backup og meta

ปวดหัว ปวดไมเกรน ต้องลองดื่ม ชาบรรเทาอาการปวดศีรษะ

ปวดหัว ปวดไมเกรน ต้องลองดื่ม ชาบรรเทาอาการปวดศีรษะ

อาการปวดหัว เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เมื่อรู้สึกได้ถึงอาการปวดแล้ว มักจะตามมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และต้องการการพักผ่อน เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดอาการปวดลง บางคนอาจแก้ได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด บางคนขอแค่นอนสักงีบก็รู้สึกดีขึ้น หรือบางคนขอแค่ออกไปพักสายตาสักครู่หนึ่งอาการปวดหัวก็หายเป็นผลิดทิ้งได้ วันนี้ Hello คุณหมอ มีอีกหนึ่งตัวช่วยดี ๆ สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวเป็นประจำ รวมไปถึงอาจสามารถบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกัน วิธีนั้นคือการดื่ม ชาบรรเทาอาการปวดศีรษะ แต่จะมีชาอะไรบ้างที่แก้ปวดหัวได้ มาติดตามกันที่บทความนี้เลยค่ะ

ชาบรรเทาอาการปวดศีรษะ มีอะไรบ้าง

ชาขิง

ชาขิง หรือบางคนอาจจะเรียกว่าขิงผงก็ได้ ชาขิงแม้จะไม่ใช่ชาชนิดที่ทำมาจากใบชา แต่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของชาสมุนไพร คือไม่ได้เก็บจากใบชา แต่มีกรรมวิธีในการชงที่คล้ายกับชา ชาขิงเป็นชาที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดหัวมาอย่างยาวนาน เนื่องจากอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยต้านการอักเสบ ช่วยลดอาการเจ็บปวดที่สมอง ผ่อนคลายและขยายหลอดเลือดเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี

จากผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ทางการแพทย์พบว่า การดื่มชาขิงให้ผลลัพธ์ในการบรรเทาอาการปวดหัวได้ใกล้เคียงกับการใช้ยารักษาไมเกรน (Migrain) และปวดศีรษะอย่าง ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) 

ชาเปปเปอร์มิ้น (สะระแหน่)

ลำไส้เป็นอวัยวะที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมอง เพราะการหดหรือเกร็งตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณลำไส้สามารถส่งผลไปยังสมอง ทำให้เกิด อาการปวดหัว ได้ มีผลการวิจัยพบว่า ชาเปปเปอร์มิ้นหรือชาใบสะระแหน่ มีสรรพคุณช่วยคลายเส้นประสาทและอาการหดเกร็งในลำไส้ จึงช่วยลดความเสี่ยงหรือบรรเทาอาการปวดหัวให้ทุเลาลงได้

ชาฟีเวอร์ฟิว

ฟีเวอร์ฟิว เป็นพืชดอกในตระกูลเดียวกับดอกเดซี่ และมีสรรพคุณทางยาที่ถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีผลการวิจัยที่ได้เผยให้เห็นถึงประสิทธิภาพของฟีเวอร์ฟิวว่าสามารถช่วยลดอาการปวดหัว โดยเฉพาะอาการปวดหัวแบบไมเกรนได้เป็นอย่างดี แต่ชาฟีเวอร์ฟิวจะมีรสชาติที่ค่อนข้างติดขม สามารถเพิ่มความหวานด้วยน้ำผึ้ง เพื่อให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้น

ชาเปลือกต้นวิลโลว์

เปลือกต้นวิลโลว์หรือเปลือกต้นหลิว เป็นสมุนไพรที่ถูกใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบมายาวนานนับพันปี จากผลการวิจัยพบว่าเปลือกต้นวิลโลว์อุดมไปด้วยสารซาลิซิน (Salicin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีสรรพคุณคล้ายกับยาแก้ปวดในกลุ่มของยาแอสไพริน (Aspirin) ดังนั้น หากคุณมี อาการปวดหัว เป็นประจำ ลองหาซื้อชาเปลือกต้นวิลโลว์ติดบ้านหรือติดที่ทำงานไว้ เพราะการดื่มชาเปลือกต้นวิลโลว์สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ชานี้อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของผงสำเร็จรูปเสมอไป แต่มาในรูปแบบเปลือกไม้ ซึ่งสามารถนำไปต้มและชงดื่มเหมือนกับชาปกติ

ชากานพลู

กานพลูเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดี ถูกนำมาใช้เพื่อสรรพคุณทางยาในตัวยาหลายแขนง โดยหนึ่งในสรรพคุณที่โดดเด่นของกานพลูก็คือ การมีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวด จึงมักใช้กานพลูเพื่อบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน การดื่มชากานพลูจึงมีส่วนช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดอย่าง อาการปวดหัว ให้ดีขึ้นได้

ข้อแนะนำสำหรับการดื่ม ชาบรรเทาอาการปวดศีรษะ

ชาบางชนิดมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดหัวได้จริง แต่เนื่องจากชาหลายชนิดเป็นพืชสมุนไพร ซึ่งยังคงมีข้อจำกัดหรือผลการวิจัยที่ไม่มากพอที่จะรับรองความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ จำเป็นจะต้องระมัดระวังในการดื่มชาสมุนไพรเหล่านี้ เนื่องจากสารประกอบบางอย่างในชาอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ และถ้ามีอาการทางสุขภาพและรับประทานยารักษาโรคอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อขอคำปรึกษาและข้อแนะนำในการดื่มชาสมุนไพร และหากมี อาการปวดหัว ติดต่อกันหลายวันหรือเป็นระยะเวลานาน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Have a Headache? Try These Teas. https://www.healthline.com/health/headache-tea. Accessed on November 26, 2020.

Most Soothing Teas When You Wake with a Headache. https://www.migraineagain.com/most-soothing-teas-when-you-wake-with-a-headache/. Accessed on November 26, 2020.

19 natural remedies for a headache. https://www.medicalnewstoday.com/articles/323992. Accessed on November 26, 2020.

9 Teas That Can Help with Migraine Relief. https://www.healthcentral.com/slideshow/9-teas-can-help-migraine-relief. Accessed on November 26, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/11/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ชาเขียวลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่

ชามะระขี้นก เครื่องดื่มสมุนไพร ที่อาจช่วยต่อสู้กับ โรคเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/11/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา