backup og meta

ระวัง! สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเกิดภาวะ หัวใจวาย ขณะออกกำลังกาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    ระวัง! สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเกิดภาวะ หัวใจวาย ขณะออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน มีข้อพิสูจน์แล้วว่าทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น โดยช่วยลดปัจจัยเสี่ยงบางประการสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ลดน้ำหนักและลดความดันโลหิต อย่างไรก็ดี บางครั้งการออกกำลังกายก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ หัวใจวาย ขณะออกกำลังกาย โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และไม่ระมัดระวังเกี่ยวกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

    ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ

    ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่ง สำหรับโรคหัวใจ จากข้อมูลของ World Heart Federation การขาดการออกกำลังกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจได้ร้อยละ 50 ปัจจัยเสี่ยงประการอื่น ได้แก่

    • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
    • เบาหวานชนิดที่ 2
    • ความดันโลหิตสูง
    • การสูบบุหรี่
    • คอเลสเตอรอลสูง
    • โรคอ้วน (Obesity)
    • ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

    การลดความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดโอกาสในการเกิดหัวใจวาย (heart attack) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ (bypass surgery)

    เหตุผลที่ควรระมัดระวังในการออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในการป้องกันโรคหัวใจ โดยทั่วไปแล้ว การออกกำลังกายเป็นสิ่งปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่คุณควรระมัดระวัง โดยเฉพาะหากว่า

    • แพทย์ได้แจ้งคุณว่า คุณมีปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจหนึ่งประการหรือมากกว่า
    • เมื่อไม่นานมานี้ คุณมีอาการหัวใจวาย หรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ
    • คุณไม่ออกกำลังกายมาก่อน

    ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเกือบจะสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ หากได้รับการประเมินอาการล่วงหน้า อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายไม่ได้เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจทุกคน หากคุณเป็นมือใหม่ในการออกกำลังกาย สิ่งสำคัญคือการเริ่มต้นอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียง ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกายใหม่ นอกจากนี้ คุณอาจจำเป็นที่จะเริ่มออกกำลังกาย ภายใต้การดูแลของหมอ

    ถึงแม้จะระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็ยังอาจเป็นสิ่งที่ยากสำหรับหมอ ที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ที่คุณอาจมีในระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัย ควรทำความคุ้นเคยกับอาการต่างๆ ที่อาจบ่งชี้ว่า คุณกำลังเกิดภาวะ หัวใจวาย ขณะออกกำลังกาย การตระหนักถึงสิ่งบ่งชี้บางประการที่พบได้บ่อย ว่าเป็นสัญญาณของอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคุณได้

    สิ่งบ่งชี้อาการผิดปกติของหัวใจ

    ถึงแม้คุณเคยเป็นมีอาการหัวใจวายมาก่อน การเกิดอีกครั้งหนึ่งอาจมีอาการที่แตกต่างไปได้โดยสิ้นเชิง คุณควรเข้ารับการรักษาทันที หากมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

    แน่นหน้าอก

    คนจำนวนมากเชื่อมโยงอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันและรุนแรงกับโรคหัวใจวาย ซึ่งโรคหัวใจวายบางอย่างก็อาจเริ่มต้นด้วยอาการดังหล่านี้ อย่างไรก็ดี โรคหัวใจวายอาจเริ่มด้วยความรู้สึกไม่ค่อยสบายเล็กน้อย หรือรู้สึกมีแรงกดทับ แรงบีบ หรือาการแน่นที่กึ่งกลางหน้าอก อาการเช่นนี้อาจมีเพียงเล็กน้อย และอาจเป็นๆ หายๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่ามีอาการผิดปกติใดเกิกขึ้น แต่ถ้าอาการนี้กินเวลานานเกินสองสามนาที ให้หยุดออกกำลังกายและเข้ารับการรักษา

    หายใจลำบาก

    ความรู้สึกหายใจไม่ออกผิดปกติ ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ในระหว่างออกกำลังกาย มักเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ อาการนี้สามารถเกิดขึ้นก่อนอาการแน่นหน้าอก หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการแน่นหน้าอกได้

    เวียนศีรษะหรือมึนศรีษะ

    ในขณะที่การออกกำลังกายอาจทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกาย คุณไม่ควรรู้สึกเวียนศีรษะหรือมึนศีรษะในขณะที่ออกกำลังกาย ให้ระวังอาการดังกล่าวอย่างจริงจัง และหยุดการออกกำลังกายทันที

    ความผิดปกติเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ

    ความรู้สึกหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ใจสั่น หรือหัวใจเต้นแรงอาจแสดงว่า มีความปกติเกี่ยวกับหัวใจ ให้เข้ารับการรักษา หากคุณสังเกตว่ามีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติใดๆ ในระหว่างออกกำลังกาย

    อาการผิดปกติในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย

    ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจสามารถทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายนอกเหนือจากที่หน้าอก อาการต่างๆ ได้แก่ อาการแน่น อาการปวด หรือแรงกดที่แขน หลัง คอ ขากรรไกร หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ คุณยังอาจมีอาการแน่นที่ลุกลามจากส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น จากหน้าอก ขากรรไกร หรือคอไปยังไหล่ แขน หรือหลัง

    เหงื่อออกผิดปกติ

    ถึงแม้ว่าเหงือออกในระหว่างออกกำลังกายเป็นเรื่องปกติ แต่อาการคลื่นไส้และอาการเหงื่อออกจนตัวเย็น เป็นสัญญาณเตือนของอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยบางรายเคยหัวใจวาย รายงานถึงความรู้สึกผิดปกติบางอย่างที่เป็นลางบอกเหตุว่า กำลังจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น

    ควรเข้ารับการรักษาฉุกเฉินเมื่อใด

    เมื่อต้องจัดการปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก ทุกๆ วินาทีมีค่า ห้ามรอและดูอาการ หรือพยายามฝืนออกกำลังกาย ควรเข้ารับการรักษา หากคุณคิดว่าคุณอาจกำลังมีสัญญาณเตือนใดๆ ข้างต้น

    คำแนะนำก็คือ ไม่ควรรอเกินกว่าสองสามนาที หรือมากที่สุดคือห้านาที ในการโทรแจ้งผู้ให้บริการการรักษาฉุกเฉิน หัวใจอาจหยุดเต้นได้ในระหว่างที่เกิดหัวใจวาย ผู้ให้บริการการรักษาฉุกเฉินมีความรู้และเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อทำให้หัวใจเต้นได้อีกครั้ง

    ให้ผู้อื่นขับรถไปส่งคุณที่โรงพยาบาลทันที หากคุณมีอาการหัวใจวาย และไม่สามารถโทรแจ้งผู้ให้บริการการรักษาฉุกเฉินได้ ให้หลีกเลี่ยงการขับรถเอง เว้นแต่ไม่มีทางเลือกอื่นๆ

    การเตรียมตัว

    ให้เตรียมตัวตอบคำถามดังต่อไปนี้ หากคุณอยู่ในห้องฉุกเฉิน หลังจากมีอาการผิดปกต่างๆ ในระหว่างออกกำลังกาย

  • อาการแน่นหรือปวดเริ่มเกิดขึ้นเมื่อใด
  • คุณกำลังทำอะไรเมื่ออาการแน่นหรือปวดเริ่มเกิดขึ้น
  • อาการปวดมีระดับรุนแรงมากที่สุดทันที หรือค่อยๆ มีอาการจนถึงรุนแรงมากที่สุด
  • คุณสังเกตได้ถึงอาการเพิ่มเติมใดๆ ที่สัมพันธ์กับอาการแน่นหน้าอก เช่น คลื่นไส้ เหงื่อออก มึนศีรษะ หรือใจสั่น หรือไม่
  • ในระดับ 1 ถึง 10 โดยระดับ10 คืออาการรุนแรงที่สุด หมายเลขใดที่คุณจะระบุว่า เป็นระดับอาการแน่นหน้าอกของคุณในครั้งนี้
  • การตอบคำถามเหล่านี้อย่างเต็มที่มากที่สุด จะช่วยให้แพทย์ให้การรักษาที่เป็นไปได้ได้ดีที่สุด ซึ่งสามารถช่วยชีวิตคุณได้

    สิ่งที่ได้รับจากการออกกำลังกาย

    มีผู้คนจำนวนประมาณ 600,000 ราย เสียชีวิตจากโรคหัวใจทุกปี การออกกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดตัวเลขการเสียชีวิตดังกล่าว แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง การใช้เครื่องมือวัดการเต้นของหัวใจเมื่อคุณออกกำลังกายอาจเป็นประโยชน์ได้อย่างมาก โดยตั้งไว้ที่ร้อยละ 60 ถึง 80 ของอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงที่สุด ให้แน่ใจว่าคุณรายงานถึงสัญญาณเตือนใดๆ ของความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา