ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure: CHF) เป็นภาวะสุขภาพประการหนึ่ง เมื่อหัวใจไม่สูบฉีดโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ภาวะนี้อาจเป็นผลมาจากกลุ่มโรคหลายชนิด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต การกำหนดอาหารที่เหมาะสมต่อ ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรให้ความสำคัญต่อการรักษาควบคู่ไปด้วย นอกเหนือจากการสั่งจ่ายยา และการทำหัตถการผ่าตัด
ใส่ใจสิ่งที่ดื่ม
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมีโอกาสมากขึ้น ที่จะกักเก็บของเหลวไว้ภายในเซลล์และส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเลือดปริมาณมากขึ้น เมื่อภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น การจำกัดการบริโภคของเหลวสามารถเป็นการบรรเทาอาการได้ดีที่สุด ในบางครั้งแพทย์ที่ทำการรักษาจะสั่งยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อกำจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ พร้อมกับช่วยกำหนดปริมาณของเหลวที่คุณควรดื่มต่อวันไว้
อย่างไรก็ดี ของเหลวไม่ได้หมายถึงแค่น้ำเปล่าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงน้ำผลไม้ น้ำแข็ง ไอศกรีม กาแฟ ชา แกงจืด ข้าวต้ม และน้ำซุปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อต้องดูแลปริมาณของเหลวตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจในการชั่ง ตวง วัดของเหลวที่บริโภคในทุกวัน วิธีที่ง่ายๆ ก็คือทำความเข้าใจความจุของถ้วย แก้ว และชามที่คุณใช้ที่บ้านเป็นประจำ ซึ่งโดยเฉลี่ยถ้วยกาแฟมีปริมาตร 125-150 มิลลิลิตร ถ้วยตวง 250 มิลลิลิตร ขวดน้ำ 600-1000 มิลลิลิตร เมื่อทราบถึงความจุแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตนเองได้อย่างมีคุณภาพ สามารถปฎิบัติตามคำแนะนำได้สำเร็จ
ลดเกลือในอาหาร
โซเดียม (หรือเกลือโซเดียม) เป็นสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับสมดุลน้ำในร่างกาย มีส่วนทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวส่วนเกินได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เพราะต้องใช้แรงบีบตัวในการสูบฉีดโลหิตในปริมาณมากขึ้น อาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวมีความรุนแรงมากขึ้น และมีอาการแย่ลงได้
ในภาวะโดยส่วนมากแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวจำกัดการบริโภคโซเดียม ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม หรือน้อยที่สุดเท่าที่ผู้ป่วยจะทำได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกลี่ยงหรือจำกัดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่สังเกตว่า มักจะมีรสเค็มเด่น เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ผงปรุงรส เต้าหู้ยี้ กะปิ ปลาร้า อาหารหมักดอง เป็นต้น อาหารที่ถูกจำกัดปริมาณโซเดียม จะมีรสชาติอ่อนๆ อาจไม่ถูกใจผู้ป่วย และทำให้ความอยากอาหารลดลงในช่วงแรกๆ แต่เมื่อได้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค สร้างความคุ้นชินไประยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยก็จะยอมรับรสชาติอาหารไปได้เอง
จำกัดไขมันและคอเลสเตอรอลในอาหาร
เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรจำกัดการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล เนื่องจากไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลในปริมาณมากในอาหาร สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
โดยปริมาณไขมันที่ควรได้รับไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด และไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกินร้อยละ 10 ส่วนคอเลสเตอรอลที่ได้รับต่อวันไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม ดังนั้น ควรจำกัดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ เบคอน หนังสัตว์ หมูสามชั้น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เป็นต้น
Hello Health Groupไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-heart-rate]