backup og meta

ผลข้างเคียง โรคเบาหวาน เป็นอันตรายต่ออวัยวะส่วนไหนบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    ผลข้างเคียง โรคเบาหวาน เป็นอันตรายต่ออวัยวะส่วนไหนบ้าง

    โรคเบาหวาน ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานได้แก่ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดหัวใจ ดวงตา ไต เส้นประสาท ผิวหนัง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ป่วยเบาหวานและคนใกล้ชิดควรจะต้ิงให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ปรับพฤติกรรมสุขภาพแลั รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนให้ได้มากที่สุด

    ผลข้างเคียง ของ โรคเบาหวาน มีกี่ประเภท

    ผลข้างเคียงโรคเบาหวาน มี 2 ประเภท ได้แก่ แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

    ผลข้างเคียงเฉียบพลัน หรือภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉิน อย่างเช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycema) ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (Diabetic Ketoacidosis) นับเป็นภาวะที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือ ปล่อยทิ้งไว้ อาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    ผลข้างเคียงเรื้อรัง หรือ ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เป็นผลจากกาที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาเป็นเวลานาน สามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตา ไต เส้นประสาท หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดหัวใจ

    ผลข้างเคียง โรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่ออวัยวะใดบ้างในร่างกาย

    ผลข้างเคียงของโรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ภายในอวัยวะร่างกาย ดังนี้

    ดวงตา

    เมื่อไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ ระดับน้ำตาลที่สูงอย่างเรื้อรังสามารถสร้างความเสียหายต่อเส้นเลือดแดงในดวงตา และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้เกิดอาการตาบอด โรคต้อหิน (Glaucoma) โรคต้อกระจก (Cataracts) เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy)

    ทั้งนี้ โรคเบาหวานขึ้นตา ในช่วงระยะแรก อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ตาบอด หรือ สูญเสียการมองเห็นถาวร การป้องกันภาวะเหล่านี้คือ การตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจจอประสาทตา เลนส์ตา รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ภายในดวงตา และหากพบความผิดปกติจะได้รีบทำการรักษาอย่างทันท่วงที 

    ไต

    โรคเบาหวานเมื่อไม่ควบคุมให้ดี จะส่งผลให้ขดเลือดที่ไตซึ่งทำหน้าที่ในการกรองของเสียทำงานผิดปกติ จึงทำให้ไตไม่สามารถขับของเสียและของเหลวส่วนเกินได้ตามปกติ ซึ่งในช่วงแรกมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้มีอาการขาบวม หน้าบวม และ อ่อนเพลียได้ การตรวจเลือดเพื่อประเมินค่าการทำงานของไตอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาเบาหวาน ไม่น้อยไปกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดการ

    เพราะเมื่อมีภาวะไตเสื่อมเรื้อรังแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมามีการทำงานที่ปกติตามเดิมได้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จนเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรังระยะสุดท้าย จะจำเป็นต้องเข้ารับการฟอกเลือด หรือ เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตในที่สุด 

    หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดหัวใจ

    เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง ส่งผลให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงทั่วทั้งร่างกายเสื่อมลง ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งไม่ยืดหยุ่น เสี่ยงต่อการตีบและอุดตันได้ง่าย จึงทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ รวมไปถึงโรคของเส้นเลือดส่วนปลาย เช่น โรคหัวใจวายและหลอดเลือดในสมองแตก พบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกและโรคหัวใจ เมื่อเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพดี นอกจากนี้ โรคเส้นเลือดส่วนปลายยังอาจทำให้เกิดปัญหาที่ขาและเท้า จนอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะได้

    เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมานั้น จัดเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยจึงอาจไม่ได้สังเกตหรือมีสัญญาณเตือนใด ๆ จนเมื่อมีภาวะหัวใจวายหรือเส้นเลือดในสมองแตก ไปแล้ว ส่วนโรคเส้นเลือดส่วนปลายอาจทำให้เกิดอาการ ปวด  เป็นตะคริว ขาชาเส้นขนบริเวณนั้น ๆ ร่วว และ ผิวหนังส่วนดังเกล่าซีดลง ในบางครั้งอาจเกิดอาการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเดิดการอุดตันของหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้ได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

    เส้นประสาท

    หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ย่อมสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทได้ โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Peripheral diabetic neuropathy) อาจทำให้มีอาการปวด แสบร้อน เหน็บชา หรือสูญเสียความรู้สึก และมักเริ่มมีความผิดปกติกับอวัยวะส่วนปลาย เช่น นิ้วเท้า ปลายนิ้วมือ และลามมายังส่วนของร่างกายที่เหนือขึ้นเรื่อย ๆ ได้  

    นอกจากนี้ โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดียังสามารถสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ควบคุมอวัยวะภายในได้อีกด้วย นำไปสู่ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ระบบหัวใจ ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยมักเริ่มจากมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นกว่าปกติ อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม

    ทั้งนี้ ผู้ทางเลือกในการรักษาอาการเกี่ยวกับเส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวานมีหลายรูปแบบ เช่น ยารับประทานซึ่งช่วยลดการอักเสบของเส้นประทาน หรือ อาจเป็นกลุ่มของยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าร่วมด้วย หรือยา/เจลทาผิวหนัง ที่อาจมีในรูปแบบของเจลครีมหรือแผ่นประคบ รวมทั้งอาจมีการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท หรือที่เรียกว่า TENS ร่วมด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา