โรค ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (Ulcerative Colitis) หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่าโรคยูซี (UC) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบในระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง โดยผู้ที่เป็นโรคนี้เกิดจากการอักเสบที่เยื่อบุผิวบริเวณลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ทำให้เกิดแผลและเกิดเลือดออกที่ผนังลำไส้ และทำให้ลำไส้บีบตัวเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยปวดท้อง ท้องร่วง และถ่ายเป็นเลือด
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็เผยว่า การฝังเข็ม อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ว่าแต่ฝังเข็มแล้วจะทำให้อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลดีขึ้นได้จริงไหม หรือจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง Hello คุณหมอ จะพาไปดูกันเลยดีกว่า
การฝังเข็ม คืออะไร
การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีนที่นิยมใช้แพร่หลายมานานนับพันปี ปัจจุบันถือเป็นวิธีหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญจะใช้เข็มขนาดเล็กปักลงไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายในระดับความลึกที่แตกต่างกันไป จากนั้นจึงใช้นิ้วมือหมุนปั่น หรือเชื่อมต่อกับไฟฟ้าโวลต์ต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของพลังหรือลมปราณ ช่วยปรับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อทำแล้วจะช่วยรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมและป้องกันโรคได้
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์นิยมใช้การฝังเข็มในการรักษาโรคและสภาวะสุขภาพต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคข้ออักเสบ อาการปวดหลัง โรคซึมเศร้า โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) อาการปวดท้องเนื่องจากการมีประจำเดือน อาการปวดท้องคลอด รวมถึง ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล ด้วย
การฝังเข็มกับโรค ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การฝังเข็มอาจเป็นวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะช่วยกระตุ้นสารที่เปรียบเสมือนยาแก้ปวดตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งช่วยควบคุมการเกิดการอักเสบในร่างกายไม่ให้มากเกินไป ช่วยลดการกำเริบของโรค และช่วยลดอาการเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลได้
จากงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2016 ที่ศึกษาประโยชน์ของการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล ด้วยการศึกษาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 63 งานวิจัย ตั้งแต่ปี 1995-2015 พบว่า การฝังเข็มนั้นสามารถรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยก็เผยว่า ยังต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมาก เพื่อหาข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การฝังเข็มอย่างเดียว ไม่ได้รักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย สามารถช่วยลดการเกิดอาการอักเสบในลำไส้ได้จริง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
แม้การฝังเข็มจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัย แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกชนิดไม่รุนแรง (Minor bleeding) รอยฟกช้ำ อาการปวดล้าหรือปวดระบมได้ และในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ด้วย และสำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวเข็ม มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังใช้ยาป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของเม็ดเลือด หรือที่มักเรียกว่า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาเจือจางเลือด ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล ด้วยการฝังเข็ม แพทย์จะได้แนะนำว่าคุณเหมาะกับวิธีนี้หรือไม่
ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ควรงดการฝังเข็มในทุกกรณี เพราะกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นผ่านเข็มที่ฝังไว้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย อาจไปรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่คุณใช้งานอยู่ได้ นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยงการฝังเข็มเช่นกัน เพราะการฝังเข็มอาจไปกระตุ้นให้คุณคลอดก่อนกำหนดได้
แม้จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าการฝังเข็มช่วยรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลได้จริง แต่การฝังเข็มก็จัดเป็นวิธีรับมือกับโรควิธีหนึ่งที่ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่น ๆ ด้วย หากคุณอยากลองฝังเข็มเพื่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลดูก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่คุณก็ต้องเข้ารับการฝังเข็มโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เชื่อถือได้เท่านั้น
[embed-health-tool-bmr]