Dysphagia คือ ภาวะกลืนลำบาก หมายถึงอาการที่ร่างกายไม่สามารถกลืนอาหารหรือน้ำได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลักจนเศษอาหารอุดในหลอดลม ปิดกั้นทางเดินหายใจ และทำให้หายใจไม่ออกจนอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
[embed-health-tool-bmr]
เรียนรู้กลไกการกลืน
การกลืนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะช่องปาก (oral phase)
- ระยะคอหอย (pharyngeal phase)
- ระยะหลอดอาหาร (esophageal phase)
เมื่อกินอาหารเข้าไป อาหารจะถูกเคี้ยวและผสมรวมกับน้ำลาย กลายเป็นก้อนอาหาร จากนั้นลิ้นก็จะดันก้อนอาหารดังกล่าวไปที่ด้านหลังของปาก และเมื่อก้อนอาหารถูกลิ้นผลักมาทางด้านหลังปากแล้ว หูรูดของหลอดอาหารส่วนบนก็จะคลายตัว และเปิดทางให้อาหารผ่านเข้าสู่หลอดอาหารจนหมด จากนั้นหูรูดหลอดอาหารส่วนบนก็จะหดตัว และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนก้อนอาหารก็จะเคลื่อนลงไปยังกระเพาะอาหาร ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการกลืน
Dysphagia คือ อะไร
Dysphagia หรือ ภาวะกลืนลำบาก เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลืนอาหารหรือของเหลวได้อย่างเป็นปกติ กล่าวคือ ร่างกายต้องใช้เวลาในการกลืน และใช้ความพยายามในการส่งอาหารจากช่องปากสู่กระเพาะอาหารนานผิดปกติ บางรายอาจรู้สึกเจ็บขณะกลืนอาหาร หรืออาจถึงขั้นกลืนอาหารไม่ได้เลย
ภาวะกลืนลำบากสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ การที่กลืนอาหารลำบากอาจเป็นเพราะกินอาหารเร็วเกินไป หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไป และไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด หากกินอาหารให้ช้าลง หรือเคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น ปัญหากลืนลำบากที่มีก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่หากมีภาวะกลืนลำบากติดต่อกันเป็นเวลานาน แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่นที่ร้ายแรง ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน
อาการของ ภาวะกลืนลำบาก
สัญญาณและอาการของภาวะกลืนลำบากที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- รู้สึกเจ็บขณะกลืน (Odynophagia)
- ไม่สามารถกลืนได้
- เคี้ยวอาหารลำบาก
- รู้สึกว่ามีอาหารติดคอ หรือจุกหน้าอก
- น้ำลายไหล
- เสียงแหบ
- สำรอกอาหาร
- แสบร้อนกลางอกเป็นประจำ
- มีอาหารหรือกรดไหลย้อนขึ้นมาในลำคอ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไอ ขย้อน หรือสำลักขณะกลืน
สาเหตุของภาวะกลืนลำบาก
ภาวะกลืนลำบากที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- โรคอะคาเลเซีย (Achalasia)
ภาวะที่หลอดอาหารผิดปกติอย่างรุนแรง เกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารไม่คลายตัว อาหารจึงไม่สามารถเคลื่อนลงสู่กระเพาะอาหารได้ และไหลย้อนกลับขึ้นมาในลำคอ
- เนื้องอกหลอดอาหาร (Esophageal tumor)
ยิ่งเนื้องอกเจริญขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกลืนอาหารและน้ำได้ลำบากขึ้น
- สิ่งแปลกปลอม
บางครั้งในอาหารที่กินเข้าไปก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ไปอุดตันในลำคอหรือหลอดอาหารได้ และหากเป็นผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ก็ยิ่งมีโอกาสที่อาหารจะเข้าไปติดในลำคอหรือหลอดอาหารมากขึ้นด้วย
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD)
กรดในกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารจะทำลายเนื้อเยื่อหลอดอาหาร และทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารหดเกร็ง หลอดอาหารเป็นแผลและแคบลง จึงกลืนอาหารได้ลำบากขึ้น
- โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลคอลลาเจนก่อตัวสะสมจนกลายเป็นพังผืด นอกจากจะส่งผลต่ออวัยวะภายนอกอย่างผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแข็งและหนาขึ้นแล้ว ก็ส่งผลต่ออวัยวะภายใน อย่างหลอดอาหารด้วย คือ จะทำให้หลอดอาหารเคลื่อนไหวได้น้อยลง หลอดอาหารอักเสบ หรือมีกรดไหลย้อน จนส่งผลให้กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน
- การรักษาด้วยรังสี หรือรังสีรักษา (Radiation therapy)
การรักษามะเร็งด้วยวิธีนี้อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ หรือเกิดแผลในหลอดอาหาร จนส่งผลให้กลืนลำบากได้
- โรคระบบประสาท (Neurological disorders)
เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Duchenne Muscular Dystrophy หรือ DMD) โรคพาร์กินสัน ก็สามารถทำให้กลืนลำบากได้
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงบางประการ เช่น การสูงอายุ ก็อาจทำให้เกิดภาวะกลืนลำบากได้ง่ายขึ้น ยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง ก็ยิ่งทำให้กลืนลำบากมากขึ้นไปอีก
กลืนลำบาก รักษาได้อย่างไร
วิธีรักษาภาวะกลืนลำบากที่นิยมใช้ ได้แก่
- การบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพการกลืน (Swallowing therapy)
โดยนักบำบัดการพูดและการสื่อสาร หรือนักแก้ไขการพูด (Speech-Language Pathologist) ที่จะช่วยให้คุณฝึกกลืน จนสามารถกลืนอาหารได้สะดวกขึ้น
- ปรับเปลี่ยนอาหารที่กินและพฤติกรรมการกินอาหาร
เช่น กินอาหารที่อ่อนนิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะเหนียวข้น กินอาหารให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น และหากไม่รู้ว่าจะเริ่มปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็สามารถขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการและนักบำบัดได้
- กินอาหารผ่านสายให้อาหาร
หากมีปัญหากลืนลำบากอย่างรุนแรง จนกินอะไรไม่ได้ และเสี่ยงขาดสารอาหาร หรือเสี่ยงมีภาวะขาดน้ำ แพทย์อาจรักษาด้วยการให้อาหารผ่านสายยาง และในกรณีนี้ แพทย์อาจต้องให้ยาผ่านทางสายยางให้อาหารด้วย
- การใช้ยา
แพทย์อาจให้ใช้ยากลุ่ม proton pump inhibitors หรือ PPIs ซึ่งเป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย และอาจช่วยบรรเทาอาการหลอดอาหารตีบแคบลง หรือแผลในหลอดอาหารได้ด้วย