backup og meta

ควบคุมความดันโลหิต จากแร่ธาตุธรรมชาติ ป้องกันความดันโลหิตสูง

ควบคุมความดันโลหิต จากแร่ธาตุธรรมชาติ ป้องกันความดันโลหิตสูง

อาหารที่เรารับประทานนั้นมักมีส่วนที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างปฏิเสธไม่ได้ และสำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นการได้รับแร่ธาตุบางอย่างก็อาจจะช่วย ควบคุมความดันโลหิต ได้ดีขึ้น ที่วันนี้บทความของ Hello คุณหมอ ได้รวบรวมแร่ธาติที่จำเป็นทั้ง 3 ชนิด มาฝากทุกคนให้ได้ลองนำไปหารับประทานเพื่อช่วยปรับปรุงระดับความดันโลหิตไปพร้อม ๆ กันค่ะ

[embed-health-tool-bmi]

แร่ธาตุสำคัญ ที่อาจช่วย ควบคุมความดันโลหิต

  • โพแทสเซียม

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ โดยมีส่วนช่วยให้ร่างกายควบคุมความดันโลหิต จังหวะการเต้นของหัวใจ และปริมาณน้ำในเซลล์ รวมถึงช่วยในการย่อยอาหารด้วย การมีปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายในระดับปกติ สามารถทำให้ความดันโลหิตลดลง และช่วยป้องกันการเกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อ เนื่องจากโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงการผ่อนคลายผนังหลอดเลือด มากไปกว่านั้นโพแทสเซียมยังสำคัญต่อการนำสัญญาณไฟฟ้า ในระบบประสาทและหัวใจ ซึ่งช่วยป้องกันอาการหัวใจเต้นผิดปกติ

สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม เช่น ลูกพรุน มันเทศ กล้วยหอม เมล็ดทานตะวัน อินทผลัม เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถหารับประทานได้ง่ายตามท้องตลาด หรือห้างสรรสินค้าทั่วไป อย่างไรก็ตามการกินอาหารเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ เพราะยังมียาบางชนิดอย่างยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) อย่างเอซิดริกซ์ (Esidrix) ไฮโดรไดยูริล (Hydrodiuril) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ร่างกายขับโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะ ซึ่งเป็นการลดระดับโพแทสเซียมในร่างกายได้

ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง หรืออาการบวมน้ำ ที่ต้องกินยาขับปัสสาวะ คุณอาจได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ จากการกินอาหารเพียงอย่างเดียว จึงต้องกินอาหารเสริมโพแทสเซียม ที่แพทย์กำหนดให้ร่วมด้วย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินอาหารเสริมทุกครั้ง เนื่องจากการได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปก็อาจส่งผลทำให้หัวใจทำงานผิดปกติได้เช่นกัน คุณควรจำกัดปริมาณโพแทสเซียมในแต่ละวันให้อย่างพอดีส่วนใหญ่ปริมาณที่คุณควรได้รับต่อวันคือ 4,700 มิลกรัมทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

  • แมกนีเซียม

แมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด กล้ามเนื้อ และการทำงานของเส้นประสาท นอกจากนี้แมกนีเซียมยังช่วยทำให้หลอดเลือดผ่อนคลาย และยังจำเป็นต่อการผลิตพลังงาน การส่งเสริมสุขภาพของกระดูกอีกด้วยแต่ถึงอย่างไรการกินยาขับปัสสาวะก็สามารถส่งผลทำให้ระดับแมกนีเซียมในร่างกายลดลงได้เช่นกัน ดั้งนั้นคุณจึงควรมีการปรึกษาแพทย์ร่วมหากปัจจุบันคุณยังกินยาประเภทนี้

ส่วนสำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่คุณควรได้รับมักมาจาก ผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี และพืชตระกูลถั่ว แต่ก็ควรกำหนดปริมาณที่ได้รับอย่างเหมาะสมเนื่องจากการได้รับแมกนีเซียมมากเกินไปจากการกินอาหาร หรือจากการกินยาที่มีแมกนีเซียม เช่น ยาระบาย (Laxatives) อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย โดยปกติแล้วปริมาณแมกนีเซียมที่คุณควรได้รับนั้นต่อวันนั้นถูกแบ่งออกเป็น สำหรับผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป 420 มิลลิกรัมต่อวัน และสำหรับผู้หญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับแมกนีเซียม 320 กรัมต่อวัน

  • แคลเซียม

แคลเซียมสำคัญต่อความดันโลหิต เนื่องจากมีส่วนช่วยในการทำให้หลอดเลือดกระชับและผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังสำคัญต่อกระดูก การหลั่งฮอร์โมนและเอนไซม์ที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว ผักใบเขียว ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน

นอกจากนี้ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวันคือ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ชายที่อายุมากกว่า 51 ปีขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงที่อายุ 51 ปีขึ้นไปควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่จะได้รับแคลเซียมจากการกินอาหารประมาณ 700 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นกรณีที่คุณต้องการกินอาหารเสริมเพื่อเพิ่มแคลเซียม ควรเข้าขอคำปรึกษาจากแพทย์เสียก่อน

โซเดียมเกี่ยวข้องกับความดันโลหิต เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ควรควบคุมปริมาณโซเดียมที่ได้รับต่อวัน โดยควรได้รับโซเดียม 1,500-2,300 มิลลิกรัมต่อวัน และควรงดอาหารที่รสเค็มจัด หรือมีปริมาณโซเดียมมาก

เนื่องจากเกลือ หรือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) ประกอบด้วยแร่ธาตุโซเดียมคลอไรด์ซึ่งร่างกายต้องการโซเดียมเพื่อการทำงานของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ อีกทั้งโซเดียมยังมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายคุณได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง และเป็นการ ควบคุมความดันโลหิต คุณจึงจำเป็นต้องได้รับปริมาณโซเดียมที่พอดีเท่านั้น

หากคุณมีข้อกังวลใจหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีควบคุมความดันโลหิต อาจต้องขอเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์อีกครั้ง เพราะนอกจากการได้รับแร่ธาตุดังกล่าวแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมตามแต่ลำอาการของผู้ป่วย ที่จะช่วยทำให้คุณควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Key minerals to help control blood pressure. https://www.health.harvard.edu/heart-health/key-minerals-to-help-control-blood-pressure. Accessed on November 20, 2018.

Minerals and blood pressure. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/1930921. Accessed on November 20, 2018.

Minerals. https://medlineplus.gov/definitions/mineralsdefinitions.html. Accessed on November 20, 2018.

Best supplements for lowering blood pressure. https://www.medicalnewstoday.com/articles/327508 . Accessed on November 20, 2018.

Can Potassium and Calcium Lower Your High Blood Pressure? https://www.everydayhealth.com/hypertension/get-your-minerals.aspx . Accessed on November 20, 2018.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/04/2024

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 วิธีธรรมชาติที่ช่วย ลดความดันโลหิต สำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ด้วย 7 วิธีง่าย ๆ ก่อนจะสายเกินแก้!


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 22/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา