backup og meta

น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร

    น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ทำให้น้ำตาลพุ่งสูงและลดลงอย่างรวดเร็ว การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป เจ็บป่วยด้วยโรค มีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หิว สายตาพร่ามัว หงุดหงิด วิตกกังวล ตัวสั่น ในกรณีรุนแรงอาจทำให้หมดสติหรือชักได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

    น้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร

    น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia) คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดของคนทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากน้ำตาลในเลือดต่ำจะส่งผลให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายขาดพลังงานที่ช่วยให้ทำงานได้ตามปกติ พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกติก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อดอาหารบางมื้อ ออกกำลังกายหักโหมหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ แต่ในบางกรณีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก็อาจเกิดกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวานเช่นกัน

    อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ

    อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ
    • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
    • รู้สึกหิว
    • มองเห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นไม่ชัด
    • หงุดหงิด
    • วิตกกังวล
    • ตัวสั่น
    • รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว
    • เหงื่อออกมาก
    • มีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การพูด การเดินที่เปลี่ยนไปจากปกติ หรือทำตัวเหมือนคนเมา

    หากอาการรุนแรง อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

    • ชัก
    • หมดสติ
    • เสียชีวิต

    น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ เกิดจากอะไร

    โดยทั่วไปแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมักจะไม่ลดต่ำไปกว่านี้ สำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ (Non-diabetes-related hypoglycemia) อาจเกิดจากได้ 2 สาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร (Reactive hypoglycemia)

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหารเกิดขึ้นในช่วงหลังรับประทานอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง โดยสาเหตุของภาวะนี้ยังไม่แน่ชัดนัก แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นผลมาจากน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงในเวลาอันสั้นแล้วลดลงต่ำอย่างรวดเร็ว หลังจากรับประทานอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว มันฝรั่ง ขนมปังขาว เค้ก ไอศกรีม ขนมอบ ที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไปและทำให้ระดับน้ำตาลตก

  • ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำในขณะอดอาหาร (Fasting hypoglycemia)

  • ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำในขณะอดอาหาร อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

    • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เช่น ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งมักจะบริโภคแอลกอฮอล์เป็นหลักและรับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ เมื่อไม่ได้รับอาหาร ร่างกายจะไปใช้น้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในรูปแบบของไกลโคเจน (Glycogen) ที่สะสมไว้ในตับเป็นพลังงานแทน แต่เมื่อไกลโคเจนหมดไป ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • โรคร้ายแรง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคตับระยะสุดท้าย ภาวะไตวาย หรือมีการอดอาหารเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เนื่องจากร่างกายใช้ไกลโคเจนที่สะสมไว้จนหมดลงอย่างรวดเร็ว
    • ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง (Adrenal insufficiency) เมื่อต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ต่ำกว่าปกติ จะทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยลงและอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติได้
    • เนื้องอกบางชนิด ในบางกรณี ผู้ป่วยมีเนื้องอกชนิดที่หลั่งฮอร์โมนที่มีคุณสมบัติคล้ายอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การผ่าตัดนำเนื้องอกออกอาจช่วยรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำให้หายเป็นปกติได้ นอกจากนี้ ยังมีเนื้องอกอินซูลิโนมา (Insulinoma) ซึ่งเป็นเนื้องอกที่เกิดบริเวณตับอ่อนและผลิตฮอร์โมนอินซูลินส่วนเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน แต่มักพบอาการดังกล่าวในช่วงเช้าหลังตื่นนอน

    วิธีป้องกัน น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ

    วิธีป้องกัน น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน อาจเน้นอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากจะช่วยให้น้ำตาลไม่พุ่งสูงเกินไปแล้ว ยังช่วยให้อิ่มได้นานขึ้น ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย
    • แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทนการรับประทานมื้อใหญ่เพียง 3 มื้อ อาจช่วยให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดเป็นแหล่งพลังงานอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน
    • รับประทานอาหารทุก ๆ 3 ชั่วโมง
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง
    • รักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • งดการดื่มแอลกอฮอล์หรือปรับให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการดื่มในช่วงที่ท้องว่าง โดยทั่วไปปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมของผู้ชายอยู่ที่ 2 แก้ว/วัน และผู้หญิงอยู่ที่ 1 แก้ว/วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา