโหลกศีรษะ ทำให้อาจมีรอยช้ำ มีเลือดออกในสมอง ทั้งยังอาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดได้อีกด้วย และถ้าหากรุนแรงมากขึ้นขั้นกะโหลกศีรษะแตก ส่วนที่แตกหักก็อาจจะไปเจาะเนื้อเยื่อสมองได้เช่นกัน

    อาการบาดเจ็บทางสมองอาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬา การถูกรุกรานทางกายภาพ อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ได้กำหนดให้ อาการบาดเจ็บที่สมอง เป็นการหยุดชะงักในการทำงานของสมองแบบปกติ ที่อาจเกิดจากการที่ศีรษะไปชน หรือกระแทก จนศีรษะได้รับการบาดเจ็บจนถึงขั้นทะลุ

    ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับว่า ส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือน แต่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเฉพาะเจาะจงหรือบริเวณกว้าง ก็มีผลต่อความเสียหายของสมองได้ทั้งสิ้น ในกรณีที่ไม่ได้รับความกระทบอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เกิดความสับสน ปวดศีรษะชั่วคราว หรือหากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมาก ก็อาจทำให้หมดสติ ความจำเสื่อม พิการ อาการโคม่า จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

    ทาง CDC ได้ออกมาประมาณการว่าในปี 2012 ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี จำนวน 329,290 คน ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน สำหรับอาการบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งเกิดขึ้นจากการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการ ส่วนในปี 2013 อาการบาดเจ็บที่สมองนั้น มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50,000 คน

    ดังนั้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่และคุณครู ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า เด็กๆ ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง พยายามหาอุปกรณ์ป้องกันภัยที่เหมาะสมมาสวมให้พวกเขาระหว่างเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ

    เมื่อบาดเจ็บที่สมองจะแสดงอาการออกมาอย่างไรบ้าง

    อาการบาดเจ็บที่สมอง สามารถส่งผลกระทบกระเทือนถึงสภาพจิตใจได้ด้วย นอกจากนั้นแล้ว เมื่อสมองได้รับการกระทบ อาการบางอย่างอาจปรากฏขึ้นมาในทันที ซึ่งอาจการบาดเจ็บทางสมอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบหลักๆ คือ อาการบาดเจ็บที่สมองแบบไม่รุนแรง อาการบาดเจ็บที่สมองในระดับปานกลางถึงรุนแรง และอาการบาดเจ็บทางสมองของเด็ก ซึ่งแต่ละแบบมีรายละเอียดดังนี้

    อาการบาดเจ็บที่สมองแบบไม่รุนแรง

    อาการทางกายภาพ

    • หมดสติไปสักครู่ ประมาณ 1-2 นาที
    • ไม่มีการหมดสติ แต่ตกอยู่ในสภาวะสับสน หรือมึนงง
    • ปวดหัว
    • คลื่นไส้หรืออาเจียน
    • เหนื่อยล้าหรือง่วงนอน
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด
    • นอนหลับยาก
    • นอนมากกว่าปกติ
    • เวียนศีรษะหรือสูญเสียสมดุล

    อาการทางประสาทสัมผัส

    • ตาพร่ามัว
    • หูอื้อ
    • ประสาทรับรสในปากไม่ดี
    • ความสามารถในการดมกลิ่นเปลี่ยนแปลงไป
    • มีความไวต่อแสงหรือเสียงเกิดขึ้น

    อาการทางปัญญาหรือจิตใจ

    • มีปัญหาด้านความจำ หรือสมาธิ
    • อารมณ์แปรปรวน
    • รู้สึกหดหู่หรือวิตกกังวล

    อาการบาดเจ็บที่สมองในระดับปานกลางถึงรุนแรง

    โดยปกติแล้วอาการบาดเจ็บที่สมองระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรงนั้น จะมีลักษณะอาการที่แสดงออกมาเช่นเดียวกับอาการบาดเจ็บที่สมองเล็กน้อย นอกจากนั้นยังจะมีอาการเหล่านี้ปรากฏขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงแรก หลังจากที่ศีรษะได้รับความบาดเจ็บ

    อาการทางกายภาพ

    • หมดสตินานหลายนาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง
    • ปวดหัวแบบถาวร หรือมีอาการปวดหัวที่แย่ลง
    • อาเจียนหรือคลื่นไส้ซ้ำๆ
    • มีอาการชัก
    • รูม่านตาขยายหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้าง
    • มีของเหลวไหลออกมาจากจมูกหรือหู
    • ไม่สามารถตื่นจากการนอนหลับได้
    • ชาบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า
    • สูญเสียความสมดุล

    อาการทางปัญญาหรือจิตใจ

    • เกิดความสับสนและมึนงงเป็นอย่างมาก
    • มีความผิดปกติทางพฤติกรรมต่างๆ
    • พูดไม่ค่อยชัด
    • อาการโคม่า และความผิดปกติอื่นๆ ของการมีสติ

    อาการบาดเจ็บที่สมองของเด็ก

    สำหรับอาการบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งเกิดขึ้นในทารกและเด็กเล็กนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าสังเกตเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาอาจจะยังไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ ซึ่งอาการบาดเจ็บที่สมองของเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้

    • นิสัยการกินเปลี่ยน
    • หงุดหงิดง่ายหรืออารมณ์ผิดปกติ
    • ร้องไห้ต่อเนื่อง ปลอบยังไงก็ไม่ยอมหยุดร้อง
    • ต้องการความใส่ใจเป็นอย่างมาก
    • นิสัยการนอนเปลี่ยน
    • ชัก
    • เศร้าหรือหดหู่
    • ง่วงนอน
    • ไม่ค่อยสนใจของเล่น หรือกิจกรรมที่ชอบ

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่สมอง

    ปกติแล้วอาการเจ็บที่สมอง มักจะเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง หรือศีรษะไปกระแทกกับบางสิ่งบางอย่างเข้าอย่างแรง จนส่งผลทำให้ไปขัดขวางการทำงานของสมองที่ทำงานอยู่ปกติ

    สมองของมนุษย์นั้นได้รับการปกป้องจากการกระแทกโดยน้ำไขสันหลังรอบๆ โดยสมองจะลอยอยู่ในของเหลวนี้ ภายในกะโหลกศีรษะ การกระแทกอย่างแรงที่ศีรษะส่งผลให้สมองเข้าไปกระทบกับกะโหลกศีรษะอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การฉีกขาดของเส้นประสาท และมีเลือดออกในสมองรอบๆ นั่นเอง

    จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ในปี 2013 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้บาดเจ็บที่สมองโดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้

    • หกล้ม มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่สมองจากกรณีนี้ร้อยละ 47 โดยเฉพาะในเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี
    • อุบัติเหตุรถยนต์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่สมองจากกรณีนี้ร้อยละ 14 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุ 15-19 ปี
    • การกระแทกหรือชนกับวัตถุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่สมองจากกรณีนี้ร้อยละ 15 ซึ่งส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บที่สมองมาจากการชนกับวัตถุเคลื่อนที่ หรือวัตถุที่อยู่กับที่
    • สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุจากการทำงาน และอุตสาหกรรม

    ข้อแนะนำในการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่สมอง

    สำหรับผู้ที่เคยได้รับความบาดเจ็บที่สมองมาแล้ว ควรจะต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บทางสมองซ้ำอีก โดยวิธีการดูแลตนเองสามารถทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้ศีรษะได้รับการกระแทกอีกครั้ง
    • ทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
    • ห้ามใช้ยาที่ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อนุมัติ
    • อย่ากลับสู่กิจกรรมปกติ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ เล่นกีฬา และกิจกรรมอื่นๆ จนกว่าจะได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญ
    • พักผ่อนให้เต็มที่

    สิ่งที่คุณควรคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ได้รับการบาดเจ็บที่สมอง เนื่องจากผลกระทบจากการบาดเจ็บที่สมองอาจรุนแรงและไม่ปรากฏชัดเจนขึ้นมาทันที

    Hello Health Groupไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา