เวียนหัว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยปกติ ไม่ใช่สัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อาจเกิดได้จากการขาดน้ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความดันโลหิตต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเวียนหัวบ่อย ๆ ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดหัวรุนแรง อาเจียน แน่นหน้าอก ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างตรงจุด
[embed-health-tool-bmi]
เวียนหัว เกิดจากอะไร
เวียนหัว อาจมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ความดันโลหิตลดลงกะทันหัน ตามปกติ ระบบประสาทอัตโนมัติจะช่วยให้ระดับความดันโลหิตมีความสมดุลเมื่อต้องลุกขึ้นกะทันหัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นระบบนี้จะทำงานช้าลงหรือเสื่อมสภาพได้ ทำให้ความดันโลหิตลดลงชั่วคราวจนทำให้เวียนหัว ภาวะนี้อาจเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำ เช่น มิโดดรีน (Midodrine) ฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone)
- ผลข้างเคียงของยา การกินยาที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตหรือขับปัสาวะอาจส่งผลให้ความดันลดต่ำมากเกินไปหรือร่างกายสูญเสียของเหลวมากเกินไปและได้รับของเหลวทดแทนไม่ทัน จนเกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะได้ หากเวียนหัวจากการใช้ยาควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อปรับยาที่ใช้หรือเปลี่ยนยาตัวใหม่
- ภาวะขาดน้ำ เมื่อร่างกายมีของเหลวไม่เพียงพอ อาจทำให้ปริมาณเลือดลดน้อยลงไปด้วย และกระทบต่อการไหลเวียนโลหิตไปเพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนส่งผลให้เวียนหัวได้ วิธีรักษาเบื้องต้นทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพออย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้ภาวะขาดน้ำแย่ลง
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ไม่มีพลังงานเพียงพอในการทำงานอาจทำให้เวียนหัว ไม่มีแรง ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่กินยารักษาโรคเบาหวาน ทั้งนี้ อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการกินคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว 15-20 กรัม เช่น น้ำหวาน 1 แก้ว ลูกอม 2-3 เม็ด น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ และสำหรับคนทั่วไป อาจกินน้ำผลไม้หรือน้ำหวานเพื่อบรรเทาอาการ
- การขาดธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นสารในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ช่วยให้เซลล์นำพาออกซิเจนไปยังทั่วร่างกาย เมื่อมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอที่จะสร้างฮีโมโกลบินจะทำให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ อย่างเวียนหัว หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย เป็นต้น จึงควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพื่อให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา พืชตระกูลถั่ว ไข่ ธัญพืช
- โรคหัวใจ เวียนหัวอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย ซึ่งมักเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจถี่รัว ปวดกราม แขน หรือหลัง ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เดินไม่ตรง สายตาพร่ามัว อ่อนแรง อาการชา ดังนั้น หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ อาการเวียนหัวยังเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความเครียด พักผ่อนน้อย อ่อนเพลียจากความร้อน สูดดมควันหรือสารพิษ ใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอเป็นเวลานาน
เวียนหัว แบบไหน ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการเวียนหัวร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- รู้สึกถึงแรงกดหรือรู้สึกแน่นบริเวณกราม ไหล่ คอ แขน หน้าอก หรือหลัง
- คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก หายใจถี่รัว
- อาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขน หรือขา
- มีปัญหาในการพูดคุย กลืนน้ำลาย ทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ
- มีอาการสับสนมึนงง หมดสติ
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- มีปัญหาในการใช้สายตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง